เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม การประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 43 ปิดฉากลงที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ถัดมาในบ่ายวันที่ 21 กรกฎาึคม มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และการเจรจาที่ไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กรุงฮานอย พร้อมกันนั้น ข่าวที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก กลายเป็นประเด็นร้อนของการประชุมดังกล่าว
ในวันปิดการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนได้ประกาศแถลงการณ์ร่วม แสดงความยินดีที่สหรัฐอเมริกาและรัสเซียประสงค์จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และเห็นด้วยที่จะยื่นเสนอให้การประชุมสุดยอดอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ตัดสินใจว่า จะเชิญผู้นำสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
วันเดียวกัน นายจอร์จ เอี่ยว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า
"พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่า ยินดีต้อนรับสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก แต่พวกเราก็ต้องคำนึงถึงงานเร่งด่วนที่กำลังดำเนินอยู่ด้วย"
ปัจจุบัน ประเทศที่เข้่าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกรวมถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจากับอาเซียนทั้ง 6 ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยท่าทีที่ประเทศคู่เจรจาจะเห็นด้วยหรือไม่ กับการให้สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ประเทศคู่เจรจาไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยกล่าวว่า
"ประเทศคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศต่างให้การสนับสนุนการตกลงของอาเซียน โดยมีแผนที่จะปรึกษาหารือ และตัดสินใจร่วมกันในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน และที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้"
ข่าวจากคณะผู้แทนจีนรายงานว่า นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวในการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่า การปรับตัวของโครงสร้างในภูมิภาคมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ การพัฒนา ความร่วมมือ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ต้องสอดคล้องกับลักษณะที่มีความหลากหลายของเอเชียตะวันออก ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในภูมิภาค ควรให้การสนับสนุนบทบาทชี้นำของอาเซียน จีนยินดีที่จะรับฟังและเคารพข้อคิดเห็นร่วมกันของอาเซียน อีกทั้งควรติดตามข่าวสานความคืบหน้าจากทุกฝ่าย
แหล่งข่าวรายงานว่า แม้ว่ากลุ่มประเทศอาเซียนต่างมีท่าทีเห็นด้วยที่จะให้สหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก แต่ขณะเดียวกันก็มีเหตุต้องกังวลบางอย่างด้วยเช่นกัน อาทิ เมื่อประเทศใหญ่ในโลกต่างก็เข้าร่วมการประชุมอาเซียนแล้ว อาเซียนจะยังสามารถดำเนินการประชุมตามวาระเช่นเดิมได้หรือไม่ อาเซียนจะยังคงสถานะความเป็นศูนย์กลางของที่ประชุมไว้ได้หรือไม่ นายกษิต พิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยกล่าวว่า
"เรื่องนี้ไม่ว่าเป็นที่สนใจหรือไม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ เพราะนี่เป็นหลักการ และธรรมนูญพื้นฐานของอาเซียน อาเซียนต้องเป็นศูนย์กลางในทุกด้าน ดังนั้น พวกเราต้องเข้มแข็งมากขึ้น สัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น และมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เคารพเจตนารมย์ของกฎบัตรอาเซียน โดยปัฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียนคือ หนึ่งตลาด หนึ่งประชาคม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และทำให้ประชาชนมีส่วนด้วย"
PL/Zhou/Ldan