วันที่ 3 สิงหาคมนี้ การประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีศึกษาจีน-อาเซียนครั้งที่ 1 และงานสัปดาห์ความร่วมมือด้านการศึกษาจีน-อาเซียนครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ เมืองกุ้ยหยางของจีน นับเป็นการประชุมด้านการศึกษาระหว่างประเทศระดับสูงสุดภายใต้กรอบความร่วมมือจีน-อาเซียนในปีหลังๆนี้ ซึ่งจะทำให้การแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง
การเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนแล้วเสร็จอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองฝ่ายมีผลคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน อาเซียนได้กลายเป็นหุ้นส่วนทางการค้าใหญ่อันดับที่ 4 ของจีน พร้อมกันนั้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจฯยังสร้างโอกาสในด้านความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นายถัง เฉียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกกล่าวว่า
"ประเทศต่างๆในอาเซียนกับจีนมีสิ่งที่น่าศึกษาร่วมกันมากมาย และสิ่งที่สำคัญยิ่งคือ เนื่องจากประเทศต่างๆมีประสบการณ์ด้านการวางแผนการศึกษา การทดสอบ และปฏิบัติการเชิงสร้างสรรค์ทางการศึกษา ซึ่งต่างฝ่ายสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่สำเร็จร่วมกัน"
นับตั้งแต่งานสัปดาห์ความร่วมมือด้านการศึกษาจีน-อาเซียนได้จัดขึ้น 2 ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2008 และปี 2009 เป็นต้นมา ความร่วมมือด้านการศึกษาก็ได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจสูงสุดของทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบัน มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆของอาเซียนเดินทางมาศึกษาในประเทศจีนกว่า 40,000 คน ชาวจีนที่ไปศึกษาในประเทศอาเซียนก็มีกว่า 10,000 คน จีนได้จัดตั้งสถาบันขงจื๊อในประเทศอาเซียนถึง 21 แห่ง นางจัง เซี่ยวฉิน อธิบดีกรมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างประเทศกระทรวงศึกษาธิการจีนกล่าวว่า ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสองฝ่ายมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผลต่อประชาชนโลกโดยทั่วไป
"การศึกษาในแต่ละประเทศมีจุดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตน ต่างก็มีคุณค่าน่าสนใจที่จีนจะนำมาศึกษาได้ อาทิ สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงในการอบรมบุคลากรชั้นนำของโลก เวียดนามมีวิธีการพิเศษในการจัดการศึกษาในชุมชน ซึ่งล้วนเป็นกรณีที่น่าศึกษาสำหรับประเทศเรา"
นายหยวน กุ้ยเหริน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจีนกล่าวว่า การสร้างทรัพยากรบุคคลกลายเป็นความจำเป็นในการแข่งขันระหว่างประเทศที่นับวันจะดุเดือดยิ่งขึ้น ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียนได้มีส่วนให้การสนับสนุนต่อการอบรมบุคลากรของสองฝ่ายเป็นอย่างมาก
"ขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนับวันจะก้าวคืบหน้ายิ่งขึ้น สถานการณ์โลกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเพิ่มศักยภาพของรัฐจำเป็นต้องเริ่มจากพื้นฐานการศึกษา ทรัพยากรบุคคลกลายเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการผลักดันการพัฒนาของประเทศ เราจึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ร่วมกันพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้สูงขึ้น"
Min/Sun