จีนต้องค่อยๆ ลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ
  2011-06-13 14:42:23  cri

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วเป็นต้นมา จีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 เดือน โดยขณะนี้ จีนถือครองพันธบัตรสหรัฐมูลค่า 1.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเป็นเจ้าหนี้เบอร์หนึ่งของสหรัฐฯ

จีนเคยถือครองพันธบัตรสหรัฐมูลค่าสูงถึง 1.17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สหรัฐฯเริ่มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 อีกทั้งยังมีวี่แววที่เศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นาน เศรษฐกิจสหรัฐก็ตกอยู่ในภาวะซบเซาอีก ความเชื่อถือต่อพันธบัตรสหรัฐก็ลดน้อยลงมาก จีนจึงจำเป็นต้องลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน

หลังจากสหรัฐฯเกิดวิกฤตการเงินเมื่อสองปีที่แล้วเป็นต้นมา หนี้สาธารณะของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปลายปีที่แล้ว สหรัฐก่อหนี้สาธารณะใกล้ถึงระดับสูงสุดที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สถาณการณ์เช่นนี้ รัฐบาลสหรัฐฯมีแผนจะเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ จึงจำเป็นต้องขายพันธบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้ความเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง

สื่อมวลชนรายงานว่า เนื่องจากงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯไม่เพียงพอ เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังสหรัฐจึงต้องระงับการออกพันธบัตรกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐบาลออกไปจนกว่าจะถึงเดือนสิงหาคม เพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระทางการเงินที่หนักอึ้งเกินไป

สื่อมวลชนรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้หนี้สินของสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ รัฐบาลและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุความเห็นเป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับมาตรการลดอัตราการขาดดุล การลดงบประมาณภาครัฐ และการกำหนดเพดานการก่อหนี้ของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการลดงบประมาณ โดยอ้างว่าเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ภาครัฐต้องปิดหน่วยงานราชการบางแห่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับสวัสดิการของประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นการขัดขวางมาตรการทุ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ปัญหายังไม่ร้ายแรงถึงขั้นรัฐบาลสหรัฐไม่มีเงินเหลือที่จะใช้จ่าย แต่กระทรวงการคลังได้เริ่มสำรองงบประมาณเพื่อการใช้จ่ายฉุกเฉินบ้างแล้ว พร้อมส่งสัญญาณเตือนไปยังสภาคองเกรสว่า หากยังไม่ผ่านความเห็นชอบให้รัฐบาลสามารถเพิ่มเพดานหนี้ได้ภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลอาจไม่เหลืองบประมาณเพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนข้าราชการอีกต่อไป

ผลกระทบในระยะแรกจะมีต่อหน่วยงานภาครัฐที่จะขาดงบประมาณในการใช้จ่ายด้านต่างๆ ตั้งแต่เงินเดือนข้าราชการ ไปจนถึงด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งปัญหาเหล่านี้รัฐบาลสหรัฐสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ ด้วยการนำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้จ่ายล่วงหน้า ในกรณีที่สภายังไม่อนุมัติให้ขายพันธบัตรหรือก่อหนี้ได้

สินทรัพย์เหล่านั้นมีมูลค่ารวมกันนับล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพียงพอที่จะประคับประคองระบบต่อไปได้ โดยเฉพาะเม็ดเงินจากหุ้นของสถาบันการเงินที่รัฐบาลใช้เข้าไปกอบกู้วิกฤตการเงิน รวม 142, 000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเม็ดเงินในรูปของทองคำ มูลค่า 375,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

การก่อหนี้เพิ่มขึ้นของสหรัฐยังจะส่งผลกระทบต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะเจ้าหนี้อันดับต้นๆ ของสหรัฐ เช่น จีน และประเทศในเอเชีย

ทางการจีนเริ่มไม่แน่ใจว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังเป็นสกุลเงินหลักในระบบทุนสำรองของโลกได้หรือไม่ และเมื่อไม่นานมานี้ทางการจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐออกมารับประกันมูลค่าพันธบัตร เนื่องจากยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐมีแนวโน้มพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ในขณะที่เงินตราต่างประเทศสำรองของจีนส่วนใหญ่ อยู่ในรูปพันธบัตรสหรัฐ

