บ่ายวันนี้(30 มิถุนายน 2010) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง โดยกล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน มีความพิเศษเป็นความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ มีทั้งในเรื่องราชวงศ์กับผู้นำจีน ทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา การลงทุน การท่องเที่ยว การค้า ครอบคลุมในทุกด้าน
ต่อข้อถามที่ว่าไทยต้องการให้จีนสนับสนุนด้านใดเป็นพิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้ในหลากหลายด้านจึงต้องการให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ลงลึกยิ่งขึ้นถึงระดับการค้นคว้าวิจัยร่วมกันในสาขาที่จีนมีความเชี่ยวชาญ อย่างเช่น การพัฒนาพลังลม พลังแสงอาทิตย์ เทคโนโลยีอวกาศ การเกษตร เป็นต้น รายละเอียดของการสัมภาษณ์มีดังนี้
ถาม ขอให้ ฯพณฯ สะท้อนความสัมพันธ์ไทย-จีนในรอบ 35 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นเช่นไร?
ตอบ พอพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน 35 ปี เสมือนกับว่า ก่อนหน้านั้นไม่มีความสัมพันธ์ อยากแยกแยะก่อนว่า อันนี้เป็นความสัมพันธ์ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ก่อนหน้านั้นเราก็คบกันมาร่วมพันปี แต่ก็ขาดช่วงไปบ้างใน 2 ช่วงด้วยกัน ก็คือช่วงความยุ่งเหยิงภายในจีนเมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมา ไทยกับจีนก็ห่างกันนิด เพราะห่างกันด้านอุดมการณ์ โดยเฉพาะเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี 1975 แต่ว่าหลังจากนั้น ก็มีการปรับนโยบายกันทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน สมัยประธานาธิบดีนิกสัน เมื่อสหรัฐฯ ปรับกับจีน ทั้งโลกก็ปรับกับจีน ซึ่งเป็นที่ไปที่มาของความสัมพันธ์ 35 ปี เพราะว่าก่อนหน้านั้น เรามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลไต้หวัน แต่ทั่วโลกได้บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไปอยู่ที่จีนแล้ว รับรองจีนเป็นจีนเดียว ส่วน 35 ปีที่ผ่านมานั้น ทำไมถึงดี ผมคิดว่าที่สำคัญที่สุดคงมี 2 ประเด็นด้วยกัน คือความรู้สึกเป็นกันเอง เป็นพี่เป็นน้อง เชื้อสายเหล่านี้เป็นพันปี มีคนจีนที่ได้อพยพไปอยู่ที่ประเทศไทยเป็นแสนเป็นล้าน เพราะฉะนั้น ความรู้สึกใกล้ชิดมันมีอยู่ นอกเหนือจากการทำการค้าขาย ประเด็นที่ 2 เมื่อตกลงที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 35 ปีนั้น มีข้อตกลง 2 ประการ คือเราขอให้รัฐบาลจีนยุติการให้ความช่วยเหลือต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ซึ่งจีนรับปาก และได้ปฏิบัติทันที อันที่สองคือ จีนขอให้เรารับรองจีน อย่าให้การรับรองใต้หวัน เราก็ได้ปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น เงื่อนไขอันนี้ได้มีการรักษากันอยู่ และได้ปฏิบัติอย่างดีต่อมา อีกอย่างเราก็คิดว่าเมื่อเราเป็นญาติกัน และอยู่ใกล้ชิดกันแล้ว จึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน อยากสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นี่เป็นความมุ่งมั่นของทุกรัฐบาลจีน และของทุกรัฐบาลไทย ไม่ว่าประธานาธิบดีจีนและ (ผู้นำ) ไทยจะเปลี่ยนแปลงยังไง ความมุ่งมั่น และความมีมิตรจิตรมิตรใจก็ได้รักษามา เป็นสิ่งมากกว่าที่จะร่วมมือกันเพื่อการค้าขายอย่างเดียว เมื่อเศรษฐกิจไทยตกต่ำ และไม่มีน้ำมัน ไทยก็ขอซื้อพิเศษจากจีน สินค้าไทยเกิน ก็ขอให้จีนซื้อ เมื่อมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ เราก็มีการร่วมมือกันได้ ทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น มีความเคารพซึ่งกันและกันมาโดยตลอด ที่สำคัญอีกประการคือ ทั้งสองฝ่ายไม่แทรกแซงกิจการภายในของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าการเมืองไทยจะมีการปฏิวัติ มีรัฐประหาร รัฐบาลจีนไม่เคยปฏิเสธที่จะคบหาสมาคมกับรัฐบาลไทย ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้เปิดประเทศโดยการนำเอาระบบการค้าขายแบบเสรีมาใช้ จึงอำนวยให้มีการไปมาหาสู่กันมากยิ่งขึ้น คนจีนก็สามารถที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวได้ เดิมทีจีนเป็นประเทศปิดอยู่หลายสิบปีมาเป็นประเทศเปิด ทำให้เกิดการไปมาหาสู่กัน เกิดความมั่งคั่งซึ่งกันและกัน (ความสัมพันธ์ไทย-จีน) จึงราบรื่นไปจนกระทั่งทุกวันนี้
ถาม นับวันความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในด้านต่าง ๆ มีมากยิ่งขึ้น ในทัศนะของท่าน ท่านคิดว่าขณะนี้ความร่วมมือด้านใดที่ไทยต้องการจากจีนมากที่สุด
ตอบ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนถ้าเปรียบเทียบกับไทยกับอีกประเทศอื่น ๆ ในโลกอีกหลายประเทศ มีความเป็นพิเศษที่ว่า ความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นความสัมพันธ์สมบูรณ์แบบ มีทั้งในเรื่องของราชวงศ์กับผู้นำจีน เรื่องทางด้านวัฒนธรรม การศึกษา การลงทุน การท่องเที่ยว การค้าขาย ถือว่าเป็นสมบูรณ์แบบ นี่เป็นลักษณะพิเศษของความสัมพันธ์ไทยจีน อันที่ 2 ก็คือว่าต่อไปนี้อยากให้เป็นยังไง ผมว่าอยากให้ลงลึกยิ่งขึ้น ถ้าพูดถึงการศึกษา ก็ไม่ใช่แค่การศึกษาที่แลกเปลี่ยนไปเรียนหนังสือกันไปมา แต่ว่าอยากให้ขยายไปสู่การวิจัยค้นคว้า ให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก แล้วก็ในเรื่องอะไร ผมคิดว่าทั้งจีนและไทยต้องซื้อน้ำมันมาจากตะวันออกกลาง ถ้าอยากให้ความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็น่าจะทำการวิจัยร่วมกัน ตอนนี้จีนเก่งในเรื่องพลังงานลมและพลังงานแสงแดด มันก็จะทำการร่วมมือกันได้ ในเรื่องของการค้นคว้าวิจัย ต่อไปถึงจะมีการทำการค้าขาย มาช่วยกันผลิตพลังงานไฟฟ้าที่มาจากลม และแสงแดด จีนเป็นประเทศที่มีองค์ความรู้มากมาย เช่นความรู้เรื่องสมุนไพร ตอนนี้จีนก็มีความสามารถทางด้านอวกาศ ยิงจรวด ยิงดาวเทียม แต่ไทยไม่มี ไทยจึงอยากมีความร่วมมือกับจีนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายภาพทางอากาศที่เกี่ยวกับการเกษตร รักษาสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชพันธุ์ รักษาต้นน้ำต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งไปลงลึกในแต่ละเรื่องได้ ทางด้านการแพทย์ก็เหมือนกัน
ถาม ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมาทำให้ทางการจีนต้องออกมาเตือนชาวจีนที่ต้องการไปท่องเที่ยวไทยให้ยกเลิกการเดินทางหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ท่านมีแผนที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยอย่างไรบ้าง
ตอบ ก็ต้องบอกเล่ากับฝ่ายจีนทั้งหมดนะครับว่า เหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ ที่ประเทศไทยก็เริ่มกลับมาสู่สภาวะปกติ นั่นเป็นอันหนึ่งก็มาทำธุรกิจมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยได้ ไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร แล้วอันที่สอง ถึงแม้ว่าจะมีการประท้วง มีการใช้ความรุนแรงมากก็ตาม โดยตลอดมา ไม่เคยไปกระทบกระเทือนต่อความปลอดภัยของชาวต่างประเทศเลย อันนี้ก็อยากจะยืนยัน แล้วก็อันที่สามก็คือว่าจุดท่องเที่ยวของประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯเท่านั้นเอง เรามีอีกทั้งประเทศที่ปลอดภัย แล้วก็สามารถที่จะไปท่องเที่ยวได้ บางทีดูแค่จากจอทีวีเหมือนกับว่าประเทศไทยลุกเป็นไฟ บอกไม่ใช่ มันก็จุดน้อยๆในกรุงเทพฯเท่านั้นเอง ก็อยากจะบอกว่า ก็แวะไปเที่ยวที่อื่นก่อนก็ได้ ไปภูเก็ต ไปสมุยไปเชียงใหม่ ไปต่างจังหวัดได้มากนัก แล้วความรู้สึกใกล้ชิดที่คนไทยมีต่อคนจีน ก็อยากจะให้คนจีนได้มาเที่ยวได้มาท่องแวะมาเยือน มีมิตรจิตมิตรใจที่ดีต่อกัน
