ขบวนรถไฟที่ดูเหมือน “มังกรยักษ์” อันคดเคี้ยวตามเส้นทางรถไฟหลายสายค่อย ๆ เชื่อมต่อเทือกเขาสูงและหุบเขาบน “หลังคาโลก” ทั้งนี้ถือเป็นการอุดช่องโหว่ของการลำเลียงขนส่งทางบก ทั้งยังยกระดับการเข้าถึงและความมั่นคงด้านการคมนาคมขนส่ง ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางรถไฟได้กลายเป็นเสาหลักอันทรงพลังต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของเขตปกครองตนเองทิเบตของจีน
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 2021 ทางรถไฟจากเมืองลาซาซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนเผ่าทิเบตถึงเมืองหลินจือได้สร้างเสร็จและเปิดสัญจรได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารถไฟแบรนด์ “ฟู่ซิง” ได้ครอบคลุมทั่วทั้ง 31 มณฑล มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง และเขตปกครองตนเองชนเผ่าส่วนน้อยในแผ่นดินใหญ่จีนด้วยความสำเร็จ ก่อนหน้านี้ ค.ศ. 2014 ทางรถไฟสายเมืองลาซา-เมืองรึคาเจ๋อได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน ค.ศ. 2006 ทางรถไฟสายชิงไห่-ทิเบตสร้างแล้วเสร็จและเปิดเดินรถตลอดสาย ขบวนรถไฟเดินทางถึงเมืองลาซาเป็นครั้งแรก ปัจจุบันทางรถไฟได้เชื่อมโยงถึง 5 เมืองในเขตปกครองตนเองทิเบตแล้ว รวมถึงเมืองลาซา น่าฉวี่ รึคาเจ๋อ หลินจือ และซานหนาน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมการค้าและโลจิสติกส์หวาฟา (หลินจือ) ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอหมี่หลินของเมืองหลินจือพบว่า ศูนย์บริการอุตสาหกรรมและการซื้อขายระยะแรกของโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว หวู่ เชา กรรมการบริหาร บริษัท พัฒนาโลจิสติกส์หวาเซิงทิเบต จำกัด กล่าวว่า “โครงการจะสร้างระบบแสดงและซื้อขายสินค้า คลังสินค้า และการแปรรูป ตลอดจนระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น เป็นต้น ทั้งยังวางแผนที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้า โลจิสติกส์ รวบรวมและกระจายสินค้าพื้นเมืองรวมทั้งเครื่องยาทิเบตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังจากทางรถไฟสายลาซา-หลินจือเปิดเดินรถ ผมเชื่อว่าการพัฒนาในอนาคตจะดียิ่งขึ้น”
เดือนเมษายน ค.ศ. 2006 นิคมอุตสาหกรรมเยี่ยหลินซึ่งตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจหลินจือได้ลงนาม 11 โครงการพร้อมกันเป็นครั้งแรก
หลิว กวงหมิง หัวหน้าทีมงานชุดที่ 9 ที่มณฑลกวางตุ้งส่งมาช่วยเหลือเขตทิเบต รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรองนายกเทศมนตรีประจำเมืองหลินจือ กล่าวว่า “นิคมอุตสาหกรรมเยี่ยหลินเป็นโครงการช่วยเหลือทิเบตที่สำคัญ ในพื้นที่นิคมมีถนนเชื่อมต่อกับทางหลวงหลินจือ-ลาซา และทางหลวงระดับสูงสายอื่น ๆ นิคมอยู่ห่างจากสนามบินหมี่หลินในเมืองหลินจือราว 40 กิโลเมตร บวกกับการเปิดให้บริการทางรถไฟลาซา-หลินจือในปีนี้ อาศัยความได้เปรียบด้านการคมนาคม จึงสามารถลดต้นทุนการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน"
ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมใหม่ที่ผุดขึ้นเหมือนหน่อไม้หลังฝนตก อุตสาหกรรมดั้งเดิมในทิเบตได้รับ "เงินปันผล" จากทางรถไฟด้วยเช่นกัน
บริษัท พัฒนาวัฒนธรรมจ้างโล่ว จำกัด ตั้งอยู่ในเขตซางจู เมืองรึคาเจ๋อ มีชื่อเสียงมากในท้องถิ่นในฐานะผู้วาดภาพและจำหน่ายภาพจิตรกรรมทังกา ลั่วซังตั้นต๋า ผู้จัดการใหญ่บริษัทแห่งนี้ กล่าวว่า “แต่ละปีเราต้องซื้อสีจากแร่และเครื่องไม้จากที่อื่นจำนวนมาก หลังจากเปิดให้บริการรถไฟสายลาซา-รึคาเจ๋อใน ค.ศ. 2014 เป็นต้นมา ค่าวัสดุก็ลดลงอย่างมาก ในอดีตขับรถไปเมืองลาซาต้องใช้เวลาเดินทางนานกว่า 6 ชั่วโมง ทุกวันนี้ไปลาซาโดยรถไฟใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงครึ่ง ใช้เวลาน้อยลงถึงครึ่งหนึ่ง"
