การประชุม “สองสภา” จีน (การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนและการประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน) ประจำปี ค.ศ. 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-11 มีนาคม โดยการประชุมสองสภาปีนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและมาตรการสำคัญต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตของจีน และเป็นที่จับตามองของทั่วโลกด้วย
โอกาสนี้ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG) ในประเด็น “มองทิศทางการพัฒนาของจีนจากการประชุมสองสภา และนัยต่อประเทศไทย” ดังต่อไปนี้
การประชุม “สองสภา” จีนประจำปี 2021 มีความสำคัญมาก จีนกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) จีนได้กำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจนและขับเคลื่อนทั้งในระดับส่วนกลาง ระดับมณฑลและระดับล่างอย่างจริงจัง
เมื่อเปรียบเทียบกับแผนพัฒนาฯ ในอดีต “แผน 5 ปีฉบับที่ 14” ล่าสุดนี้ มีความแตกต่างและความโดดเด่นเป็นเสมือน “โมเดลใหม่” ของจีนในหลายด้าน โดยเฉพาะการกำหนดโมเดลการพัฒนาแบบ “เศรษฐกิจวงจรคู่” เน้นสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนใหญ่ภายในประเทศเป็นแกนหลัก และใช้พลังจากการหมุนเวียนภายในประเทศในการดึงดูดและทำงานควบคู่ไปกับการหมุนเวียนภายนอก
จีนได้ถอดบทเรียนความยากลำบากจากวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นโรคอุบัติใหม่แบบฉับพลัน และเหตุการณ์ความขัดแย้งจากสงครามการค้าและเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เป็นแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้จีนต้องหันมาทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่จะต้องเน้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อยืนบนขาตัวเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ
โดยเฉพาะการพึ่งพาตัวเองด้านเทคโนโลยีและด้านการผลิต เน้นสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่มีจีนเป็นแกนหลัก รวมทั้งด้านการบริโภค จีนเน้นสร้างพลังซื้อจากผู้บริโภคภายในประเทศจีน
ทั้งหมดนี้ จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศจีนมีความแข็งแกร่ง ผ่านการเพิ่มรายได้แก่ผู้บริโภคจีนในชนบทเพื่อเป็นพลังบริโภคระลอกใหม่ เพิ่มอุปสงค์เศรษฐกิจหมุนเวียนและขยายตลาดภายในประเทศ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า จีนจะปิดประเทศ ในทางตรงกันข้าม จีนยังคงจะยกระดับการเปิดประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอกให้หันมาค้าขายกับจีน โดยใช้พลังของผู้บริโภคจีนและตลาดภายในขนาดใหญ่ของจีนเป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติหันมาค้าขายกับจีนมากขึ้น
ดร.อักษรศรีเชื่อว่า พลังหมุนเวียนภายในจากการยกระดับการบริโภคที่มหาศาลของจีน จะช่วยสร้างพลังดึงดูดและขยายการนำเข้าสินค้าคุณภาพจากต่างประเทศ ในอนาคตประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะพึ่งพาพลังซื้อของจีนมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างล่าสุด เมื่อปี 2020 จีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ กลายเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับหนึ่งของสหภาพยุโรป ทั้งอาเซียนและประเทศไทยก็พึ่งพาจีนค่อนข้างมากในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว
จีนมีแผนจะเพิ่มรายได้ของคนจีนในชนบทให้เป็นชนชั้นกลางใหม่กว่า 600 ล้านคนภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับใหม่นี้จะสร้างพลังบริโภคมหาศาลที่ทั่วโลกจับตามอง จีนจะเร่งการสร้างความเป็นเมืองในชนบทให้เร็วขึ้น เร่งกระจายความเจริญเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นในชนบท นับเป็นภารกิจท้าทายหนักหน่วงไม่แพ้ภารกิจประกาศทำสงครามขจัดความยากจนของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ผ่านมา แต่ด้วยศักยภาพของจีนและระบบบริหารจัดการทางการเมืองในแบบอัตลักษณ์จีน เชื่อว่า ทางการจีนจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ตามที่คาดหวังไว้
