กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกจะจัดการประชุมฤดูใบไม้ผลิที่กรุงวอชิงตันระหว่างวันที่ 24 - 25 เมษายนนี้ ในที่ประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากกว่า 180 ประเทศจะปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับปัญหาสำคัญ ๆ ด้านเศรษฐกิจโลกและแผนการพัฒนา ซึ่งเมื่อวันที่ 22 เมษายนนี้ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศและผู้ว่าการธนาคารโลกจัดการแถลงข่าว ทบทวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบปี 2009 และคาดการณ์แนวโน้มการพัฒนาของเศรษฐกิจโลกในปี 2010 โดยระบุว่า เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ แต่ยังคงต้องระมัดระวัง
นายโดมินิก สเตราส์ คาห์น กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายนนี้ว่า ปี 2009 เศรษฐกิจโลกคืบหน้าไปได้พอสมควร มีอัตราการฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดไว้
"โดยคาดว่า ปีนี้ เศรษฐกิจโลกจะเติบโตขึ้นร้อยละ 4.2 ซึ่งจะสูงกว่าที่เราหวังไว้เมื่อครึ่งปีก่อน"
เขาระบุว่า การที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเป็นอย่างดี ได้มาจากการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประสานและร่วมมือกันในการรับมือกับวิกฤติการเงิน
"ความร่วมมือระดับโลกมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เป็นที่ประจักษ์ว่า การทำงานแบบพหุภาคีและการประสานกันด้านนโยบายของประเทศต่าง ๆ เป็นมรดกอันล้ำค่าที่ตกทอดมาจากวิกฤติครั้งนี้"
เขากล่าวต่ออีกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะมองในแง่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้ เขาเตือนว่า โลกในทุกวันนี้เต็มเปี่ยมด้วยอันตราย
"ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยว่า วิกฤติสิ้นสุดลงแล้ว และเราสามารถก้าวหน้าไปอย่างราบรื่นแล้ว ถึงแม้ว่าความเร็วและความเข้มแข็งของการฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ แต่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบางและอ่อนแออยู่ เพราะว่าการฟื้นตัวไม่สมดุลกัน อัตราว่างงานของประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังคงสูงอยู่ ตลอดจนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การบริโภคส่วนบุคคลยังคงอ่อนแออยู่ ระบบการเงินยังมีปัญหาต่าง ๆ นานา สำหรับประเทศเศรษฐกิจใหม่ เรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ มีเงินทุนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าไป ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งสภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ตลอดจนก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง"
นายโดมินิก สเตราส์ คาห์นเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการเงินโดยเร็ว
"เราต้องการให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์ใน 3 ด้านในปีนี้ให้ได้คือ หนึ่ง กติกาเกี่ยวกับเงินทุนและการหมุนเวียนของเงินทุน สอง เครื่องมือในการรับมือความเสี่ยงด้านระบบ และสาม กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ"
ส่วนนายโรเบิร์ต โซลลิค ผู้ว่าการธนาคารโลกเห็นว่า เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤติการเงินเกิดการเปลี่ยนแปลง องค์การระหว่างประเทศจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปไปตาม ๆ กัน
"เราได้เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ใหม่เอี่ยม ที่มีพัฒนาการรวดเร็ว และมีหลายขั้ว อีกทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เราต้องเลือกสรรว่า จะปรับตัวตามกันไปหรือคงกรอบเดิมไว้ โดยประเทศกำลังพัฒนากลายเป็นแหล่งสำคัญของการฟื้นตัว อีกไม่นาน ประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นขั้วต่าง ๆ ของการพัฒนาเศรษฐกิจ เราต้องตระหนักถึงสภาพใหม่เหล่านี้ และปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง"
ผู้ว่าการธนาคารโลกยังแนะนำว่า ภายใต้ภูมิหลังของการปฏิรูป การประชุมฤดูใบไม้ผลิที่มี 186 ประเทศสมาชิกธนาคารโลกเข้าร่วมครั้งนี้จะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่จะเพิ่มอัตราส่วนการมีสิทธิ์ออกเสียงของประเทศกำลังพัฒนาให้เป็นร้อยละ 47 ที่กำหนดไว้ในที่ประชุมกลุ่มจี 20 ที่นครพิตส์เบิร์ก
นายโรเบิร์ต โซลลิคเปิดเผยว่า ประเทศสมาชิกธนาคารโลกจะอภิปรายถึงยุทธศาสตร์ยุคหลังวิกฤติของธนาคารโลก เพื่อผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
"ยุทธศาสตร์นี้เกี่ยวพันถึง 5 ด้านคือ ช่วยเหลือผู้ยากจนและด้อยพัฒนา โดยเฉพาะเขตทางภาคใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา สร้างโอกาสการพัฒนา โดยเฉพาะการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและเกษตรกรรม ผลักดันให้โลกใช้ปฏิบัติการร่วมกันเพื่อรับมือกับการคุกคามต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมศักยภาพการปฏิบัติงานของธนาคารโลก ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น และเตรียมตัวเพื่อรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า"
Zhou