ดอกโบตั๋น เป็นดอกไม้ประจำชาติของจีน ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ประชาชนจีนนิยมและรักดอกโบตั๋นอย่างมาก ดอกโบตั๋นที่ขึ้นชื่อที่สุดในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน เมืองหลวงเก่าของจีน แต่ปัจจุบัน ที่กรุงปักกิ่ง ก็มีสวนโบตั๋นที่สวยงามทีเดียว ชื่อเทียนเซียงหยวน เจ้าของสวนคือ นาย จี้ เวิงเหยียน เป็นชาวบ้านธรรมดาปักกิ่ง เขาเล่าว่า เขาชอบโบตั๋นเป็นชีวิตจิตใจ หลายปีที่แล้ว เขารู้สึกว่า โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ แต่ไม่ใช่ดอกไม้ที่ทุกคนจะมีโอกาสได้เห็น ไม่ใช่ทุกคนมีโอกาสเดินทางไปเมืองลั่วหยาง บ้านเกิดดอกโบตั๋น ถ้าจะให้คนจีนมีโอกาสชมโอตั๋น ก็ต้องพยายามปลูกในทั่วประเทศจีน ฉะนั้น ด้วยความคิดที่ว่า ถ้าจะให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ที่สวยงามที่สุดของโลก ก็ควรปลูกให้ทั่วโลกก่อน เมื่อปลายปี 2005 เขาได้ลงทุนประมาณ 5 ล้านหยวน เช่าที่ประมาณ 45 ไร่ในเขตฝางซาน ชานเมืองปักกิ่ง เริ่มปลูกโบตั๋น จนถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไป 6 ปีแล้ว โบตั๋นที่เอามาจากเมืองลั่วหยางก็ชินกับอากาศและดินที่ปักกิ่งแล้ว มีกว่า 160 พันธุ์ประมาณ 4 หมื่นต้น มีนักท่องเที่ยวที่กลับมาจากเมืองลั่วหยางชมว่า โบตั๋นที่ปักกิ่งงามกว่าที่ลั่วหยางด้วยซ้ำ
เจ้าของสวนบอกว่า โบตั๋นจะบานในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ฉะนั้น รายได้จากบัตรเข้าชมจะไม่มากเท่าไร พอเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเท่านั้น แต่เขามีความภาคภูมิใจกับสวนโบตั๋น และพยายามทำเป็นธุรกิจ เพาะปลูกโบตั๋นในห้องที่อุ่น ให้บานในช่วงฤดูหนาว เช่น เทศกาลตรุษจีน และเปิดจำหน่ายต้นโบตั๋นด้วย ขณะนี้ ได้เริ่มเปิดโฮมสเตย์
นางหลี่ ซวน ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลเผยจีพาเด็กๆไปชมโบตั๋น ก่อนที่จะพาเด็กๆมาชมโบตั๋น ได้สอนความรู้เกี่ยวกับดอกโบตั๋น เช่น สีของดอกโบตั๋นมีสีอะไรบ้าง เวลาดูดอกไม้ห้ามเด็ดดอกไม้ และระมัดระวังผึ้ง เป็นต้น หลังกลับไปแล้ว จะให้เด็กๆวาดภาพโบตั๋นออกมาด้วย ซึ่งสำหรับครูใหญ่เอง เธอก็คิดว่าโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ การพาเด็กมาชมดอกโบตั๋น หนึ่งก็คืออยากอบรมให้เด็กมีความรักชาติ สองคือเป็นโอกาสให้เด็กๆออกมาจับมือเที่ยวด้วยกัน ให้แต่ละคนมีความรักดูแลกัน
เมืองลั่วหยางเป็นเมืองโบราณที่มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า อุดมด้วยดอกโบตั๋น
ดอกโบตั๋นลั่วหยางมีชื่อเสียงโด่งดังนานมาแล้ว ซึ่งมีประวัติการปลูกต้นโบตั๋นมานานกว่า 1,600 ปี โดยพัฒนาจากพืชที่ขึ้นตามป่า จนกลายมาเป็นไม้ประดับ ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมลั่วหยางกลายเป็นแหล่งกำเนิดของดอกโบตั๋น มีตำนานเล่าขานกันอย่างแพร่หลายว่า
