‘หวง ต้าฟา’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนจบ)

2021-10-18 09:32:17 | CMG
Share with:

"เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" เป็นเกียรติภูมิสูงสุดภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2021 พิธีมอบ "เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง นายสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีจีน มอบเหรียญเกียรติยศแก่ผู้ได้รับรางวัลด้วยตนเอง

เฉพาะสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ผู้สร้างคุณูปการอันยอดเยี่ยมแก่พรรคและประชาชนเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ได้รับเกียรติเช่นนี้ พิธีมอบ "เหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ โดยมีผู้ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้รวม 29 คน รวมถึงหวง ต้าฟา ผู้ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำบนหน้าผา

‘หวง ต้าฟา’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนจบ)

เขานำชาวบ้านใช้เวลากว่า 30 ปีในการขุด “คลองชีวิต” ที่ประกอบด้วยคลองหลักยาว 7,200 เมตร และคลองรองยาว 2,200 เมตรบนหน้าผา เขาอุทิศตนเพื่อประชาชนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทุ่มเททำงานอย่างหนักและขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม ได้สร้างคุณูปการโดดเด่นในการปรับปรุงเงื่อนไขการใช้น้ำและบรรลุการหลุดพ้นความยากจนและสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในพื้นที่ภูเขา

หวง ต้าฟา หนึ่งในผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านฉ่าวหวังป้าเดิม ตำบลชนเผ่าเกอเหล่าผิงเจิ้ง เขตโปโจว เมืองจุนอี้  มณฑลกุ้ยโจว เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “หยีว์กงร่วมสมัย" (หยีว์กง-ผู้เฒ่าย้ายภูเขา อุปมาคนที่ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรและไม่เกรงกลัวต่อความยากลำบาก)

"คลองต้าฟา" เปิดใช้งานตลอดสาย

เมื่อฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1992 งานสร้างโครงการผันน้ำได้เริ่มขึ้นในที่สุด หวง ต้าฟาในวัย 57 ปีนำชาวบ้านมากกว่า 200 คนไปประจำการอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งเวลาระเบิดภูเขาเกิดเหตุลูกระเบิดด้าน แต่ขณะหวง ต้าฟากำลังเดินเข้าใกล้ตรวจสอบ ทันใดนั้นมีคนตะโกนว่า "มันจะระเบิดแล้ว" ยามคับขันนี้ หวง ต้าฟาคลุมตัวเองด้วยตะกร้าขนของที่แบกไว้ด้านหลัง เศษก้อนหินแตกกระจายไปทั่วในทันที โชคดีที่แรงระเบิดเพียงทำให้ตะกร้าเสียหาย ขณะที่หวง ต้าฟามีแผลนิดหน่อยที่แขนเท่านั้น

ปี 1993 การก่อสร้างมาถึงบริเวณหน้าผาชาเอ่อร์เหยียนซึ่งอันตรายเป็นพิเศษ เพราะมีความสูงชันในแนวตั้งมากกว่า 300 เมตร และการวางลูกระเบิดนั้นอันตรายมาก หวง ต้าฟาเป็นคนแรกที่เสนอตัว เขาพาเพื่อนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสองสามคนขึ้นไปบนยอดเขา ผูกเชือกไว้กับต้นไม้ใหญ่แล้วมัดไว้ที่เอว  ค่อยๆ เคลื่อนตัวลงมาตามหน้าผาหินเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการวางวัตถุระเบิด

“ถ้าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์กลัวตายจะได้เหรอ วีรชนผู้พลีชีพเคยใช้ร่างกายปิดปากกระบอกปืนของข้าศึก เราก็ต้องมีจิตวิญญาณเช่นนี้” หวง ต้าฟากล่าว