ถาม ในทัศนะของท่าน การเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จนถึงขณะนี้ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ การค้า การลงทุนระหว่างไทย-จีนอย่างไรบ้าง
ตอบ ผมคิดว่า การลดประเด็นปัญหาการกีดกันทางการค้า ทั้งในเรื่องภาษี ในเรื่องมาตรการสาธารณสุขให้มีความสะดวก เราก็จะได้สินค้าที่ถูกลง คนได้บริโภคมากขึ้น สินค้ามีราคาย่อมยาว นี่เป็นประเด็นที่หนึ่ง ส่วนอันที่สองก็คือว่า แต่ละประเทศจะต้องดูว่าตัวเองเก่งเรื่องอะไร ไม่ใช่ทุกประเทศเก่งกันหมด ต้องดูตรงนี้ด้วย แล้วนอกจากเรื่องการค้า มีเรื่องการท่องเที่ยว มีเรื่องการลงทุน เช่นว่า ลาวอาจจะยังไม่มีอุตสาหกรรม แต่ว่าลาวมีอุตสาหกรรมมากมาย จีนก็ดีไทยก็ดีก็ไปลงทุนในลาวเพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ลาวก็ได้รายได้จากไฟฟ้า แต่ลาวต้องเสียเงินจากการซื้อสินค้าจากไทยกับจีน เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องๆ แต่ผมคิดว่า บวกลบคูณหารแล้วทุกคนได้ประโยชน์ เพราะว่าจะได้มีการจับจ่ายใช้สอย มีบริโภคมากยิ่งขึ้น แล้วก็ทำให้ระดับการพัฒนาสูงขึ้น ลดช่องว่างกับของประเทศที่ก้าวหน้ากว่า เช่นไทยกับลาว ลาวได้ทำการค้าขายก็จะทำให้ระดับชีวิต คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ก็ดีกับทุกๆฝ่าย และก็มีเรื่องคั่งค้าง เช่น ถนนหนทางที่จะขึ้นมากจากเมืองไทยสู่จีน เช่นเราอยากจะขนผลไม้มา อันที่สองก็มักจะมีเรื่องของประเด็นปัญหาของการขนส่ง แล้วก็การอำนวยความสะดวกการเดินทางตามแม่น้ำโขง อะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ต้องไปดูว่าอะไรเป็นอะไร หรือว่ากฎเกณฑ์ของรัฐบาลทางการที่ปักกิ่งว่าอย่างหนึ่ง พอไปถึงมณฑลก็อีกอย่างหนึ่ง ก็ต้องร่วมกันแก้ปัญหา แต่เรามีมิตรจิตมิตรใจที่ดีต่อกัน มีอะไรเราก็มานั่่งคุยกันที่โต๊ะ แล้วก็แก้ไป แล้วก็ต้องรับฟังจากเอกชนเพราะเขาก็เป็นเจ้าของเงิน เป็นผู้ลงทุนอะไรต่างๆเหล่านี้
ถาม ไทยและจีนกับบทบาทบนเวทีโลกได้มีการส่งเสริมสนับสนุนกันอย่างไรบ้าง
ตอบ เราก็มีกันในกรอบอาเซียน ที่เรียกว่าอาเซียน+1 ก็คืออาเซียนทั้ง 10 ประเทศกับจีน ต่อมาก็อาเซียน+3 อาเซียนบวกจีน บวกเกาหลีใต้ บวกญี่ปุ่น และก็มีอาเซียน+6 ก็มีจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เราก็เห็นว่ามีทางที่จะขยายกันไปได้ นอกจากนั้นแล้ว จีนกับไทยเราก็ร่วมมือกับยุโรป ในกรอบที่เรียกว่าอาเซม ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ก็จะมีการประชุมผู้นำอาเซมที่กรุงบรัสเซลส์ เราก็จะไปร่วมกัน และก็ข้ามฟากของมหาสมุทรแปซิฟิก ก็มีองค์การเอเปค ร่วมกับทางอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เพราะฉะนั้นมีหลายกรอบ นอกจากนั้นแล้วที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือเราร่วมมือกันในเรื่องของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อสักสองเดือนมานี้ ประเทศไทยเข้าไปประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เส้นทางทางแม่น้ำโขง ตั้งแต่สร้างสะพานการเดินเรือขนสินค้า และถนนหนทางที่จะวิ่งผ่านข้ามแม่น้ำโขง หรือว่าจะเคียงข้างแม่น้ำโขง เพื่อจะเชื่อมจีนทางใต้และก็จีนตะวันออกเฉียงใต้ จีนตะวันตกเฉียงใต้ด้วยกับทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมาที่ประเทศไทย เพราะฉะนั้นก็มีหลากหลาย มีโอกาสมากมาย