มนุษย์พันธุ์ใหม่ไม่ทน ไม่สน ไม่สู้
  2011-03-09 20:58:17  cri

"ผมเหนื่อยมาก เป็นพระหนึ่งวัน ก็ตีระฆังหนึ่งวันแล้วกัน" "แต่ละวันผ่านไปเร็วมาก เปิดคอมพิมเตอร์ แล้วปิดคอมพิวเตอร์ หนึ่งวันก็ผ่านไปแล้ว หากวันไหนปิดคอมพิวเตอร์แล้ว ไม่เปิดอีก ก็หมายความว่าครบสัญญาแล้ว" "ไม่อยากพูด ไม่อยากไปไหน ขออ่านหนังสือพิมพ์ ท่องเว็บ และดื่มชาก็แล้วกัน" คำพูดเหล่านี้กำลังเป็นค่านิยมในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ จะชื่นชม หรือดุว่าก็เฉยๆ ไม่รู้สึกรู้สาอายขายหน้า หรือภาคภูมิใจ ดูเป็นคนพันธุ์ใหม่ที่ไม่ทน ไม่สน ไม่สู้

เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการสำรวจรายการหนึ่งที่สุ่มสำรวจคน 4,734 คนพบว่า 91% เห็นว่า มีคนประเภทไม่ทน ไม่สน ไม่สู้อยู่ข้างๆ ในจำนวนนี้ 14.2% เห็นว่ามีคนพรรค์นี้จำนวนมาก และ 41.8% เห็นว่ามีค่อนข้างมาก

เหตุใดจึงมีคนกลุ่มนี้มากขนาดนี้ ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีปัจจัยดังต่อไปนี้

๑. กฎแฝงในที่ทำงาน

คุณเสี่ยว หวัง หลังจบปริญญาโทแล้วก็ทำงานที่ฝ่ายบุคลากรของมหาวิทยาลัย ในออฟฟิสนั้นมีคนทำงานน้อย แต่งานมาก เมื่อเข้ามาทำงานใหม่ๆ เขาขยันทำงานมาก แต่ 6 ปีผ่านไปเขาก็ไม่ขยันเหมือนเมื่อก่อน เขาพูดว่า ทุกคนทำตัวเป็นพระหนึ่งวัน ก็ตีระฆังหนึ่งวัน หากขยันทำงาน เพื่อนร่วมงานคนอื่นก็มองคุณเป็นคนแปลก หรือไม่ก็ถูกข้อครหาว่าอยากเลื่อนตำแหน่งหรือเปล่า ฉะนั้น ในออฟฟิสจึงมีกฏแฝงว่า อย่าขยันทำงาน หรือเก่งเกินไป

๒. ให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่างาน

คุณหลิว น่า แต่ก่อนก็เป็นคนขยันทำงาน อายุกว่า 30 แล้วจึงคิดจะมีลูก ระหว่างตั้งครรภ์ เธอทำงานทุกวัน แม้กระทั่งก่อนคลอด เธอก็ยังทำงานในออฟฟิส แต่หลังจากลาคลอดดูเหมือนเธอเปลี่ยนเป็นอีกคน ทุกวันมาทำงานสายๆ และกลับก่อนเพื่อน ประเด็นในการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานก็อยู่ที่เรื่องลูกเท่านั้น เธอบอกว่า อายุอย่างฉันไม่มีกำลังเหมือนสาวๆ งานกับครอบครัวต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับคนทั่วไป ครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลก การดูแลลูกก็เป็นเรื่องที่คนอื่นทำแทนฉันไม่ได้ ส่วนงานในออฟฟิสต้องจัดเป็นอันดับสอง หรือสาม ทำพอไปได้ก็ดีแล้ว

๓. ไม่รู้สึกรู้สากับคำตำหนิ

คุณหม่าที่ทำงานด้านการออกแบบโฆษณาเป็นเวลา 5 ปีเปิดใจอย่างตรงไปตรงมาว่า หาความสุขอย่างเมื่อตอนเพิ่งเข้าทำงานใหม่ๆ ไม่ได้แล้ว งานออกแบบสร้างสรรค์มักจะถูกลูกค้าตำหนิอย่างแรง ที่พวกเขาต้องการคือการเลียนแบบ ไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หลังจากถูกตำหนิหลายต่อหลายครั้ง ก็เริ่มชินกับคำติเตียน และไม่คิดจะพัฒนาการออกแบบอีก

๔. ไม่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง

นาวสาวหลิว ทำงานด้านประชาสัมพันธ์ในหน่วยงานรัฐบาล งานของเธอในแต่ละวันก็คือโทรศัพท์ และขึ้นเว็บ หากมีการแถลงข่าว เธอก็โทรศัพท์แจ้งให้สื่อมวลชนทราบ หรือส่งเอกสารต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ตให้สื่อมวลชน เวลาที่เหลือเธอก็ท่องเว็บ อ่านข่าว หรือคุยกับเพื่อนๆ แม้ว่าเพิ่งทำงานเพียง 2 ปี เธอก็ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน แถมยังพูดว่า ในหน่วยงานรัฐบาลผู้หญิงไม่ค่อยมีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง แต่ละวันฉันก็ฆ่าเวลา ขอให้งานไม่ผิดก็แล้วกัน