ครั้งหนึ่งในช่วงฤดูที่อากาศหนาวจัด พระนางบูเช็กเทียนหรืออู่เจ๋อเทียน จักรพรรดินีในสมัยราชวงศ์โจว อยู่ๆ นึกอยากชมดอกไม้สวยๆ จึงมีคำสั่งให้ดอกไม้ทั้งหมดในเมืองฉางอาน (ซึ่งปัจจุบัน เรียกว่าเมืองซีอาน) บานพร้อมกัน บรรดาดอกไม้ประเภทต่างๆ เมื่อได้รับคำสั่งนั้นก็ตกใจ และด้วยความกลัวจึงพากันเบ่งบานโดยพร้อมเพรียง มีแต่เจ้าดอกโบตั๋นเท่านั้นที่แข็งขืนไม่ยอมบาน เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ถึงฤดูกาล หากดอกโบตั๋นบานก็จะเป็นการผิดกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ
เมื่อพระนางบูเช็กเทียนเมื่อเห็นว่าดอกโบตั๋นไม่ยอมบาน จึงสั่งให้ขุนนางเอาไฟเผาเสีย จนดอกโบตั๋นต้องยอมบาน เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่ากันต่อๆ มาว่าทำไมก้านดอกโบตั๋นจึงดูแห้งและมีสีเข้มเหมือนถูกไฟเผา อย่างไรก็ตาม แม้สุดท้ายดอกโบตั๋นจะยอมบาน แต่พระนางบูเช็กเทียนก็ทรงยังไม่พอพระทัย สั่งให้ย้ายดอกโบตั๋นทั้งหมดออกจากฉางอานไปไว้ที่ลั่วหยาง และนี่เองเป็นสาเหตุว่าทำไมลั่วหยางจึงกลายเป็นถิ่นถาวรของดอกโบตั๋นในที่สุด
ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในงานศิลปะตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น ภาพวาด งานเย็บปักถักร้อย โดยถือเป็นดอกไม้แห่งเกียรติยศและความร่ำรวย จึงปรากฎให้เห็นในงานสำคัญและถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของจีนด้วย
ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังและสมัยราชวงศ์ซ่ง ดอกโบตั๋นที่สง่างามล้ำเลิศก็เป็นที่นิยมชื่นชอบของประชาชนชาวจีน แม้ราชวงศ์ต่างๆ จะเปลี่ยนผ่านไป แต่ดอกโบตั๋นได้ครองฐานะเป็นราชินีแห่งดอกไม้มาโดยตลอด ไม่เคยหวั่นไหวเลย ในสายตาของคนจีนทั่วไป ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีดอกไม้ชนิดไหนมีอิทธิพลลึกซึ้งยาวนาน มีชื่อเสียงโด่งดัง และมีฐานะสูงส่งเท่าดอกโบตั๋นเลย
ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ขนาดใหญ่ มีกลิ่นหอม มีความสวยงามที่ดอกไม้อื่นไม่สามารถเทียบเทียม ที่สำคัญดอกโบตั๋นมีความหมายพิเศษสำหรับคนจีน เป็นตัวแทนของความมั่งมีศรีสุข ความร่ำรวย สิริมงคล และเป็นสัญลักษณ์ของฐานะอันสูงส่ง
ดอกโบตั๋นของลั่วหยางเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งแต่ปีค.ศ.1983 เป็นต้นมา ทางการเมืองลั่วหยางก็มีการจัดเทศกาลดอกโบตั๋นขึ้นทุกปีอย่างคึกคัก จากขนาดเล็กๆ จนกลายเป็นขนาดใหญ่อลังการ จนสร้างชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกพากันไปเยี่ยมชมดอกโบตั๋นที่เมืองลั่วหยางมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนถึงปีนี้ เทศกาลดอกโบตั๋นที่เมืองลั่วหยางจัดมาได้ 29 ครั้งแล้ว ช่วงจัดงาน ทุกหนแห่งของเมืองลั่วหยางเต็มไปด้วยดอกโบตั๋นหลากสีนานาพันธุ์ เสมือนเป็นทะเลดอกโบตั๋น ปัจจุบัน ดอกโบตั๋นนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ เช่นสวนโบตั๋นเทียนเซียงหยวนที่กรุงปักกิ่ง ก็ถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของงานเทศกาลดอกโบตั๋น ที่เมืองลั่วหยาง มีสวนโบตั๋นกว่า 20 แห่ง มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 7,000 ไร่ มีโบตั๋นกว่า 40 ล้านต้น และ1,100 สายพันธ์ ทั้งกลีบชั้นเดียว กลีบซ้อนหลายชั้น และกลีบที่ซ้อนมากที่สุด บางชนิดมีถึงกว่าร้อยชั้นดูวิเศษงดงาม เป็นพันธุ์ที่พบได้น้อยมาก
