จีนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
  2011-07-04 15:14:32  cri

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 12 ของจีนระบุว่า จะเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในเศรษฐกิจประชาชาติ คำว่า "อุตสาหกรรมหลัก" มีคำจำกัดความอย่างคร่าว ๆ คือเป็นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึงอย่างน้อย 2 ล้านล้านหยวนในปี 2558

การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมรวมถึงการขยายอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ละครโทรทัศน์ และการแสดงในสาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการขยายอุตสาหกรรมวัฒนธรรมครั้งใหญ่โดยตั้งเป้าเพื่อการส่งออก

รัฐบาลจีนมองว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสมดุลระหว่างการสร้างการเติบโตของจีดีพีกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย

ปีหลังๆ นี้ รัฐบาลจีนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการศึกษาด้านการออกแบบที่ผลิตนักออกแบบออกสู่ตลาดปีละกว่า 10,000 คน การจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในเมืองขนาดใหญ่และกลาง การเปลี่ยนพื้นที่โรงงานร้างให้เป็นศูนย์ศิลปะ การดำเนินโครงการให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการกระตุ้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

ปักกิ่งเป็นเมืองนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เมื่อปี 2545 ปักกิ่งได้จัดตั้งศูนย์ศิลปะแห่งแรกขึ้น เพื่อดึงดูดศิลปินและธุรกิจการพิมพ์ ศูนย์ศิลปะแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 400,000 ตารางเมตร ก่อนที่จะมาเป็นศูนย์ศิลปะขนาดใหญ่ใช้แสดงผลงานงานศิลปะ และผลิตสินค้าศิลปะ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่ถูกทิ้งร้างไปกว่า 20 ปี จนเมื่อศิลปินกลุ่มหนึ่งต้องการใช้พื้นที่บริเวณนี้และร้องขอจากรัฐบาลหลายครั้ง ในที่สุดก็สามารถตั้งศูนย์ศิลปะแห่งนี้ขึ้น ศูนย์ศิลปะแห่งนี้เรียกสั้นๆ ว่า "ศูนย์ศิลปะ 798" ตามชื่อของโรงงานอุตสาหกรรมในเขตนี้ที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1950

ศูนย์ศิลปะ 798 เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยมีการจัดแสดงศิลปะ และได้สร้างมูลค่าเพิ่มจำนวนมากให้แก่กรุงปักกิ่ง ภายในศูนย์ศิลปะแห่งนี้ มีเทวรูปขนาดยักษ์องค์หนึ่งที่จัดแสดง ซึ่งสร้างจากขี้เถ้า และก้านธูปจำนวนมหาศาลที่ถูกทิ้งตามศาลเจ้าและวัดต่างๆ ผสมกับปูนซีเมนต์ เป็นตัวอย่างงานศิลปะที่สร้างสรรค์จากสิ่งของไร้ค่ามาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีซากรถไฟที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อหลายสิบปีก่อน จัดแสดงในศูนย์ศิลปะแห่งนี้ เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ความสูญเสียครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในจีน

ปัจจุบันศูนย์แสดงศิลปะ 798 มีชื่อเสียงระดับโลก บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น นายฌากส์ โร้ก ประธานโอลิมปิกสากล นายแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมัน นายนิโคลัส ซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายโฮเซ่ มานูเอล ดูเรา บาร์โรโซ ประธานสหภาพยุโรปเคยมาเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะแห่งนี้

ศูนย์ศิลปะ 798 เป็นเพียง 1 ใน 12 พื้นที่อุตสาหกรรม วัฒนธรรมของกรุงปักกิ่ง "ซ่งจวง" เป็นศูนย์อุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง ตั้งอยู่ในเขต "ทงโจว" ห่างจากใจกลางกรุงปักกิ่งประมาณ 30 กิโลเมตร บริเวณนี้ เป็นแหล่งรวมของศิลปะแขนงต่าง ๆ อาทิ ศิลปะดั้งเดิม การสร้างภาพยนตร์แอนิแมชั่น และการออกแบบสร้างสรรค์ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนพื้นที่ เพื่อให้ศิลปินมาปลูกบ้านและสำนักงานอยู่ในบริเวณนี้ และเมื่อศิลปินที่อยู่ในบริเวณนี้เสียชีวิตแล้ว บ้านของพวกเขาก็จะตกเป็นของรัฐ ซึ่งรัฐจะพัฒนาบริเวณนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยงเชิงศิลปวัฒนธรรมต่อไป

ปัจจุบัน ภายในบริเวณ "ซ่งจวง" มีศิลปินเข้ามาตั้งสำนักงานและสร้างบ้านแล้วหลายพันคน ซ่งจวงได้สร้างรายได้เฉลี่ยปีละประมาณ 300 ล้านหยวน จากการท่องเที่ยวและขายผลงานศิลปะ

