หลายคนถามว่า ขณะนี้ จีนใช้ปฏิบัติการเชิงรุกมากไปหน่อยหรือเปล่า? ในอนาคต จีนที่พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นอย่างไร? ประชาคมโลกจะต้องเข้าใจจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างไร?
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุและโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CMG : China Media Group) ได้นำคำถามเหล่านี้ไปสัมภาษณ์นายเจิ้ง ปี้เจียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนวัตกรรมและยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งประเทศจีน นายเจิ้ง ปี้เจียนได้แสดงความคิดเห็นว่า กระบวนการพัฒนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นแกนนำของประชาชน และเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน นี่เป็นผลที่เกิดจากวิวัฒนาการของจีนในยุคปัจจุบัน ขณะนี้ จีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคแห่งประชาชน คนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงทศวรรษ 1980 ทศวรรษ 1990 และทศวรรษ 2000 กำลังกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีนอันยิ่งใหญ่ในยุคใหม่นี้
นายเจิ้ง ปี้เจียน กล่าวว่า จีนที่พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีที่ผ่านมามีลักษณะพิเศษหลายประการดังนี้ ก่อนอื่น จีนไม่เคยดำเนินนโยบายที่เป็นลัทธิอาณานิคมเช่นเดียวกับประเทศตะวันตก ประการที่สอง จีนไม่เคยดำเนินนโยบายครองความเป็นใหญ่ในโลกเช่นเดียวกับสหรัฐฯ ประการที่สาม จีนไม่เคยทำสิ่งที่เรียกว่า “ครอบครัวใหญ่แห่งลัทธิสังคมนิยม” เช่นเดียวกับอดีตสหภาพโซเวียด ประการที่สี่ จีนไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรทางทหารใด เช่น องค์การนาโต และองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ และประการสุดท้าย จีนไม่เคยทำสงครามเพื่อขยายอิทธิพลของตนเช่นเดียวกับที่บางประเทศทำในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และครั้งที่สอง
ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 100 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จีนได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคของประชาชน ประชาชนทุกชนเผ่าทั่วประเทศจะต้องแบกรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ในการฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองของประชาชาติจีน และคนรุ่นใหม่กำลังกลายเป็นพลังสำคัญในการบรรลุภารกิจที่ยิ่งใหญ่ดังกล่าว
นายเจิ้ง ปี้เจียน กล่าวด้วยว่า หากต้องการเข้าใจจีน ต้องเข้าใจพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน กระบวนการพัฒนาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นแกนนำของประชาชนจีน และพลังขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน นี่เป็นผลที่เกิดจากวิวัฒนาการของจีนในช่วง 109 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนับตั้งแต่สงครามฝิ่นเกิดขึ้นเมื่อค.ศ.1840 มาจนถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ.1949
หลายๆคนจากประเทศตะวันตกถามอยู่เสมอว่า ทำไมจีนไม่ดำเนินการตามระบบหลายพรรคการเมือง หรืออย่างน้อยสองพรรคการเมือง