สีที่โดดเด่นสะดุดตามากที่สุดก็คือสีแดงกำมะหยี สีชมพูช็อกกิ้งสีชมพูสดนับเป็นสีแห่งความสิริมงคลและนำมาซึ่งโชคลาภ และสีดำ สีเขียวเข้ม สีทอง สีม่วงอีกหลายสีที่ผสมพันธุ์ใหม่ก็ดูสวยงามแปลกตาดี
เมืองลั่วหยาง
จากกรุงปักกิ่งไปยังเมืองลั่วหยางระยะทาง 813 กิโลเมตร ไปได้ทั้งเครื่องบินและทางรถไฟ ไปเครื่องบินใช้เวลาชั่วโมง 50 นาที หากไปทางรถไฟ 9 ชั่วโมง 40 นาที นอนไป 1 คืนพอดี
ลั่วหยาง เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในสมัยสงครามระหว่างรัฐ (จ้านกั๋วก่อนคริสต์กาล 403-221 ปี) อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของลั่วหยางนี้มีมาก่อนหน้านั้นยาวนานนับพันปี เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตพื้นที่การดำรงชีพและการปกครองของบรรพบุรุษชาวจีนมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดย ณ พื้นที่อันเป็นเมืองลั่วหยางในปัจจุบันก็ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายทั้งในสมัยเซี่ย (ศตวรรษที่ 21-17 ก่อนคริสต์ศักราช) ซาง (ศตวรรษที่ 17-11 ก่อนคริสต์ศักราช) โจวตะวันตก (ศตวรรษที่11 - 771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
วัดไป๋หม่า หรือ วัดม้าขาว เมืองลั่วหยาง สร้างขึ้นเมื่อสมัยราชวงศ์ฮั่น วัดม้าขาวถือว่าเป็นปฐมสังฆาราม หรือ วัดพุทธแห่งแรกในประเทศจีน โดยกว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา วัดแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ผ่านยุคสมัยรุ่งเรือง และร่วงโรยของพุทธศาสนาในประเทศจีนมาก็มาก กระทั่งปัจจุบัน อารามที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นต่างก่อสร้างขึ้นในสมัยหมิงและชิงทั้งสิ้น โดยวิหารพระใหญ่เป็นสิ่งก่อสร้างหลักของวัด แผนผังวัดม้าขาว เป็นรูป 4 เหลี่ยม มีพื้นที่กว้าง 4 หมื่นตารางเมตร
ปัจจุบันมีอาคารศาลาต่างๆ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปฝ่ายมหายานมากมาย สร้างสมัยแตกต่างกัน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ราชวงศ์หยวน มีห้องโถงต่างๆ เช่น ห้องเทพเจ้าแห่งสวรรค์ ห้องประดิษฐานพระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ห้องพระไวโรจนะ ห้องแนะทางสวรรค์ ในแต่ละห้องมีพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์ทั้งห้าพระองค์ มีหอพระไตรปิฎก ภายนอกวัดมีพระเจดีย์อิฐ เป็นพระเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ยังมีศิลาจารึกตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง รวมแล้วกว่า 40 หลัก ด้านหน้าวัดทั้งสองข้าง มีรูปม้าแกะสลัก 2 ตัวขนาดเท่าตัวจริง แกะสลักจากหินทรายสมัยราชวงศ์ซ่ง วัดม้าขาวยังคงเป็นสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่พุทธศาสนิกชนประเทศต่าง ๆ จำนวนมากไปนมัสการ
(In/Ping)