ตามแผนพัฒนากรุงปักกิ่งระยะยาว ปักกิ่งจะพัฒนา "ซ่งจวง" ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศภายในปี 2563

จากข้อมูลของเทศบาลปักกิ่ง ปีหลังๆ นี้ ปักกิ่งได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมหลายประการ และได้สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้โดยลงทุน 5,000 ล้านหยวน ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 สูงถึง 149,770 ล้านหยวน คิดเป็น 12.6% ของจีดีพีกรุงปักกิ่ง และในปี 2553 มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของกรุงปักกิ่งสูงถึง 160,000 ล้านหยวน

อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมจีน ปีหลัง ๆ นี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเติบโตขึ้นอย่างมาก เมื่อเร็วๆ นี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานวิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติจีนเผยว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีน เติบโตขึ้นอย่างมากทั้งด้านปริมาณภาพยนตร์และรายได้จากการฉายภาพยนตร์ เมื่อปีที่แล้ว จีนสร้างภาพยนตร์กว่า 500 เรื่อง ละครโทรทัศน์ 13,000 ตอน แอนิเมชั่นทางโทรทัศน์ 130,000 นาที สร้างรายได้จากการฉายภาพยนตร์กว่า 10,000 ล้านหยวน ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 30% ต่อเนื่องกัน 6 ปี ภาพยนตร์จีนที่ทำรายได้สูงสุดได้แก่เรื่อง "แผ่นดินไหวเมืองถังซาน" ของผู้กำกับ "เฝิงเสี่ยวกัง" ทำรายได้กว่า 600 ล้านหยวน และภาพยนตร์เรื่อง "คนท้าใหญ่ " ของผู้กำกับ "เจียงเหวิน" ซึ่งฉายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สามารถทำรายได้กว่า 700 ล้านหยวน

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า แม้ว่าเมื่อปีที่แล้วอุตสาหกรรมภาพยนต์จีนได้สร้างรายได้ 10,000 ล้านหยวน ( ประมาณ5 หมื่นล้านบาท) แต่ยังถือว่าห่างไกลจากมูลค่าตลาดโลกอยู่มาก และยังห่างไกลกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนี้ ความหลากหลายของภาพยนตร์ยังคงน้อยอยู่ ประเภทของหนังยังอยู่ในขั้นการเลียนแบบและผลิตซ้ำ ขาดการพัฒนาด้านการสร้างสรรค์และการเข้าถึงประชาชนทั่วไป และขาดการตอบสนองต่อแรงกดดันด้านการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่ ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนจึงสามารถเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แผ่นดินใหญ่จีนยังมีแผนจะร่วมมือกับไต้หวันในการสร้างงานแอนิเมชันระดับโลก แหล่งข่าวจากหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของจีนเผยว่า แผ่นดินใหญ่จีนและไต้หวันจะร่วมกันสร้างตัวละครในการ์ตูนจีนให้เทียบชั้นระดับโลก บริษัทแอนิเมชั่นกว่า 10 รายจะร่วมกันพัฒนาแอนิเมชันจีน โดยในเร็วๆนี้ จะเปิดสำนักงานในเขตเทคโนโลยีจงกวนชุนในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงของชาติ เปรียบเสมือนซิลลิคอนแวลลีของจีน

ผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมการ์ตูนและแอนิเมชั่น เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่แข็งแกร่งของกรุงปักกิ่ง ด้วยศักยภาพของกรุงปักกิ่ง และนวัตกรรมชั้นเลิศของไต้หวัน การร่วมมือในเชิงลึกของทั้งสองฝ่ายจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างงานแอนิเมชั่นหรือการ์ตูนของชาวจีนได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อุตสาหกรรมวัฒนธรรมของจีนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนสูงถึง 40 ล้านล้านหยวน แต่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมมีมูลค่าเพียง 1 ล้านล้านหยวนเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนเพียง 2.5% ของจีดีพี เท่านั้น ตัวเลขนี้ต่ำกว่าประเทศพัฒนาอยู่มาก เช่น อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีมูลค่าเป็นสัดส่วนกว่า 15% ของจีดีพี ส่วนของสหรัฐอเมริกาสูงถึง 30% แต่ของจีนยังไม่ถึง 5% ดังนั้น ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของจีนจึงยังไม่เป็นอุตสาหกรรมหลักในเศรษฐกิจประชาชาติ จีนยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก จึงจะสามารถเพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมในเศรษฐกิจประชาชาติให้มากขึ้น

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040