แนวคิดปธน.สี จิ้นผิงว่าด้วยการแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุด: อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาความยากจนจีนเล่าเรื่องการขจัดความยากจน (ตอนที่ 3)

2021-03-26 08:42:29 | CMG
Share with:

นายหลิว หย่งฟู่ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือผู้ยากจนแห่งประเทศจีน เกิดใน ค.ศ. 1957 เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รองผู้ว่าการมณฑลกันซู่ และผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือผู้ยากจนสังกัดคณะรัฐมนตรีจีน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายหลิว หย่งฟู่ ในฐานะผู้เข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจขจัดความยากจนของจีนได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเด็น “แนวความคิดประธานาธิบดี สี จิ้นผิงว่าด้วยการแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุด”

แนวคิดปธน.สี จิ้นผิงว่าด้วยการแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุด: อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาความยากจนจีนเล่าเรื่องการขจัดความยากจน (ตอนที่ 3)_fororder_刘永富

เขากล่าวว่า การขจัดความยากจนเป็นสงครามไร้ควันครั้งหนึ่ง เป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสงครามหรือภารกิจล้วนต้องปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์ การบุกโจมตีฐานที่มั่นของศัตรูต้องอาศัยความรู้ทางทหาร มีความกระตือรือร้นเพียงอย่างเดียวไม่พอ การแก้ไขความยากจนต้องปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์เช่นกัน ก่อนอื่น ต้องปฏิบัติตามแนวความคิดประธานาธิบดี สี จิ้นผิงว่าด้วยการแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุด ต้องรู้ว่ามีประชากรที่มีความยากจนจำนวนเท่าไร แล้วจึงสามารถแก้ไขความยากจนได้อย่างแท้จริง

ขั้นตอนแรก คือ ต้องขึ้นทะเบียน ช่วงเทศกาลตรุษจีน ค.ศ. 2014 ได้มีการออกแบบการขึ้นทะเบียนประชากรที่มีรายได้ต่ำตามเกณฑ์มาตรฐานได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ประชากรที่มีปัญหาปากท้อง เครื่องนุ่งห่ม ประชากรที่ไม่มีหลักประกันด้านการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยด้านที่พักอาศัยจะถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ครอบครัวที่มีปัญหาความยากจน กระบวนการขึ้นทะเบียนครอบครัวยากจนนั้นมีหลายขั้นตอน เช่น ประชาชนเองต้องยื่นคำร้องก่อน จากนั้นคณะกรรมการหมู่บ้านจะพิจารณาตรวจสอบ ประกาศรายชื่อ รวมทั้งยื่นบัญชีรายชื่อให้ทางการตำบลตรวจสอบ ก่อนจะติดประกาศบัญชีรายชื่ออีกครั้ง จากนั้นต้องให้ทางการอำเภอตรวจสอบและติดประกาศ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและกระบวนการเดียวกันซึ่งมีความชัดเจนอย่างมาก

เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ บัญชีรายชื่อครอบครัวยากจนที่เสนอมา   มีบางส่วนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะนี้ ย้อนกลับไปมองอีกครั้ง การขึ้นทะเบียนครั้งแรก มีจำนวนครอบครัวยากจน 30% ที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง อย่างไรก็ตามระบบข้อมูลข่าวสารในการแก้ไขความยากจนของรัฐได้สร้างขึ้นมาแล้ว

ปีแรกที่ทำการขึ้นทะเบียนมีเจ้าหน้าที่กว่า 8 แสนคนทำงานด้านนี้ ระหว่างค.ศ. 2015 - 2016 มีการระดมเจ้าหน้าที่กว่า 2 ล้านคนเพื่อปรับปรุงระบบขึ้นทะเบียนดังกล่าว โดยได้ลบรายชื่อกว่า 13 ล้านคนที่ไม่มีปัญหาความยากจนออกจากระบบและเพิ่มรายชื่อประชาชนยากจนกว่า 16 ล้านคนเข้ามาในระบบ เราทำงานหนักมากเพื่อให้รู้ว่าใครมีความยากจนอย่างแท้จริง  

