เกริ่นไปก่อนหน้าว่าต้นเดือนมีนาคมของทุกปีจะมีการประชุมของสองสภาสำคัญในจีน โดยสภาที่จะเปิดประชุมก่อนคือสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน
วันนี้จึงขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสภาฯนี้ก่อน
สภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน (The Chinese People's Political Consultative Conference) หรือ CPPCC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน ค.ศ.1949 เปิดการประชุมครั้งแรกระหว่างวันที่ 21 – 30 กันยายน ค.ศ.1949 โดยทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และได้ออกมติที่สำคัญ ๆ ดังนี้
กำหนดหลักการชี้นำของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ
กำหนดกฎหมายจัดตั้งสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ
กำหนดกฎหมายจัดตั้งรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ประกาศให้กรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาชนจีน
กำหนดธงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน(ดาว 5ดวงบนพื้นแดง)
กำหนดเพลงชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน(เพลงมาร์ชกองกำลังทหารอาสา)
กำหนดให้ใช้ปีตามปีคริสต์ศักราช
มีการเลือกประธาน รองประธาน คณะกรรมการแห่งรัฐบาลกลาง
มีการเลือกคณะกรรมการสภาปรึกษาการเมืองทั่วประเทศสมัยที่ 1และกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาปรึกษาการเมืองในมณฑลและเขตที่สำคัญ
สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ เป็นการรวมกลุ่มกันทางการเมืองของผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคประชาธิปไตย พรรคการเมืองต่าง ๆ องค์กรประชาชน สมาคม และคณะบุคคลจากสาขาอาชีพต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น
หน้าที่ของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติคือให้คำปรึกษา เผยแพร่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักการ นโยบายเพื่อสนับสนุนความเจริญของสังคมนิยม สร้างความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลจากสถาบันต่าง ๆเสนอข้อคิดเห็นต่อหน่วยงานของรัฐ ประสานสัมพันธ์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เผยแพร่อุดมการณ์ระบอบสังคมนิยม ส่งเสริมให้ความรู้ทางวิชาการเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การกีฬา รวบรวมข้อเท็จจริง ตรวจสอบ อภิปรายปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับความกินดีอยู่ดีของประชาชนและเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ สนับสนุนนโยบายการรวมตัวของประชาชนผู้รักชาติในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีส่วนช่วยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เผยแพร่และให้ความช่วยเหลือสนับสนุนนโยบายกลุ่มปัญญาชน ชาตินิยม ศาสนา และงานของชาวจีนโพ้นทะเล สร้างความสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับประชาชน ตลอดจนรวมรวม คัดเลือกและเผยแพร่เรื่องที่สำคัญ
สภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติมีการประชุมปีละครั้งเช่นเดียวกับสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ โดยวันเริ่มต้นและสิ้นสุดการประชุมจะมีขึ้นก่อนการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ 1 วัน แต่อาจเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้เมื่อคณะกรรมการประจำสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติร้องขอ
สมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติทั้งระดับประเทศและระดับท้องถิ่น มีสิทธิในการลงคะแนน ลงสมัครรับเลือกตั้ง เสนอความเห็นและข้อคิดเห็นต่อสภาฯ ร่วมอภิปรายและเสนอความเห็นในที่ประชุมสภาฯเกี่ยวกับนโยบายของรัฐและกิจการที่สำคัญ มีสิทธิที่จะสงวนความเห็น ข้อสังเกตเกี่ยวกับมติต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วย และร่วมในการตรวจสอบของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ
หน้าที่ของสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ คือ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติตามมติของสภาฯ โดยสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสภาฯจะต้องถูกลงโทษตามที่กำหนดไว้
การเสนอญัตติในสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ ผู้มีสิทธิเสนอญัตติ ได้แก่ สมาชิก หรือ กลุ่มสมาชิก คณะบุคคลหรือหลายคณะร่วมกันนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ สมาชิกของสภาที่สังกัดพรรค ตัวแทนองค์กรที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก และคณะกรรมาธิการเฉพาะด้านของสภาที่ปรึกษา
ญัตติของสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ หมายถึง ความเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับนโยบายภายในระดับประเทศหรือท้องถิ่น ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติสู่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติและรัฐบาล ญัตติของสภาปรึกษาฯจะเป็นเพียงรูปแบบการความคุมประชาธิปไตยคือควบคุมการเสนอแนะ การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่มีเงื่อนไขเวลาในการเสนอญัตติและจำนวนผู้สนับสนุน
การเสนอญัตติในนามพรรค ในนามคณะบุคคลหรือในนามคณะกรรมาธิการเฉพาะด้าน จะต้องมีการลงชื่อพร้อมประทับตราองค์กรด้วย
คณะกรรมการสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติ คัดเลือกโดยคณะกรรมการประจำสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติชุดก่อน มีวาระการดำรงตำแหน่งครั้งละ 5 ปี (ระยะเวลาอาจขยายได้ตามความเหมาะสม) ทั้งนี้ต้องผ่านมติของที่ประชุมเต็มคระด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3
คณะกรรมการสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจะตั้งคณะกรรมการประจำสภาที่ปรึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนเมื่อไม่อยู่ในสมัยประชุม
ประธานสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจะรับผิดชอบงานของคณะกรรมการประจำสภาฯ โดยมีรองประธานและเลขาธิการเป็นผู้ช่วย