ในอดีต จีนเป็นมหาอำนาจของโลกด้านการส่งออกสินค้า จีนเป็นผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าไปทั่วโลก แต่ภายใต้โมเดลใหม่นี้ จีนกำลังจะพลิกโฉมกลายมาเป็นมหาอำนาจด้านการเป็นผู้ซื้อหลักของโลกจะเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าที่สำคัญในอนาคต ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบก็คล้ายคลึงกับภาพของสหรัฐในอดีตในฐานะเป็นตลาดหลักที่ทั่วโลกต่างต้องการค้าขายด้วย แต่กำลังจะปรับเปลี่ยนกลายเป็นภาพของจีนในอนาคตที่จะมาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะตลาดหลักของโลก ด้วยพลังผู้บริโภคจีนที่มีกำลังซื้อมากขึ้น
นอกจากนี้ ภายใต้โมเดลใหม่นี้ จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จีนไม่เน้นเติบโตแต่เน้นมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร ทางการสาธารณสุขและด้านพลังงาน การพัฒนาของจีนนับวันจะเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ
จากการคาดการณ์ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ขนาดเศรษฐกิจจีดีพีของจีนอาจจะแซงหน้าสหรัฐฯ มาเป็นอันดับหนึ่งของโลกได้ภายในปี 2024
ด้านนวัตกรรมทางการเงิน จีนก็มีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่น จีนเป็นชาติแรกของโลกที่สร้างเงินดิจิทัลมาให้ประชาชนเพื่อจับจ่ายใช้สอยที่เรียกว่า “เงินหยวนดิจิทัล” เริ่มทดลองใช้ตั้งแต่กลางปี 2020 และมีความคืบหน้ามาโดยตลอด จึงเชื่อว่า ในอนาคต จีนจะส่งออกเงินหยวนดิจิทัลไปทั่วโลก เพื่อให้มีการใช้เงินหยวนดิจิทัลมากขึ้นในระดับสากลทั่วไป
พัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนย่อมจะสร้างความกดดันกับประเทศคู่แข่งหรือผู้ผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งภาคเอกชนไทย ทั้งนี้ ไม่ควรกังวลจนเกินไป แต่ควรใช้เป็นแรงผลักให้เราต้องตื่นตัว และปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อแสวงหาโอกาสจากโมเดลใหม่ของจีน โดยเฉพาะศักยภาพของผู้บริโภคจีนที่สนใจอาหารคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ความงาม หรือผลิตภัณฑ์เด็กที่จะเป็นโอกาสของไทย รวมทั้งด้านพลังงานสะอาด เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับไทยที่มีวาระแห่งชาติในเรื่อง BCG model มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว/เศรษฐกิจชีวภาพ/เศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น ด้านพลังงานชีวภาพ เป็นอีกสาขาที่ไทยมีศักยภาพในการเชื่อมโยงกับจีน และน่าจะมีประเด็นความร่วมมือที่ไทย-จีนจะเติบโตไปด้วยกัน
ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่จีนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว แม้ในด้านหนึ่งจะเป็นปัญหาต่อภาคการผลิต แต่ในอีกด้านพลังการบริโภค กลุ่มผู้สูงวัยในจีนจำนวนมากนี้มีศักยภาพด้านกำลังซื้อจากการเก็บออมเงินมานานและเริ่มจะจับจ่ายใช้สอยเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองในวัยเกษียณ จึงเป็นอีกโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจไทยที่จะเน้นผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชาวจีนในกลุ่มสูงวัยที่มีกำลังซื้อที่เรียกว่า Silver Economy ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุ การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ และการบริการด้านสุขภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
ในอนาคต 2-3 ปี หากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปหรือยุติได้แล้ว หากสถานการณ์ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติแล้ว คาดว่า คนจีนที่จะมีกำลังซื้อมากขึ้นย่อมสนใจจะเริ่มเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวชาวจีน หากประเทศไทยสามารถพัฒนาเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพไว้รอรับกลุ่มชาวจีนที่จะมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งน่าจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นกลุ่มคนจีนรายได้ต่ำ มาเป็นกลุ่มคนจีนที่มีรายได้สูงหรือกลุ่มผู้สูงวัย รวมทั้งกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาจีนที่สนใจมาเรียนต่อในประเทศไทย เป็นต้น
โดยสรุป ทิศทางจีนในการสร้างพลังผู้บริโภคระลอกใหม่ภายใต้โมเดลใหม่นี้ ไทยควรมองเป็นโอกาส และภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัว และเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังในการแปลงจีนให้เป็นโอกาสต่อไป
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน (CMG)