การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 8 ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม
  2010-10-06 17:10:49  cri

ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 4-5 ตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ครั้งที่ 8 ได้เปิดฉากขึ้นที่กรุงบรัสเซลประเทศเบลเยี่ยม โดยผู้นำและผู้แทนจาก 48 ประเทศสมาชิกของเอเชียและยุโรปได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นในการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและยุโรป การกำกับดูแลเศรษฐกิจของโลกให้ดีขึ้น และการบรรลุความมั่งคั่งร่วมกันของประชาชนภายหลังวิกฤติการเงินโลก

ภายหลังการประชุมมีการประกาศแถลงการณ์ประธาน โดยผู้นำจากประเทศต่างๆ เน้นอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องเดินไปในทิศทางของการพัฒนาอย่างยั่นยืน พร้อมเน้นความสำคัญของการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวรรษของสหประชาชาติที่จัดขึ้นที่นครนิวยอร์กเมื่อไม่นานมานี้ และการประชุมว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่จะจัดขึ้นในบราซิลในปี 2012 กลุ่มผู้นำยังเห็นพ้องต้องกันว่า ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อนอื่นต้องส่งเสริมการบริโภคและการลงทุน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น "เครื่องกระตุ้น" การเติบโตทางเศรษฐกิจและการมีงานทำ ประการที่สอง ต้องส่งเสริมการค้า ขจัดลัทธิกีดกันทางการค้าในทุกรูปแบบ ยกเลิกการกีดกันทางการค้าทางภาษีศุลกากร และการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรโดยเร็ว ประการที่สาม ต้องดำเนินการปฏิรูปทางผลิตภัณฑ์ การให้บริการ และเทคโนโลยีการผลิต โดยเฉพาะต้องแปรรูปแบบเศรษฐกิจให้เป็นแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากร โดยผู้นำประเทศต่างๆ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการค้าของแต่ละประเทศจัดการประชุมเกี่ยวกับปัญหานี้โดยเร็ว

การประชุมครั้งนี้ยังได้ออก "คำประกาศบรัสเซล" ในหัวข้อ "บรรลุการกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น" โดยระบุว่า วิกฤติการเงินโลกครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนของเศรษฐกิจ และระบบการเงินของโลก และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤติการเงินขึ้นอีก เอเชียกับยุโรปต้องร่วมมือกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน สมดุล และมีความกลมเกลียวปรองดองกับทั่วโลก ภายใต้มาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง ภาระหน้าที่อันดับแรกในปัจจุบันคือ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตลาด และรักษาแรงกระตุ้นของการฟื้นตัว หากจะบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง กลุ่มประเทศเอเชียต้องพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกับติดตามแรงกดดันจากเงินเฟ้อด้วย ส่วนกลุ่มประเทศยุโรปต้องใช้มาตรการเงินฝืด เพื่อลดสภาพการขาดดุลและหนี้สาธารณะ ประเทศในเอเชียและยุโรปจะร่วมมือกันด้วยการประสานงานด้านนโยบายและการแลกเปลี่ยนข้อมูล นอกจากนี้ "คำประกาศบรัสเซล" ยังได้ย้ำเจตนารมณ์ในการปฏิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิออกเสียงมากขึ้น และเรียกร้องให้รับรู้ปัญหานี้ร่วมกันในที่ประชุม G20 ที่จะจัดขึ้นที่กรุงโซลในเดือนพฤศจิกายนศกนี้

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรปครั้งนี้มีประเด็นหลักประเด็นหนึ่งว่า "ปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่ำรวยขึ้น และทรนงในศักดิ์ศรีมากขึ้น" บรรดาผู้นำให้คำมั่นสัญญาว่า จะส่งเสริมการมีงานทำ โดยเฉพาะการมีงานทำของผู้ด้อยโอกาส และที่มาจากต่างถิ่น รวมทั้งเน้นความสำคัญในการสร้างระบบสวัสดิการทางสังคมที่สามารถครอบคลุมถึงประชาชนทั้งหมด และการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยในหมู่คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานด้านสวัสดิการ และให้ความช่วยเหลือแก่กัน

NL/Zhou/Ldan

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040