น้ำใสเขาเขียวก็เป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน

2021-02-03 16:14:08 | CRI
Share with:

น้ำใสเขาเขียวก็เป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน_fororder_20210201两山理论1

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2005 ระหว่างลงพื้นที่หมู่บ้านอี๋ว์ชุน  อำเภออันจี๋ มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน นายสี จิ้นผิง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมณฑลเจ้อเจียง ได้กล่าวว่า  ข้าพเจ้าเคยพูดว่า นอกจากเราอยากได้น้ำใสเขาเขียวแล้ว ยังอยากได้ภูเขาเงินภูเขาทองด้วย แท้ที่จริงแล้ว น้ำใสเขาเขียวก็เป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงินแล้ว 

การเสนอแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รูปแบบการพัฒนาประเทศของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ ผู้นำจีนตระหนักดีว่า หากสภาพแวดล้อมไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ความฝันของจีนและการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติก็ยากที่จะปรากฏเป็นจริงได้ คำถามที่ตามมา คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถกระตุ้นให้แต่ละบุคคลและองค์กรช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

หมู่บ้านอี๋ว์ชุน อำเภออันจี๋ ตั้งอยู่ในเขตภูเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลเจ้อเจียง หลายปีก่อน ที่นี่เปลี่ยนจากพื้นที่เหมืองแร่ที่มีปัญหามลภาวะหนักมาก มาเป็นศูนย์การพัฒนาสีเขียวที่เน้นเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร? ระหว่างปี ค.ศ. 2003 - 2005 ทางการอำเภออันจี๋สั่งปิดบริษัทเหมืองแร่ 3 แห่ง และโรงงานผลิตปูนซีเมนต์อีก 1 แห่งในหมู่บ้านอี๋ว์ชุน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ของหมู่บ้านแห่งนี้ลดลงจากปีละ 3 ล้านหยวน(ราว 12 ล้านบาท)  เหลือเพียง 2 แสนหยวน(ราว 8 แสนบาท) คิดเป็นการลดลงกว่า 90%  ชาวบ้านในท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องหันไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญหายไป หลังผ่านไปหลายปี สภาพแวดล้อมสีเขียวที่สวยงามสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่น โดยชาวบ้านใช้ประโยชน์จากทรัพยากรไม้ไผ่ที่อุดมสมบูรณ์เร่งพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว 

ทุกวันนี้ หมู่บ้านอี๋ว์ชุนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดผู้มาเยือนจำนวนมากจากเมืองรอบข้าง เช่น นครเซี่ยงไฮ้ เมืองหางโจว และหนานจิง

ปัจจุบัน หมู่บ้านอี๋ว์ชุนมีประชากร 280 ครัวเรือน รายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ปีละ 50,000  หยวน หรือ ราว 200,000 บาท

 น้ำใสเขาเขียวก็เป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน_fororder_20210201两山理论2

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยถือการพัฒนาสีเขียวเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศ  แนวคิดเกี่ยวกับอารยธรรมทางระบบนิเวศของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีเนื้อหาหลัก 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นทรัพย์สินล้ำค่า

ประการที่สอง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและรูปแบบการพัฒนาประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง

และประการสุดท้าย การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ลงพื้นที่ตรวจงานหมู่บ้านอี๋ว์ชุน อำเภออันจี๋อีกครั้ง ระหว่างนั้น ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ย้ำว่า การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชาวบ้าน

สภาพแวดล้อมก็เป็นต้นกำเนิดเศรษฐกิจ หากพี่น้องประชาชนช่วยกันอนุรักษ์สภาพแวดล้อม  สภาพแวดล้อมก็จะให้ผลตอบแทนการใช้ความพยายามของพี่น้องประชาชน

น้ำใสเขาเขียวก็เป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน_fororder_20210201两山理论3

ต่อไป เราจะพาคุณผู้ฟังย้อนกลับไปทบทวนความสำเร็จของจีน ในการเปลี่ยนทะเลทรายไซ่ฮั่นป้า (Saihanba) ให้กลายเป็นป่าปลูก อันได้ชื่อว่าเป็น “ปอด” และ “เกราะป้องกัน” กรุงปักกิ่งและพื้นที่ใกล้เคียง