นอกจากการสืบทอดและพัฒนาอุตสาหกรรมหัตถกรรมประจำชนเผ่าให้ได้ประโยชน์จากการเปิดบริการเดินรถไฟด่วนแล้ว กลุ่มชาวปศุสัตว์จำนวนหนึ่งในทุ่งหญ้าทางตอนเหนือของทิเบตและเกษตรกรในเขตชานเมืองลาซาก็ได้โอกาสเปลี่ยนอาชีพเป็นพนักงานในภาคอุตสาหกรรมโดยพึ่งพาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ
ฉิน จิ้นหยวนทำงานที่สถานีรถไฟลาซาตะวันตกมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว เขาเป็นประจักษ์พยานที่เห็นการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เขากล่าวว่า "ตลอด 15 ปีมานี้นับตั้งแต่ทางรถไฟชิงไห่-ทิเบตเปิดให้บริการตลอดสาย มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ นำสินค้าจากสถานที่ต่าง ๆ มายังทิเบต โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบที่ขนส่งได้ในปริมาณมากและต้นทุนต่ำของการขนส่งทางรถไฟ ขณะเดียวกันยังได้นำสินค้าที่มีอัตลักษณ์ที่ราบสูงไปสู่ทั่วประเทศกระทั่งทั่วโลก”
ทางรถไฟยังนำโอกาสใหม่มาสู่การเกษตรแบบดั้งเดิมของทิเบตด้วย ป่าต้นวอลนัทที่มีอายุนับพันปี ซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำหยาหลูจ้างปู้เจียง กำลังจะต้อนรับการพัฒนาครั้งประวัติศาสตร์ในปีนี้
วันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 สถาบันวิจัยธุรกิจวอลนัทที่ราบสูงทิเบต มหาวิทยาลัยฉางเจียง ทำพิธีเปิดตัวในหมู่บ้านหลงปา ตำบลเจียฉา อำเภอเจียฉา เมืองซานหนาน ทีมวิจัยเกือบ 20 คนจะให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ธุรกิจวอลนัทในท้องถิ่น เช่น การเพาะพันธุ์ การต่อกิ่ง และบริการด้านอื่น ๆ โดยทีมงานของ ดร.หลิว หลีผิง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฉางเจียง จะทำงานที่เจียฉามากกว่า 4 เดือน เพื่อศึกษาวิจัยสภาพการกระจายทรัพยากรวอลนัท รวมทั้งโรค และแมลงศัตรูพืช เป็นต้น
"เราได้นำเข้าบริษัท Angel Yeast Company ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยร่วมมือกับบริษัทวอลนัทชั้นนำในท้องถิ่น ยกระดับกรรมวิธีการผลิตน้ำมันวอลนัท และบูรณาการหลอมรวมเข้าสู่ตลาดใหญ่ทั่วประเทศผ่านการขนส่งทางรถไฟและเครื่องบิน" เกา ต้าฉวน เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทิเบตจากมณฑลหูเป่ย ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายอำเภอเจียฉา กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเขาประสบความสำเร็จแล้วในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเชิงลึก เช่น เปปไทด์วอลนัท โปรตีนวอลนัท และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ และจะขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
เขตปกครองตนเองทิเบตของจีนมีทัศนียภาพทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่รู้จักกันในนาม "ขั้วโลกที่สาม" และเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว ปัจจุบันการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักของทิเบต ทุกวันนี้ทางรถไฟชิงไห่-ทิเบต ลาซา-รึคาเจ๋อ และ ลาซา-หลินจือ กำลังกลายเป็น "เครื่องจักรใหม่" แห่งการสร้างความมั่งคั่งที่ขับเคลื่อน "ที่ราบสูงที่ปกคลุมด้วยหิมะ" ตลอดจนบรรลุการพัฒนาชนบทให้เจริญรุ่งเรือง
TIM/LU