นักวิชาการไทยสรุปปัจจัยสำคัญบนเส้นทาง 100 ปีที่สร้างชัยชนะแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน

2021-01-07 10:42:12 | CMG
Share with:

ค.ศ. 2021 เป็นปีครบรอบ 100 ปี แห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำพาประชาชนจีนฟันฝ่าต่อสู้อย่างต่อเนื่อง แก้ไขวิกฤตต่างๆ มามากมาย นอกจากก่อตั้งประเทศจีนใหม่หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนได้สำเร็จเมื่อปี 1949 แล้ว หากยังสามารถทำให้จีนผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้งในทุกวันนี้อีกด้วย

นักวิชาการไทยสรุปปัจจัยสำคัญบนเส้นทาง 100 ปีที่สร้างชัยชนะแก่พรรคคอมมิวนิสต์จีน_fororder_专家图片

เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ได้สรุปสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถประสบชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่บนเส้นทาง 100 ปีที่ผ่านมา แม้จะเคยผิดพลาดและมีจุดอ่อนของระบบอยู่บ้าง โดยสรุปได้ดังนี้

ประการแรก พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปฏิบัตินิยม มีการปรับประยุกต์นำระบบกลไกตลาดมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยที่ระบอบการเมืองยังคงเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เพื่อเน้นรักษาเสถียรภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ

ประการที่ 2 พรรคคอมมิวนิสต์จีนพัฒนา ‘โมเดลของจีนเอง’ ไม่ลอกตำราฝรั่งจนหน้ามืดตามัว แต่นำแนวคิดทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกมาปรับประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและต่อยอด จนสามารถพัฒนาเป็นระบอบสังคมนิยมอัตลักษณ์จีน

ประการที่ 3 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการทดลองแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นการดำเนินยุทธศาสตร์แบบไม่ผลีผลาม ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เน้นทดลองทำเป็นขั้นเป็นตอน หากทำแล้วได้ผลก็ค่อยขยายผล ถ้าไม่สำเร็จก็จะหยุดทบทวนถอดบทเรียน ก่อนจะปรับแก้ไขเพื่อเดินหน้าต่อ เช่น ในยุคเติ้งเสี่ยวผิง มีการทดลองเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 4 เขตแรก เพื่อทดลองนำกลไกตลาดมาใช้ เมื่อได้ผลแล้วค่อยขยายผลออกไปในพื้นที่อื่นๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศจีน หรือในยุคสีจิ้นผิง ก็มีการทดลองใช้เงิน Digital Yuan ใน 4 เมืองสำคัญ ก่อนที่จะขยายไปทดลองใช้ในอีก 28 กว่าเมืองในมณฑลต่างๆ ต่อไป

ประการที่ 4 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปรับ ดิสรัปต์ตัวเองให้ทันยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง เช่น  มีการปรับประยุกต์นำเทคโนโลยีมาจัดระเบียบสังคมของจีน เพื่อปรับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่เหมาะสมของคนจีนบางกลุ่มโดยการตัดคะแนน/ให้คะแนน ‘เครดิตทางสังคม’ และลงโทษโดยใช้มาตรการ Social Sanctions/Rewards ภายใต้ระบบ Social Credit System ที่ถูกพูดถึงกันมากในขณะนี้

ประการที่ 5 พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ทำตัวเป็นนกกระจอกเทศที่เอาหัวมุดดินหนีปัญหา แต่จะยอมรับว่ายังคงมีปัญหาและเน้นการวางแผนล่วงหน้าในการเตรียมรับมือกับปัญหา เช่น ยอมรับว่ายังคงมีปัญหาความยากจนในจีน และประกาศทำสงครามกับความยากจนให้หมดสิ้นไปภายในปี 2020

ประการที่ 6 พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คิดใหญ่ มองไกล มองชาติไปข้างหน้า มีความแน่วแน่และต่อเนื่อง จีนจึงมียุทธศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจน เช่น ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง Belt and Road Initiative : BRI ที่ผลักดันมาตั้งแต่ปี 2013 จนถึงวันนี้มีประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วม BRI กว่า 70 ประเทศ

ประการที่ 7 พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีว่าการดำรงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ต้องมาจากการสร้างความชอบธรรมจากผลงานที่จับต้องได้ จึงเน้น ‘รับฟัง’ ข้อกังวลของประชาชนและแก้ไขปัญหาตามความต้องการของประชาชน เช่น ตระหนักดีว่าปัญหาคอร์รัปชันจะทำให้ประชาชนไม่พอใจและอาจจะเป็นปมเงื่อนไขให้มีคนจีนออกมาประท้วงรัฐบาล ผู้นำจีนในยุคสีจิ้นผิงจึงเน้นปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง และเน้นรับใช้ประชาชน

ประการที่ 8 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นปลูกฝังให้คนจีนภูมิใจในชาติและรักชาติยิ่งชีพ เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิดความรักและสามัคคีของคนในชาติ ทั้งนี้คนจีนมีทัศนะที่เชื่อในความยิ่งใหญ่ของจีนว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ดังนั้นในยุคสีจิ้นผิงเน้นปลูกฝังการ ‘ฟื้นฟูชาติ’ เพื่อให้จีนกลับมาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้อีกครั้งหนึ่ง

ประการที่ 9 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจุดประกายให้คนในชาติมี ‘ความฝัน’ ร่วมกัน การมี ‘ความฝันของจีน’ ในสองวาระสำคัญคือ 1. วาระครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2021 ประเทศจีนต้องบรรลุเป้าหมาย ‘สังคมเสี่ยวคัง’ พออยู่พอกินถ้วนหน้า และ 2. วาระครบรอบ 100 ของการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 ต้องบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย มีอารยธรรม ปรองดองและความสวยงาม และเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลก เพื่อฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของชนชาติจีนให้กลับมายิ่งใหญ่ในระดับโลกอีกครั้ง

ประการที่ 10 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเน้นการแข่งขันภาคเอกชนและเปิดรับแรงกดดันจากภายนอกให้เอกชนจีนต้องตื่นตัวและปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเพื่อเอาชนะ เช่น การเข้าเป็นสมาชิก WTO และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้บริษัทจีนต้องปรับตัวสู้กับต่างชาติ หรือการเปิดให้บริษัท Tesla เข้ามาลงทุนในจีนเพื่อให้บริษัทรถยนต์ EV ในจีนต้องตื่นตัว พัฒนาตัวเองปรับตัวให้รอดจากการแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง/มีเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง Tesla รวมทั้งการปล่อยให้เอกชนจีนแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้น เช่น การแข่งขันระหว่างเครือ Alibaba กับเครือ Tencent 

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์นระบุด้วยว่า แม้ว่า ระบอบการปกครองเช่นนี้อาจจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในโลก แต่ระบอบคอมมิวนิสต์ในแบบจีนนับว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับ ‘บริบทจีน’ ที่มีประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายสูง มีเนื้อที่กว้างใหญ่และมีความแตกต่างหลากหลายของทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังคงมีช่องว่างทางรายได้และความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมาก ดังนั้น ความเฉียบขาดเด็ดเดี่ยวในการเน้น ‘รักษาเสถียรภาพ’ อย่างต่อเนื่อง และการปลูกฝังความรักชาติ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจสร้างความสามัคคีของคนในชาติจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถดึงศักยภาพของคนในชาติและสร้างพลังทางเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เติบใหญ่อย่างก้าวกระโดดมาได้จนถึงทุกวันนี้

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดยภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางจีน (CMG)

  • เสียงข่าวประจำวัน (18-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (18-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (18-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (17-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (17-04-2567)

陆永江