ปี 1994 คลองหลักเปิดส่งน้ำได้ตลอดสาย น้ำคลองใสสะอาดไหลมาถึงฉ่าวหวังป้าเป็นครั้งแรก เด็กๆในหมู่บ้านวิ่งตามสายน้ำ ชาวบ้านดื่มน้ำคลองอึกใหญ่ “มันหวาน หวานเหลือเกิน…” ชาวบ้านซึ่งไม่เคยเห็นหวง ต้าฟาหลั่งน้ำตาพบว่า เลขาธิการพรรคฯผู้สูงวัยท่านนี้หลบตัวเข้ามุมและกำลังร้องไห้

ปี 1995 คลองส่งน้ำที่มีความยาวรวม 9,400 เมตร ที่ข้ามภูเขาใหญ่สามลูกและผ่านชุมชนชาวบ้านมากกว่า 10 ชุมชนได้เปิดใช้งานตลอดสาย ฉ่าวหวังป้าได้อำลาประวัติศาสตร์ "หยดน้ำแพงเท่าน้ำมัน" โดยสิ้นเชิง ชาวบ้านตั้งชื่อคลองนี้ตามชื่อหวง ต้าฟา เรียกว่า "คลองต้าฟา"

‘หวง ต้าฟา’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนจบ)

บรรลุการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา "สามเรื่อง"

หลังจาก "คลองต้าฟา" เปิดส่งน้ำเป็นที่เรียบร้อย หวง ต้าฟาไม่รีรอในการนำชาวบ้าน "เปลี่ยนพื้นที่ทางลาดเป็นนาขั้นบันได"  ชาวบ้านชื่อ สีว์ กว๋อซู่ จำได้ว่าหลังจาก "เปลี่ยนพื้นที่ทางลาดเป็นนาขั้นบันได" แล้ว ครอบครัวเขามีพื้นที่นาขั้นบันได 4 โหม่ว (ราว 1.67 ไร่) ซึ่งทำการปลูกข้าวทั้งหมด เมื่อปี 1996 ได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อโหม่วกว่า 500 กิโลกรัม เช่นเดียวกับสีว์ กว๋อซู่ ชาวบ้านฉ่าวหวังป้าทุกครัวเรือนไม่เคยต้องกังวลเรื่องปากท้องอีกเลยตั้งแต่นั้นมา

หลังจากนั้นคือการสร้างถนนและติดตั้งระบบไฟฟ้า หวง ต้าฟานำชาวบ้านกว่า 100 คนออกทำงานทุกวันด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ถนนยาว 4 กิโลเมตรที่เชื่อมหมู่บ้านกับภายนอกได้สร้างเสร็จอย่างรวดเร็ว ปี 1996 หมู่บ้านฉ่าวหวังป้าได้เริ่มเดินหน้าโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้า หวง ต้าฟาออกเงิน 100 หยวนเป็นคนแรก ชาวบ้านต่างร่วมลงขันตามรวมทั้งหมด 10,000 หยวน ม้วนสายไฟหนักนับร้อยกิโลกรัม ชาวบ้านดึงไปข้างหน้าบนบ่าของพวกเขา หมู่บ้านฉ่าวหวังป้ามีไฟฟ้าแสงสว่างใช้ในที่สุด

ถัดจากนั้นหวง ต้าฟาคำนึงถึงเรื่องการสร้างโรงเรียน ยังไม่มีครูเลยจะทำอย่างไรดี? หวง ต้าฟาขอให้หนุ่มสาวสองสามคนในหมู่บ้านที่เคยเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นกลับไปรับหน้าที่ครูทดแทนในหมู่บ้าน ซึ่งรวมถึงหวง ปิงเฉวียน ลูกชายคนสุดท้องของเขาที่ทำงานอยู่ข้างนอกด้วย หวง ปิงเฉวียนซึ่งปฏิเสธคำขอของพ่อไม่สำเร็จได้กลับไปสอนหนังสือที่หมู่บ้าน และทำงานนี้มานานกว่าสิบปีแล้ว นับถึงปัจจุบัน มีนักศึกษาที่มาจากฉ่าวหวังป้ามากกว่า 30 คนแล้ว