หลังค.ศ. 2017 เราได้ปรับปรุงบัญชีรายชื่อในระบบเป็นประจำทุกปี ผู้ที่พ้นจากภาวะยากจนแล้วจะถูกลบชื่อออกจากระบบ ผู้ที่ถูกพบว่าไม่มีปัญหาความยากจนจริงก็จะถูกลบชื่อออกจากระบบเช่นกัน   ส่วนรายชื่อผู้ยากจนที่ไม่ได้อยู่ในระบบก็จะถูกเพิ่มเติมเข้ามา การขึ้นทะเบียนนั้นเป็นปฏิบัติการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการแก้ไขความยากจน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงบัญชีอย่างต่อเนื่องไม่ใช่ทำครั้งเดียวเสร็จแต่ต้องปรับปรุงรายชื่อตามสภาพที่เปลี่ยนไปอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง  

กลไกถอนรายชื่อออกจากระบบช่วยเหลือก็มีความสมบูรณ์เช่นกัน การเข้ามาอยู่ในระบบช่วยเหลือคนจนนั้นต้องให้ชาวบ้านยื่นคำร้องด้วยตนเอง แต่การถอนชื่อออกจากระบบต้องให้คณะกรรมการหมู่บ้านเสนอ จากนั้นจึงประกาศรายชื่อ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านพิจารณาเองว่า ตนเองพ้นจากภาวะยากจนหรือไม่ ทางการต้องพิจารณาว่าชาวบ้านคนนั้นยังมีปัญหาปากท้องและเครื่องนุ่งห่มหรือไม่ มีหลักประกันด้านการศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัยหรือไม่ ทั้งยังต้องให้ชาวบ้านยืนยันด้วยตนเอง รวมทั้งให้คนในหมู่บ้าน รัฐบาล และสังคมเห็นด้วย แล้วจึงจะสามารถถอนชื่อออกจากระบบช่วยเหลือคนจนได้ เรียกได้ว่าเป็นการถอนชื่อออกอย่างถูกต้อง หลังถอนชื่อออกจากระบบ ยังต้องติดตามต่อไปเพื่อป้องกันไม่ให้กลับสู่ภาวะยากจนอีกครั้ง

ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างการบริหารจนถึงการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมล้วนเน้นแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุด มุ่งเน้นนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง จึงมีการตรวจสอบผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี โดยมีการสุ่มตัวอย่างจากระบบขึ้นทะเบียนประชากรยากจน คณะตรวจสอบระดับมณฑลจะสุ่มตัวอย่างในระบบของอำเภอ คณะตรวจสอบระดับอำเภอจะสุ่มตัวอย่างในระบบของหมู่บ้าน และคณะตรวจสอบระดับหมู่บ้านจะสุ่มตัวอย่างครอบครัวในหมู่บ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบจะนำข้อมูลในระบบขึ้นทะเบียนมาเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริง เพื่อตรวจสอบว่าได้แก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดจริงหรือไม่ แม้ระบบขึ้นทะเบียนดังกล่าวอาจไม่ถูกต้อง 100% แต่ก็ยืนยันได้ว่าระบบนี้นับวันยิ่งใกล้กับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น

การแก้ไขความยากจนเกี่ยวพันถึงงานด้านต่าง ๆ ไม่เฉพาะการขึ้นทะเบียนประชากรที่มีความยากจนเท่านั้น เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือผู้ยากไร้ไปประจำทุกหมู่บ้านที่มีความยากจน  เพื่อแก้ไขปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่เพียงพอและแก้ไขปัญหาจะให้ใครมาช่วยชาวบ้านพ้นความยากจน