ทุกวันนี้ ในที่ทำงานต่างๆ ของจีน คนซังกะตายประเภทอยู่ไปวันๆ มีจำนวนไม่น้อย คุณหวัง ผู้อำนวยการบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์บอกว่า กลัวพวกซังกะตายมากที่สุด เพราะไม่เพียงแต่ทำงานไม่ดี แต่ยังส่งผลทางลบต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นด้วย แต่ก็ยอมรับว่า บริษัททุกแห่งมีมนุษย์พรรค์นี้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนเข้าทำงาน 3 ปี – 5 ปี แล้วก็เป็นกำลังสำคัญของบริษัทแล้ว เพราะฉะนั้น แม้จะดูซังกระตาย เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว ก็ไล่ออกไม่ได้ ทางบริษัทจึงต้องใช้วิธีต่างๆ เช่น เพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการเพื่อกระตุ้นให้พวกเขาขยันทำงาน

ทุกวันนี้ คนประเภทสักแต่ว่าทำงานไปวันๆ ในที่ทำงานของจีนมีมากขึ้นเรื่อยๆ สถิติจากการสำรวจดัชนีเบื่องานของจีนพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 70% รู้สึกเบื่องาน สถิติยังพบว่า อาชีพที่มีคนกลุ่มนี้ง่ายคือ แพทย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร นักพัฒนาโปรแกรม ครู ผู้สื่อข่าว ตำรวจจราจร ข้าราชการ นักแสดง และโชเฟอร์แท็กซี่ อาชีพเหล่านี้บางอาชีพโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งมีน้อย และบางอาชีพต้องใช้เวลามาก ผู้ทำงานในกลุ่มอาชีพเหล่านี้จึงมักมีแนวโน้มที่จะเป็นคนประเภททำงานแบบซังกะตายไปวันๆ

นายต่งซิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแรงงานจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่งเห็นว่า สาเหตุลึกๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาไม่ได้เป็นปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมในการทำงาน และสังคมก็มีส่วนด้วย บางคนเอางานเป็นเครื่องมือในการหาเงิน และเลื่อนฐานะ แต่ความพอใจ และความสำเร็จที่งานนำมาให้กลับสูญเสียไป นอกจากนี้ปัจจัยที่ไม่แน่นอนในการทำงานมีมากขึ้นเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้คนมักจะเปลี่ยนงาน จนไม่หวังต่ออนาคตการทำงานของตนเอง

วิธีป้องกันการเกิดความเย็นชาในการทำงาน

ความจริง คนประเภทที่ทำงานไปวันๆ จำนวนไม่น้อยก็รู้ว่าตัวเองอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะตกงาน เพื่อให้พ้นจากสภาพดังกล่าว คนกลุ่มนี้จำนวนมากเริ่มเข้าคอร์สอบรม ตัวอย่างเช่นนาวสาวเฉียว เข้าคอร์สอบรมภาษาอังกฤษเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว เธอเล่าว่า เรียนภาษาอังกฤษไม่ใช่เพื่อเลื่อนตำแหน่ง เพียงแต่อยากเพิ่มความมั่นใจในการทำงาน ทำให้จิตใจสงบขึ้น การทำงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนนายหวังเข้าคอร์สอบรมผู้บริหารมืออาชีพ นายหวังบอกว่าแม้จะมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งไม่มากก็ตาม แต่การเข้าคอร์สอบรมมีส่วนช่วยจริงๆ คือทำให้ทุ่มเทกับงานมากขึ้น อยากติดต่อประสานงานกับคนอื่นมากขึ้น

เพื่อป้ิองกันไม่ให้พนักงานกลายเป็นมนุษย์ซังกะตาย บริษัทหลายแห่งก็ใช้วิธีต่างๆ เช่นให้หัวหน้าแผนก 2 แผนกสลับตำแหน่งกัน เพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการเพื่อกระตุ้นให้พนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงาน จัดอบรมด้านวัฒนธรรมวิสาหกิจ ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนสำคัญของบริษัทนั้นๆ

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า มนุษย์ซังกะตายพรรค์นี้เกิืดจากสภาพการทำงานที่ซึมเซา หากพ้นจากสภาพนี้ได้ ท้องฟ้าก็ยังแจ่มใส เมื่อเจออุปสรรคจากการทำงาน ควรรู้จักปรับตัวเองก่อน ทำความรู้จักกับตัวเองอีกครั้ง เพิ่มความมั่นใจ และพยายามบุกเบิกพัฒนาศักยภาพของตัวเอง หากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ก็ต้องรู้จักยอมรับ เพื่อหาจุดเริ่มต้นใหม่

(In/cici)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040