Saihanba เป็นหนึ่งในผืนป่าปลูกกว้างใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยปลูกขึ้นบนโลก มีพื้นที่รวม 93,000 เฮกตาร์ ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางทิศเหนือราว  180 กิโลเมตร ป่าแห่งนี้เปรียบเสมือนโล่ธรรมชาติที่มีบทบาทเป็นเกราะกำบังไม่ให้ทรายถูกลมพัดเข้ามายังกรุงปักกิ่ง จึงถือเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการปกป้องสุขภาพของประชากรกว่า 20 ล้านคนในกรุงปักกิ่งและปริมณฑล

เมื่อ 70 ปีก่อน Saihanba เป็นผืนทรายที่รกร้างว่างเปล่า ทำให้กรุงปักกิ่งถูกลมที่พัดทรายและฝุ่นจากพื้นที่บริเวณนี้เข้ามาปกคลุมนานหลายสิบปี   

นายอีว์ สือเทา เจ้าหน้าที่ปลูกป่าโครงการ Saihanba กล่าวว่า ในทศวรรษ 1950 ปักกิ่งได้รับผลกระทบจากพายุทรายอย่างมาก กระทรวงป่าไม้จีนจึงตัดสินใจตั้งโครงการปลูกป่าขึ้นที่ Saihanba เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

ต่อมาปี 1962 เจ้าหน้าที่และคนงานหลายร้อยคนเริ่มปลูกต้นไม้ในพื้นที่ Saihanba แต่การปลูกต้นไม้ที่นี่เป็นเรื่องยากมากเพราะฤดูหนาวยาวนานถึง 7 เดือน 

นายจ้าว เจินอี๋ว์ เจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่า Saihanba กล่าวว่า  ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงฤดูหนาว ที่นี่มีลมพัดแรงตลอด อุณหภูมิต่ำสุดในช่วงหน้าหนาวอยู่ที่ลบ 43.5 องศาเซลเซียส ต้นไม้ที่นี่ต้องทนแล้ง ทนหนาว รวมถึงทนศัตรูพืชได้ ในช่วงสองปีแรก มีต้นกล้าเพียง 8% เท่านั้นที่เหลือรอดเติบใหญ่ได้ 

นายเหริน จงหยวน เจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่า Saihanba กล่าวว่า  ปี 1964 เจ้าหน้าที่และคนงานในโครงการใช้ความพยายามมากขึ้น มุ่งมั่นปลูกป่าให้ประสบความสำเร็จ นอกจากพวกเขาปลูกกล้าไม้ด้วยอุปกรณ์แล้ว ยังประคับประคองให้ต้นกล้าแต่ละต้นตั้งตรง จากการใช้ความพยายามอย่างทรหดประกอบกับการใช้เทคนิคใหม่ ต้นกล้า 96% จึงสามารถเติบโตได้ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศเลวร้ายในเวลาต่อมาทำให้โครงการปลูกป่าไม้นี้เผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง

นายเฉิน จือชิง หัวหน้าโครงการปลูกป่า Saihanba กล่าวว่า ปี 1977 พายุลูกเห็บกระหน่ำป่าปลูกแห่งนี้ ทำให้พื้นที่กว่า 13,333 เฮกตาร์ถูกทำลาย  แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้หรือท้อแท้ กลับเก็บซากต้นไม้ออกจากพื้นที่ แล้วทำการปลูกซ้ำอีกครั้ง หลังใช้ความพยายามมาเป็นเวลาอีก 15 ปี ในที่สุด Saihanba ก็เริ่มกลายเป็นผืนป่าที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลิตออกซิเจน 0.5 ล้านตันต่อปี  

ปี 2017 เจ้าหน้าที่และคนงานโครงการปลูกป่า Saihanba ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกจากสหประชาชาติ   ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ป่าที่  Saihanba เป็นผลที่เกิดจากการใช้ความพยายามอย่างไม่ลดละ และการอุทิศตนของคนงานปลูกป่า อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีต่อการผลักดันความก้าวหน้าของอารยธรรมด้านระบบนิเวศ  

ความสำเร็จของป่าปลูก Saihanba ทำให้ประชาชนพื้นที่ต่าง ๆ  ทั่วประเทศมีกำลังใจมากขึ้นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ท้องฟ้าเป็นสีคราม น้ำใสสะอาด และภูเขาเป็นสีเขียว ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความกลมกลืนมากขึ้นระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

(yim/cai)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (25-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (24-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (24-04-2567)

何喜玲