"บัณฑิตจบใหม่หางานยากขึ้น" ในสายตา อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผอ.ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ
  2011-03-14 20:13:55  cri
เมื่อเร็วๆ นี้ อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬากงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอเกี่ยวกับ "การประชุมสองสภาฯ " ของจีน โดยได้วิเคราะห์ปัญหา "บัณฑิตจบใหม่หางานยากขึ้น" และเรื่องการหางานทำให้กับบัณฑิตจบใหม่ อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบลระบุว่า

"ผมเองก็คิดว่า ประเทศไทยก็ประสบปัญหาอย่างนี้ (หัวเราะ) คือ ลักษณะการพัฒนาของจีน ในระบบการศึกษาของจีนในทุกวันนี้ เราก็คงทราบกันดีว่า จีนเองก็ต้องการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของตนให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ผมหมายความว่า มีมหาวิทยาลัย มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของจีนเอง แล้วเมื่อมีการจัดอันดับแล้ว อันดับเหล่านี้ก็จะไปสัมพันธ์กับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก มหาวิทยาลัยดังๆ ของจีนบางแห่งก็ติดอันดับโลก ณ ปัจจุบันนี้ หลายๆ ประเทศก็เป็นกัน คือ หมายความว่า จะต้องสัมพันธ์กับมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ

ทีนี้ประเด็นก็คือว่า มันมีปัจจัยที่บ่งบอกถึงคุณสัมบัติในการจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีเนี่ยมีอยู่หลายประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญก็คือว่า ทั้งหมดนี้มันจะนำไปสู่การแข่งขันในเชิงคุณภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ภายในจีน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การเร่งผลิตบัณฑิตระดับปริญยาตรีขึ้นมา ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลก ก็คือว่า เมื่อบัณฑิตมีจำนวนมาก มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะออกมาแล้วเก่งเสมือนกันหมดทุกคน มันก็ต้องมีคนที่เก่งกว่า คนที่ด้อยกว่า อะไรอย่างนี้

แล้วทีนี้ตลาดแรงงานของจีนก็เหมือนกับหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั่นแหละ คือ ก็มักจะเลือกบัณฑิตที่มาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศตัวเอง ฉะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยที่อาจจะไม่อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ โอกาสในตำแหน่งงานก็จะเข้าถึงได้ยากมากขึ้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดแรงงานระดับที่ใช้มันสมองล้นเหลือ จริงๆ แล้วถ้าว่ากันไปแล้ว ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ด้วยว่า ตำแหน่งงานในจีนน่าจะมีเพียงพอ เพียงแต่ว่าคุณภาพของบัณฑิตที่ตลาดแรงงานต้องการมันสอดคล้องกันหรือเปล่า

อันนี้ผมก็คิดว่า มันเป็นความยากลำบากอันหนึ่ง ลำบากใจก็คือ อย่างเช่น ผู้ประกอบการเวลารับคนมาทำงาน เขาก็ต้องการได้คนที่เก่งๆ มาทำงาน อันนั้นก็คือปัญหาหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ตัวของบัณฑิตเองเมื่อไปทำงานที่ไหน พอเห็นอัตราเงินเดือนที่ถูกจ้างแล้ว ก็อาจจะรู้สึกว่า ตัวเองอยู่ไม่ได้ หรืออาจจะไม่พอใจกับอัตราจ้างนั้น อันนี้ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า ปัญหานี้มันเป็นปัญหาธรรมชาติ และก็เพิ่งเกิดในจีนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และผมก็คิดว่ามันก็เป็นธรรมชาติของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน"

สำหรับประเด็น "การมีลูกคนเดียว" ซึ่งอาจจะมีผลเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการทำงานนั้น อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ระบุว่า

"ผมคิดว่ามี (ผลเกี่ยวเนื่อง) นะ คือ อันนี้เป็นปัญหาใหม่ของโลก (หัวเราะ) ผมอยากจะใช้คำนี้ เพราะว่าจีนเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่มีนโยบายเรื่องลูกคนเดียว ฉะนั้น ในแง่ของพัฒนาการของมนุษย์คนจีนที่เติบโตขึ้นมาภายใต้นโยบายนี้ มันเป็นพัฒนาการที่สามารถเห็นได้เลยว่า มันแตกต่างจากเด็กทั่วโลก นั่นก็คือ อันนี้เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกด้วย

ผมหมายความว่าอย่างนี้ สมมุติว่าในประเทศเสรีที่ไม่ได้มีนโยบายนี้ สมมุติว่าครอบครัวใดแม้แต่ในครอบครัวสังคมไทย หลายๆ ครอบครัว เราก็เห็นว่ามีลูกคนเดียว ใช่ไหมครับ แต่ว่าถ้าถามว่า การมีลูกคนเดียวในสังคมไทยกับการมีลูกคนเดียวในสังคมจีนแตกต่างกันไหม ผมว่ามันแตกต่างกัน เพราะว่าสังคมไทยมีลูกคนเดียวเป็นเพราะเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่มาจากนโยบาย คือ เพียงแต่ว่าคนเองไม่อยากจะมีคนที่ 2, 3, 4 แต่สังคมจีนไม่ใช่ สังคมจีนหลายๆ ครอบครัวต้องการมี 2, 3, 4 แต่ไม่สามารถมีได้ ทีนี้พอเป็นอย่างนี้ การฟูมฟักลูกคนเดียวที่มีอยู่เนี่ย มันเลยทำให้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของเด็กรุ่นใหม่ของจีนเปลี่ยนไป แตกต่างไปจากเด็กอื่นๆ

ฉะนั้นความเข้าใจต่อปัญหาก็อาจจะแตกต่างไปจากเด็กอื่นๆ การสัมผัสความทุกข์ยากก็อาจจะแตกต่างไปจากเด็กอื่นๆ ซึ่งจะไปโทษเขาก็ไม่ได้เพราะว่า ภายใต้นโยบายอย่างนี้ แล้วเกิดมีลูก และพอลูกโตอายุสัก 20, 30 ปี ในขณะที่พ่อแม่อยู่ในวัยที่ไม่สามารถมีลูกได้อีกต่อไป แล้วลูกคนนั้นเกิดอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง มันเป็นเรื่องที่ยากแก่การทำใจมาก

ฉะนั้น การเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน อย่างที่ครั้งหนึ่งเคยมีคำเชิงล้อเลียนใช่ไหมว่า 'จักรพรรดิองค์น้อย' คือ เด็กเหล่านี้ 'จักรพรรดิองค์น้อย' มันก็เกิดขึ้น

ฉะนั้น ผมไม่แปลกหรอกถ้าหากว่าจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น 'บัณฑิต' แล้ว... คือ ถ้าเป็นภาษาไทยเขาจะเรียกว่า 'หยิบโหย่ง' หรือ 'เหลาะแหละ' ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างนี้ เนื่องจากว่าเขาถูกอบรมหรือถูกเลี้ยงมาอย่างนี้ แต่ผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องของวุฒิภาวะ คือ ถ้ามาถึงจุดจุดหนึ่ง เมื่อเขามีวุฒิภาวะ เขาก็รู้เองว่ามันเป็นอย่างไรนะครับ"

(IN/LING)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040