ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ราคาพืชผลการเกษตรพุ่งสูงขึ้นคือ สภาพคล่องที่สูงมาก สภาพคล่องที่สูงมากเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของ
ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งกระตุ้นให้มีเงินสดไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ แม้จีนมีมาตรการปรับนโยบายไปสู่ภาวะปกติ แต่ก็ดำเนินการอย่างล่าช้าในการควบคุมการขยายตัวของปริมาณเงิน ขณะที่ธนาคารกลางจีนระบุว่า การปล่อยสินเชื่อที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินโลกยังคงผลักดันการพุ่งขึ้นของปริมาณเงินของจีน
ยังมีนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนหนึ่งเห็นว่า ความกดดันจากเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในจีนครั้งนี้ ไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศ หรือปัญหาระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น แต่เป็นภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจาก "ปัจจัยภายนอกประเทศ" เป็นหลัก และเป็นเงินเฟ้อในระดับสากล หรือระดับโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่อย่างถ้วนหน้าแทบทุกหนทุกแห่ง ฉะนั้นการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ "ระดับโลก" โดยการใช้ "นโยบายระดับประเทศ" หรือ "ระดับชาติ" นั้นก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้น จีนและผู้นำของโลกจะต้องหันหน้ามาร่วมมือปรึกษาหารือถึงมาตรการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อร่วมกัน โดยเฉพาะในการประสานนโยบายในกลุ่มประเทศ G-8 และระดับภูมิภาคเดียวกันโดยเฉพาะประเทศใน "กลุ่มอาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้" ซึ่งมีกลไกความร่วมมือในนโยบายการเงินการคลังและการค้า เพื่อจัดกติกาแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อย่างสอดคล้องกัน ก็คงจะบรรเทาความเดือดร้อนลงได้ในระดับหนึ่ง
นักวิเคราะห์เศรษฐกิจส่วนใหญ่เห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ "ระดับโลก"คือ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแก้ปัญหาเศรษฐกิจซบเซาภายในประเทศ ด้วยการสั่งพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นที่รู้กันว่าเงินดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก และเป็นการพิมพ์ธนบัตรโดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ทำให้รัฐบาลทั่วโลกกังวลว่าการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐไม่ดี จะทำให้มูลค่าความมั่งคั่งของโลกลดลงเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลง
ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่นจีน อินเดียกำลังหารือกันเพื่อหาทางรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น
มีการประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มอีก 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินในสหรัฐฯปล่อยกู้ เงินจำนวนนี้มากพอที่จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงได้อีก และยิ่งสหรัฐพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ดอกเบี้ยของสหรัฐก็จะไม่ขึ้น จะยิ่งทำให้เงินไหลออกมาลงทุนในต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก ประเทศอื่นฯทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
ความกังวลในเรื่องค่าเงินนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากการประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ปรากฏว่าทุกประเทศมาหารือกันในเรื่องค่าเงินเป็นหลัก ไม่พูดเรื่องอื่น ส่วนใหญ่พูดกันแต่เรื่องปัญหาค่าเงินและเศรษฐกิจของประเทศตน
ฉะนั้น การพิมพ์ธนบัตรอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดนั้น เสมือนทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก สร้างผลกระทบไปทั้งโลก ใครมีภูมิต้านทานต่ำก็จะทนแรงเสียดทานไม่ไหว
ในปี 2010 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่าง ๆเพื่อ สกัดเงินเฟ้อ อาทิ ให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มทุนสำรอง ควบคุมราคาสินค้า การดูแลอุปทานให้มีเสถียรภาพ กระตุ้นการผลิต และลดต้นทุนพืชผลการเกษตร ผลิตปุ๋ยเพิ่มขึ้น ปราบปรามการกักตุนสินค้าพืชผลการเกษตร รับประกันอุปทานถ่านหิน พลังงาน น้ำมัน แก๊ส อีกทั้งตั้งมาตรการป้องกันทุนนอกที่หลั่งไหลเข้ามา ขึ้นดอกเบี้ย พร้อมวางมาตรการเพื่อความมั่นคงของสังคม เพิ่มบำนาญพื้นฐาน ประกันการว่างงาน และปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจได้
ในเดือน พ.ย. 2010 ราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 70 เมืองใหญ่ทั่วประเทศ สร้างสถิติสูงสุดเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยเพิ่มขึ้นอีก 0.3% จากเมื่อเดือน ต.ค. และหากเทียบกับเมื่อช่วงเดียวกันของ ปี 2009 ก็ปรับขึ้นไปถึง 7.7% แม้ว่าทางการจีนจะออกมาตรการหลายต่อหลายด้านมาคุมภาคอสังหาฯ กันตลอดทั้งปีก็ตาม ทั้งการเพิ่มสัดส่วนเงินดาวน์ขั้นต่ำ และห้ามแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ซื้อบ้านหลังที่ 3
แต่ที่น่าห่วงที่สุดอีกเรื่องก็คือ อัตราเงินเฟ้อ เพราะทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาแพง กระทบต่อกระเป๋าเงินของประชาชนทุกหย่อมหญ้าโดยตรงทั้งคนเมืองและคนชนบท เฉพาะอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. พุ่งถึง 5.1% จากเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีที่ตั้งไว้ 3% ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 28 เดือน และยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. 2010 ไปจนถึงเดือน ม.ค. 2011
ขณะที่เงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารในเดือนเดียวกัน พุ่งสูงไปถึง 11.7% ปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ปี2010 นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า กล่าวผ่านสถานีวิทยุแห่งชาติจีน 1 วันหลังการขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุดในจีนว่า "เราได้ปรับเพิ่มสัดส่วนทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์มาแล้ว 6 ครั้งอย่างต่อเนื่อง และยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง เพื่อดูดซับทุนที่ล้นตลาดมากเกินไป ให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเรา
ผมเชื่อว่า เราจะสามารถรักษาระดับราคาที่เหมาะสมเอาไว้ได้ โดยผ่านการดำเนินมาตรการต่างๆ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ และผมก็มั่นใจด้วยว่าเราสามารถทำได้"