การประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียนคงเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น
  2010-09-27 15:42:20  cri

วันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯกับประเทศอาเซียนจัดการเจรจาเกี่ยวกับส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่นครนิวยอร์ก และได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังการเจรจาว่า จะเสริมความร่วมมือด้านการค้า เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคง เป็นต้น นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเร็วๆนี้ การที่รัฐบาลโอบามาแสดงความเป็นมิตรต่อประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยครั้ง แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของสหรัฐฯที่จะฟื้นฟูและเพิ่มอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มากขึ้น แต่การเจรจาครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น แม้ว่าสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายของตนในการเสริมความสัมพันธ์ แต่ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนไม่น้อย

ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา นายบารัค โอบามาได้ประกาศใช้นโยบายต่างประเทศฉบับใหม่ รวมถึงการปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศอิสลาม การหวนกลับสู่เอเชียอีกครั้ง และเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตแบบพหุภาคี การดำเนินนโยบายเหล่านี้ไม่อาจมองข้ามอาเซียนได้ เพราะว่าปีหลังๆนี้ อาเซียนกำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และในประเทศอาเซียนก็มีชาวมุสลิมจำนวนมาก โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก

เมื่อปีที่แล้ว นายโอบามาจัดการเจรจากับผู้นำ 10 ประเทศอาเซียนที่สิงคโปร์เป็นครั้งแรก และเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา นายโอบามาจัดการเจรจากับผู้นำอาเซียนอีกครั้งที่นครนิวยอร์ก เขายืนยันในวันเดียวกันว่า เขาจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเชียตะวันออกที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียในปีหน้า มองในแง่นี้ นายโอบามามีความปรารถนาอย่างสูงที่จะร่วมมือกับอาเซียน

พิจารณาถึงจุดประสงค์ของสหรัฐฯที่ต้องการเสริมความสัมพันธ์กับอาเซียนในขณะนี้ นายซีมอน ไท นักวิจัยสมาคมเอเชียศึกษาแห่งนิวยอร์กชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลโอบามาตระหนักว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเอเชีย อาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเวทีเจรจากับผู้นำเอเซีย ดังนั้น การเพิ่มการติดต่อสัมพันธ์กับอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่ง

มองในมุมแผนยุทธศาสตร์ทางการทูตใหม่ สหรัฐฯต้องการอาเซียน อีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงผลประโยชน์ของตน อาเซียนก็ต้องการสหรัฐฯในระดับหนึ่ง นายบันตาร์โต บันโดโร นักวิจัยสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์อินโดนีเซียชี้ให้เห็นว่า อาเซียนหวังว่า สหรัฐฯจะแสดงบทบาทในการรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่แทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน นี่ก็เป็นสาเหตุที่อาเซียนสนับสนุนให้สหรัฐฯเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเชียตะวันออก

แต่นายบันตาร์โตก็ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนยังยืนหยัดจุดยืนที่เป็นตัวของตัวเองในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เขาเห็นว่า การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้าระหว่างสองฝ่ายจะเติบโตขึ้นพร้อมๆกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ต่อผลการเจรจาครั้งนี้ นายซีมอน ไท กล่าวว่า การเจรจาผู้นำที่นครนิวยอร์กครั้งนี้ไม่ต่างจากการเจรจาในสิงคโปร์เมื่อปีที่แล้ว คาดว่าคงไม่มีผลคืบหน้าแต่อย่างใด นอกจากสองฝ่ายให้คำสัญญาว่าจะเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ส่วนในด้านการค้า เศรษฐกิจ การป้องกันการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น สองฝ่ายเพียงแต่มีการกำหนดกรอบอย่างคร่าวๆ ไม่ค่อยมีเนื้อความที่เป็นรูปธรรม

นายซีมอนยังชี้ให้เห็นว่า การที่สหรัฐฯดำเนินความร่วมมือกับอาเซียนนั้นยังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย รวมถึงการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศอย่างหนัก

Ton/Min/Sun

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040