เจ้าหน้าที่ที่ไปประจำยังหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่มีผลงานค่อนข้างดี พวกเขาสมัครใจเดินทางไปปฏิบัติภารกิจนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเจ้าหน้าที่บางคนไม่มีความรู้ด้านการเกษตร ชนบท และเกษตรกร หลังลงพื้นที่แล้วจึงใช้วิธีการตามประสบการณ์จากเขตเมืองในการแก้ไขปัญหา บางคนใจร้อนได้แต่ออกคำสั่งอย่างเดียว ชาวบ้านจึงไม่ค่อยเชื่อฟัง จริง ๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ต้องช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและทำให้เห็นผลจริง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ชาวบ้านจึงจะให้ความร่วมมือ ด้วยเหตุนี้การส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำยังหมู่บ้านบางครั้งเป็นเรื่องยากมาก ไม่ใช่ส่งไปแล้วจะได้ผล เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านต้องมีความอดทน เข้าใจชาวบ้าน ต้องระดมกำลังของชาวบ้าน ค่อย ๆปรับเปลี่ยนทัศนคติและความคิดของชาวบ้าน เช่น การอพยพชาวบ้านที่ยากจนออกจากพื้นที่ทุรกันดารไปยังพื้นที่ที่เหมาะแก่การใช้ชีวิต ชาวบ้านไม่เพียงแต่ต้องออกจากพื้นที่ที่บรรพบุรุษใช้ชีวิตมาก่อน หากยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่แพงกว่าเดิม เผชิญกับสิ่งแปลกใหม่หลายอย่างที่คิดไม่ถึงด้วย เช่น แต่ก่อนเคยใช้ฟืนก่อไฟหุงหาอาหาร แต่หลังอพยพออกจากพื้นที่เดิมกลับไม่มีไม้ให้ทำฟืน  ต้องใช้เตาไฟฟ้าแทน ตอนแรกใช้ไม่ค่อยเป็น เพราะไม่คุ้นชิน แต่ต่อมาสักพักชาวบ้านส่วนใหญ่รู้สึกเตาไฟฟ้าสะดวกมาก กดปุ่มอย่างเดียวก็ประกอบอาหารได้ สะอาด และไม่มีควัน การเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ต้องใช้เวลา

เนื่องจากภาระหน้าที่ในการแก้ไขความยากจนมีความยากลำบากและสลับซับซ้อนมาก จึงต้องให้ความสำคัญพิเศษกับการกำกับดูแลและอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้าน เราต้องการให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี แต่วิธีการที่เป็นธูปธรรมต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่มีวิธีที่เลียนแบบได้ เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านต้องศึกษาเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน และจากแบบอย่างที่ดี

กลไกถอนรายชื่อเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้น แม้เจ้าหน้าที่บางคนมีเจตนาที่ดีแต่หากไม่เหมาะสมและไม่มีผลงานก็ต้องให้กลับออกจากพื้นที่ จะได้ไม่สร้างความเสียหายต่อภารกิจขจัดความยากจน

ปี 2020 เป็นปีที่จีนตั้งเป้าหมายบรรลุภารกิจขจัดความยากจน ในปีนั้นเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านต้องปฏิบัติภาระหน้าที่ทั้งป้องกันควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการแก้ไขความยากจน ช่วงเทศกาลตรุษจีน   เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านจำนวนราว 1 ล้านคน ร้อยละ 95% เดินทางกลับไปยังหมู่บ้านที่ตนปฏิบัติหน้าที่เพื่อสานต่อภารกิจบรรเทาความยากจนและป้องกันควบคุมการระบาดของโควิด-19 ข้อเท็จจริงพิสูจน์ให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ผ่านการทดสอบอันหนักหน่วงอีกครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้การแก้ไขความยากจนประสบความสำเร็จได้เท่านั้น หากยังสามารถต้านการระบาดของโควิด-19 อย่างได้ผลด้วย 

ดั่งเช่นที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยกล่าวไว้ว่า “จากการคัดเลือก และส่งเลขาธิการพรรคฯ และเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านลงพื้นที่ช่วยแก้ไขความยากจน ได้ฝึกฝนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการและอบรมบุคลากรในชนบท” จนถึงปลาย ค.ศ. 2020 มีทีมงานเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ 253,000 ทีม ราว 3 ล้านคน ขณะนี้ หากเรามองย้อนกลับไปจะเห็นว่า ทีมงานและบุคคลดีเด่นได้แสดงบทบาทสำคัญในการบรรเทาความยากจน เปลี่ยนโฉมหน้าของท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เองก็มีความแข็งแกร่งขึ้นทั้งด้านความรู้และความสามารถ การแก้ไขความยากจนอย่างตรงจุดแท้ที่จริงแล้วก็คือกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด ถูกต้อง และยกระดับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขา เจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้านจำนวน 3 ล้านคนดังกล่าวเดินทางไปประจำในหมู่บ้านด้วยความสมัครใจ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม พวกเขาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติหลังผ่านการฝึกฝนและมีความสามารถที่เข้มแข็งขึ้น

(tim/cai/ lu)

  • เสียงข่าวประจำวัน (15-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (15-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (15-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

陆永江