หมู่บ้านฉ่าวหวังป้าในอดีตได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถวนเจี๋ยชุน(หมู่บ้านสามัคคี)” แล้วในปัจจุบัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภายใต้แรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของหวง ต้าฟา ทีมงานสองชุดทั้งคณะกรรมการชาวบ้านและคณะกรรมการสาขาพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำหมู่บ้านได้นำพาชาวบ้านพัฒนาธุรกิจวัตถุดิบยาจีนแผนโบราณ ข้าวอินทรีย์  ข้าวเกาเหลียงอินทรีย์ และผลไม้คุณภาพสูง รวมทั้งเลี้ยงโคเนื้อ สุกรเชิงนิเวศและผึ้ง สามารถสร้างตำแหน่งงานมากกว่า 1,100 ตำแหน่ง ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีทะลุหลักหมื่นหยวน  เมื่อปลายปี 2019 ถวนเจี๋ยชุนได้พ้นจากรายชื่อหมู่บ้านยากจน จำนวนประชากรผู้ยากจนที่ขึ้นทะเบียนของทั้งหมู่บ้านลดเหลือเป็นศูนย์

ในหมู่บ้านถวนเจี๋ยชุน โครงการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น โฮมสเตย์ แคมป์ปิ้ง และฐานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้รับการพัฒนาตามลำดับ ทางด่วนเหรินจุน(เมืองเหรินหวัย-เมืองจุนอี้)ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้สัญจรได้ในเดือนกรกฎาคมปี 2022 จะสร้างทางถึงหมู่บ้านถวนเจี๋ยชุนด้วย เมื่อถึงตอนนั้น ขับรถจากเขตเมืองจุนอี้ไปยังถวนเจี๋ยชุนใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง หนทางสู่ความร่ำรวยของหมู่บ้านถวนเจี๋ยชุนย่อมจะกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน

‘หวง ต้าฟา’ ผู้ได้รับเหรียญเกียรติยศ 1 กรกฎา : ฟันฝ่าต่อสู้อย่างไม่ลดละเพื่อสร้างคลองส่งน้ำ (ตอนจบ)

สมาชิกพรรคต้องทำงานตลอดชีวิต

ในช่วงต้นฤดูหนาวปี 1959 หวง ต้าฟาได้เขียนใบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วยความตั้งใจจริงว่า “ ผมขอเข้าร่วมพรรคก็เพื่อรับใช้ประชาชนอย่างจริงใจและสุดความสามารถให้ถึงที่สุด

เป็นผู้รับใช้ที่ดีของประชาชน ไม่กลัวการเสียสละ  ไม่กลัวความยากลำบากและไม่กลัวการหลั่งเลือด”

“สมาชิกพรรคต้องการทำงานไปตลอดชีวิต ไม่ใช่ครึ่งชีวิต” หวง ต้าฟาซึ่งเป็นสมาชิกพรรคมาแล้ว 62 ปี เป็นผู้บริหารหมู่บ้านมาแล้ว 46 ปี และเป็นเลขาธิการพรรคประจำหมู่บ้านมาแล้ว 38 ปีกล่าว

ทุกวันนี้หวง ต้าฟา ซึ่งเกษียณอายุแล้วหลายปีจะติดตราสัญลักษณ์พรรคที่เปล่งประกายไว้ที่หน้าอกทุกวัน เขายังคงยุ่งอยู่กับกิจการของหมู่บ้าน

"มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้หรือไม่ ขอให้คิดถึงคลองต้าฟา" ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นทางจิตใจของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านถวนเจี๋ยชุนในการฟันฝ่าต่อสู้และก้าวไปข้างหน้าด้วยความสามัคคี

Yim/lu

  • เสียงข่าวประจำวัน (04-05-2567)

  • เกาะกระแสจีน (04-05-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (03-05-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (03-05-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (03-05-2567)

陆永江