ประสบการณ์เซินเจิ้น : รหัสการพัฒนาของจีน (3)

2021-11-25 15:29:45 | CRI
Share with:

ประสบการณ์เซินเจิ้น : รหัสการพัฒนาของจีน (3)

เซินเจิ้น อยู่ในมณฑลกวางตุ้งทางภาคใต้ของจีน เมื่อกว่า 40 ปีก่อน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงมีชีวิตที่ยากจนยามค่ำคืนชาวประมงมองไปที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำที่มีแสงไฟสว่างไสว นั่นคือฮ่องกงแดนสวรรค์ที่ใฝ่ฝัน

แต่ปัจจุบันจีดีพีของเมืองเซินเจิ้นแซงหน้าฮ่องกงเท่ากับจีดีพีของประเทศที่อยู่อันดับที่ 21 ของโลก นอกจากนั้นจีดีพีของถนนสายหนึ่งในเมืองเซินเจิ้นก็เท่ากับจีดีพีของบางประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างไร

ฤดูใบไม้ผลิปี 1992 นายเติ้ง เสี่ยวผิง ไปตรวจเยี่ยมเมืองเซินเจิ้นอีกครั้ง และได้กล่าวคำปราศรัยที่เป็นที่รู้จักดีในชื่อ “คำปราศรัยภาคใต้” โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษระบบสังคมนิยม ไม่ใช่ทุนนิยม คำกล่าวนี้ถือเป็นการไขข้อสงสัยของผู้คนที่มีต่อระบบสังคมนิยม

ชาวจีนส่วนใหญ่จะจดจำคำพูดที่ชาญฉลาดของท่านเติ้ง เสี่ยวผิง หนึ่งคือ “ไม่ว่าแมวขาวหรือดำ จับหนูได้ก็ถือเป็นแมวดี” (不管黑猫白猫,捉到老鼠就是好猫) อธิบายง่ายๆ คือ อย่าไปถกเถียงในปัญหาที่ซับซ้อน ถ้าเป็นสิ่งที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนก็เป็นสิ่งที่ดี

สองคือ “ข้ามแม่น้ำด้วยวิธีสัมผัสก้อนหินในท้องน้ำ” (摸着石头过河) ความหมายคือเราไม่รู้สภาพแม่น้ำที่เราจะข้ามแต่ต้องข้ามจึงควรใช้วิธีสัมผัสก้อนหินที่อยู่ในท้องน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

สองคำพูดดังกล่าวเป็นภูมิปัญญาของผู้นำจีนที่ทลายกำแพงแนวคิดที่ตายตัวและล้าหลังเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริหารท้องที่ต่างๆ มีความคึกคักและแนวคิดที่ยืดหยุ่นในการทำงานต่อไป ก่อนที่จะเดินทางกลับปักกิ่ง นายเติ้ง เสี่ยวผิงจับมือผู้นำเมืองเซินเจิ้นและบอกว่า “พวกคุณควรดำเนินการให้เร็วยิ่งขึ้น”

หลังจากนั้น “ความเร็วเซินเจิ้น” ก็สั่นสะเทือนไปทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เกินความคาดหวังของผู้ตัดสินนโยบาย แต่เกินการคาดการณ์ของชาวโลกอีกด้วย ช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา เซินเจิ้นพัฒนาจากเมืองขนาดเล็กริมชายหาดมาเป็นเมืองสากลชื่อดัง จีดีพีโตขึ้นจาก 196  ล้านหยวนในปี 1979 มาเป็น 2.69 ล้านล้านหยวนในปี 2019 เพิ่มขึ้นกว่า 12,000 เท่า ปี 2018 จีดีพีเซินเจิ้นแซงหน้าฮ่องกงเป็นครั้งแรก ปี 2019 แซงหน้าสิงคโปร์ เท่ากับประเทศที่จัดอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก

ประสบการณ์เซินเจิ้น : รหัสการพัฒนาของจีน (3)

ปี 1996 ทางการเมืองเซินเจิ้นก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมนิวไฮเทคบนพื้นที่11.5 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่อยู่ที่ถนนเว่ย์ไห่ (粤海街道) เขตเมืองหนานซาน โดยตั้งเป้าที่จะไล่ตามซิลิคอลวัลเลย์ของสหรัฐ ตามแผนจะสร้างตำแหน่งงาน 120,000 ตำแหน่ง แต่ความเร็วของการพัฒนาเกินคาด จนถึงปัจจุบันจำนวนพนักงานในนิคมอุตสาหกรรมเกินกว่า 450,000  คน ถนนเว่ย์ไห่กลายเป็นเขตชั้นนำด้านการพัฒนานิวไฮเทคของจีนและเป็นหน้าต่างสะท้อนการพัฒนาของเซินเจิ้น มีบริษัทนิวไฮเทคกว่า 1,000 บริษัทรวมถึงบริษัทหวาเหว่ย

ปี 1992 นายเหริน เจิ้งเฟย ลาออกจากกลุ่มบริษัทน้ำมันปิโตรเลียมหนานฟาง โดยยืมเงิน 20,000 หยวน มาจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทหวาเหว่ย ที่ถนนเว่ย์ไห่ หลังจากนั้นไม่ถึง 30 ปี หวาเหว่ยกลายเป็นบริษัทนิวไฮเทคยักษ์ใหญ่ของโลก

นายโหว เหวยกุ้ย ก็เป็นรุ่นแรกที่มาสร้างตัวที่ถนนเว่ย์ไห่เช่นกัน เริ่มจากขายโทรศัพท์ จนพอเริ่มมีทุนก็ตั้งทีมผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทจงซิง  (Zhongxing Telecom Equipment) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมระดับโลก

ปี 2004 นายหม่า ฮั่วเถิง ผู้ก่อตั้งบริษัทเทนเซนต์ (Tencent) เช่าห้องทำงานในอาคารแห่งหนึ่งที่ถนนเวย์ไห่ แต่ไม่ถึง 4 ปี ก็มีอาคาร Tencent ระดับหรูเป็นของตนเอง และปัจจุบันได้สร้างอาคารแห่งที่ 2 ที่ใหญ่เป็น 3 เท่าของอาคารหลังแรก และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองเซินเจิ้น

ปัจจุบันถนนเว่ย์ไห่มี 96 บริษัท ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีบริษัทยูนิคอร์น เอ็นเตอร์ไพรส์ 9 บริษัท สร้างจีดีพี 300,000 ล้านหยวนต่อปี ซึ่งมากกว่าจีดีพีของบางประเทศ ถนนเว่ย์ไห่มีบริษัทเทคโนโลยีจำนวนกว่า 20,000 บริษัท ช่วงเช้าเวลา 09 .00 น. หนุ่มสาวกว่า 450,000 คน พากันเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรม 212 แห่ง ที่ถนนเว่ย์ไห่ พวกเขามีความฝันในการสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้ชีวิตและอนาคตที่ดีงาม

ประสบการณ์เซินเจิ้นเผยแพร่ไปทั่วประเทศจีน การปฏิรูปของจีนดำเนินการอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง รวมถึงเศรษฐกิจ การเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นรหัสการพัฒนาของจีน

(Bo/Lin)

  • เสียงข่าวประจำวัน (21-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (21-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (21-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (20-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (20-11-2567)

周旭