สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 และการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโกระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 10 ธันวาคม หลังการประชุม ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักรเดนมาร์ก การประชุมนัดนี้เป็นการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่งอีกครั้งหนึ่ง โดยมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามโรดแมปบาหลี ขณะนี้ ฝ่ายต่างๆ สะท้อนท่าทีที่จะแสวงหาผลที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมที่เมืองแคนคูน โดยหวังว่า จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านเงินทุน เทคโนโลยี และการอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อปูพื้นฐานที่ดีต่อการเสร็จสิ้นการเจรจาตามโรดแมปบาหลีในระหว่างจัดการประชุมสมัชชาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศแอฟริกาใต้
จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้เสนอข้อคิดเห็นว่า อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพิธีสารเกียวโตเป็นพื้นฐานด้านกฎหมายสำหรับการเจรจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึง 4 ประเทศดังกล่าวสนับสนุนให้ถือหลักการ "มีภารกิจร่วมกัน แต่มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน"นั้นเป็นหลักการขั้นพื้นฐานสำหรับการเจรจาและความร่วมมือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิเคราะห์เห็นว่า อุปสรรคต่างๆ ในการเจรจาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ฝ่ายต่างๆ หันมาใช้ท่าทีเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการประชุมที่เมืองแคนคูน ขณะนี้ ทุกฝ่ายต่างแสดงความหวังว่า อยากให้บรรลุข้อตกลงที่มีความสมดุลและเบ็ดเสร็จในที่ประชุมที่แคนคูน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น ช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอนเทคโนโลยีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และอนุรักษ์ป่าไม้ อีกทั้งให้จัดตั้งกองทุนเพื่อให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ตามข้อตกลงโคเปนเฮเกน ประเทศพัฒนารับปากจะเสนอเงินทุนสำหรับการดำเนินการเบื้องต้นจำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและเงินทุนสำหรับการดำเนินการในระยะยาวจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้ ทุกฝ่ายยังเห็นพ้องว่า จะจัดตั้งกองทุนเกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศด้วย
นอกจากนี้ ประเทศต่างๆ เริ่มดำเนินการด้วยความสมัครใจ โดยไม่ได้ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับการบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยประเทศกำลังพัฒนาได้ตั้งเป้าหมายในระดับค่อนข้างสูงเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าสเรือนกระจก เช่น จีนประกาศว่า เมื่อเทียบกับปี 2005 ถึงปี 2020 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ต่อหน่วยจีดีพี 40%-45% ส่วนบราซิลประกาศว่า ถึงปี 2020 จะลดการปล่อย ก๊าสเรือนกระจก 36.1%-38.9% ของเป้าหมายที่คาดไว้ นอกจากนี้ จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาจำนวนไม่น้อยยังพยายามบุกเบิกพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยจีนได้ทุ่มเงินทุนจำนวนมหาศาลในการบุกเบิกพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ รถยนต์พลังไฟฟ้า และการใช้พลังงานลม ขณะนี้ได้ประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว
(IN/cai)