นายเจิ้ง ปี้เจียนแสดงความคิดเห็นว่า บุคคลที่ตั้งคำถามเหล่านี้คงไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ของจีน แท้ที่จริง หลังเกิดสงครามฝิ่นเมื่อ ค.ศ.1840 ชาวจีนที่มีความคิดก้าวหน้าในสมัยนั้น เคยพยายามศึกษาเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศตะวันตก เพื่อหาแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง รวมทั้งได้นำระบบหลายพรรคการเมือง และระบบการเลือกตั้งแบบประเทศตะวันตกมาใช้ในจีน พวกเขานึกว่า การใช้ระบบการเมืองของประเทศตะวันตกต้องเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง เมื่อค.ศ.1913 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสาธารณรัฐจีน จีนมีพรรคการเมืองกว่า 300 พรรค พรรคการเมืองเหล่านี้ได้เลือกนายหยวน ซื่อไข่ ผู้ที่มีท่าทีต่อต้านการปฏิวัติขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ต่อมา นายหยวน ซื่อไข่ ประกาศรื้อฟื้นระบบกษัตริย์ และตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิ แต่เขานั่งอยู่ในบัลลังก์จักรพรรดิเพียง 83 วันเท่านั้น ก็ต้องประกาศสละบัลลังก์ เพราะถูกประชาชนทั่วประเทศคัดค้าน ผลสุดท้ายก็คือ ระบบหลายพรรคการเมืองในจีนต้องประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า จีนเคยใช้ระบบหลายพรรคการเมืองแล้วเมื่อ 100 ปีก่อน ช่วงเวลานั้น บุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าในจีน รวมทั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนรุ่นแรกบางส่วนเคยมุ่งมั่นใฝ่ฝันที่จะนำระบบประชาธิปไตยของประเทศตะวันตกมาใช้ในจีน แต่ต่อมา พวกเขาได้รับบทเรียนต่างๆอย่างมากจากภาคปฏิบัติ นอกจากนี้ ช่วงเวลานั้น กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่เป็นจักรวรรดินิยม เช่น ญี่ปุ่นยังพยายามที่จะเข้ามารุกรานและยึดครองจีน ทำให้บุคคลที่มีความคิดก้าวหน้าส่วนใหญ่ในจีนเริ่มตื่นตัวและตระหนักว่า การใช้ระบบการเมืองตะวันตกในจีนไม่เพียงแต่ไม่สามารถกู้จีนได้ หากยังจะทำให้จีนอ่อนแอลงมากขึ้นด้วยซ้ำ นายเหมา เจ๋อตง อดีตผู้นำจีนที่ล่วงลับไปแล้วเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการใช้อำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตยของประชาชนจีนว่า การรุกรานจีนของประเทศที่เป็นจักรวรรดินิยมได้ทำลายความฝันของชาวจีนที่จะเรียนรู้จากประเทศตะวันตก
นายเจิ้ง ปี้เจียนกล่าวว่า รู้สึกแปลกประหลาดมากที่ประเทศตะวันตกซึ่งเป็นครูจะมารังแก กดขี่ และรุกรานจีน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ในยุคสมัยนั้น จริง ๆ แล้ว ชาวจีนเคยพยายามเรียนรู้และปฏิบัติตามระบบการเมืองของประเทศตะวันตก แต่ผลปรากฏว่า นั่นเป็นทางตัน หากใช้ระบบนั้นในจีนต่อไป เป้าหมายการพัฒนาประเทศของประชาชนจีนจะไม่สามารถปรากฏเป็นจริงขึ้นได้ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้เกิดขึ้นตามความต้องการของยุคสมัย
ช่วงหลายปีมานี้ เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า “การปฏิวัติดอกมะลิ (Jasmine Revolution)” เกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกกลาง บางประเทศในตะวันออกกลางพยายามนำระบบการเมืองของประเทศตะวันตกมาใช้ แต่สุดท้ายก็ต้องประสบความล้มเหลว พูดตรงๆได้เลยว่า บทเรียนแบบนี้ จีนเคยได้รับมาแล้วเมื่อ100 ปีก่อน
จีนยังจะบอกให้ชาวโลกเข้าใจว่า ปัจจุบัน จีนกำลังเดินไปสู่หนทางประชาธิปไตยที่แตกต่างจากของประเทศตะวันตก จีนเรียกหนทางนี้ว่า ประชาธิปไตยของประชาชน ในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรครัฐบาลที่ใช้อำนาจปกครองบริหารประเทศอย่างเต็มที่ ส่วนอีก 8 พรรคการเมืองก็มีส่วนร่วมในกิจการบริหารประเทศบ้านเมือง จีนมีระบบการเลือกตั้งที่ควบคู่ไปกับระบบการปรึกษาหารือทางการเมือง ปัจจุบัน สองระบบดังกล่าวนับวันได้รับการพัฒนาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่า จีนไม่เพียงแต่มีประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง หากยังมีประชาธิปไตยผ่านการปรึกษาทางการเมืองด้วย ดังนั้น ระบบประชาธิปไตยจีนในปัจจุบันจึงค่อนข้างมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ และสอดประสานกับระบบกฎหมายด้วยดี นี่ก็เป็นระบบประชาธิปไตยแห่งสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์ของจีน
(yim/cai)