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะต้องใช้เม็ดเงินในการอัดฉีดครั้งนี้ถึง 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จนถึงกลางปีหน้า เท่ากับว่าจะมีการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวด้วยวงเงินเดือนละ ประมาณ 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ใกล้เคียงการอัดฉีดครั้งแรก ที่เฉลี่ยเดือนละ 7.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะส่งผลให้ปริมาณเงินในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเข้าอัดฉีดเม็ดเงินครั้งนี้ จะส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า กระทบต่อเงินหยวนต้องแข็งค่า และจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งจะส่งผลต่อราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันที่จะปรับตัวสูงขึ้น

นักวิเคราะห์ยังกล่าวว่า ขณะนี้เป็นห่วงสภาพคล่องจากการพิมพ์ธนบัตรของสหรัฐ เพื่อซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐ จากโครงการซื้อสินทรัพย์รอบสอง จะเกิดแรงกดดันทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลก เพราะราคาโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน จะสูงขึ้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อตามมา ในขณะที่สภาพคล่องของสหรัฐก็ยังคงมีอยู่

ขณะเดียวกันเมื่อผลตอบแทนในสหรัฐต่ำ เงินทุนก็จะเคลื่อนย้ายมาลงทุนในเอเชีย รวมถึงจีน ทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอีก ซึ่งจีนและเอเชียอาจประสบภาวะฟองสบู่ในตลาดโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นได้ หากไม่ดูแลให้ดี

อย่างไรก็ดี จีนไม่สามารถสลัดพันธบัตรสหรัฐได้อย่างเด็ดขาด เพราะในฐานะที่จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ การลดปริมาณการถือครองพันธบัตรจะทำให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า ซึ่งการอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐจะยังผลให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น กระทบต่อมูลค่าและปริมาณการส่งออก

ด้วยสาเหตุเหล่านี้ เมื่อเร็วๆ นี้ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน จึงเรียกร้องรัฐบาลสหรัฐรับประกันมูลค่าพันธบัตรเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่จีนถือครองอยู่นั้นจะได้รับการปกป้อง นอกจากนี้ นายเวินกล่าวว่า จีนมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่จีนถือครองอยู่

ส่วนธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า การที่จีนนำเงินตราต่างประเทศสำรองจำนวนมหาศาลไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเป็นเรื่องของกลไกตลาด ไม่มีเรื่องการเมืองแอบแฝงแต่อย่างใด และจีนเชื่อว่า การลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีนและสหรัฐ

ด้านนักวิเคราะห์ทั้งในจีนและต่างประเทศให้ความเห็นเหมือนกันว่า พันธบัตรสหรัฐเป็นหนึ่งในการลงทุนที่มีความปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นแหล่งลงทุนที่สามารถรองรับการสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน ที่มีจำนวนมหาศาลได้ ในขณะที่ตลาดภายในประเทศของจีนเองยังใหญ่และปลอดภัยเพียงพอที่จะดูดซับเงินตราต่างประเทศสำรองของจีนได้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
经济
v จีนลดจำนวนพันธบัตรสหรัฐฯที่ถือไว้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว 2011-05-17 13:00:18
v จีนถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกาลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน 2011-03-16 15:07:55
v จีนถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันมา 3 เดือน 2010-11-17 13:07:25
v เดือนสิงหาคมจีนยังคงเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ 2010-10-19 13:22:39
v เดือนกรกฎาคมจีนเพิ่มจํานวนการถือพันธบัตรสหรัฐฯ 2010-09-17 12:00:44
v เดือนมิถุนายนนี้ จีนถือพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง 2010-08-17 12:42:08
v จีนยังคงเป็นประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ 2010-03-16 11:06:42
v สาเหตุที่จีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ 2010-02-25 20:04:31
v จีนลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯไม่ได้หมายความว่าจะลดการถือครองดอลล่าร์สหรัฐฯไปด้วย 2010-02-17 18:11:49
v เดือนพฤศจิกายนปี 2009 จีนลดถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกาน้อยลงจำนวน 9300 ล้านเหรียญสหรัฐ 2010-01-20 17:50:22
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040