อินทนิล อิน ไชน่า:ฝันปีมังกร-ฝันทีละบรรทัด
  2012-01-09 17:14:37  cri
สวัสดีปีมังกรทองคะนองฟ้า หวังว่าปีนี้จะสุขสันต์

สุขภาพกายใจแกร่งขึ้นทุกวัน สมานฉันท์วิน-วินทุกถิ่นเอย

ถ้าเป็นปีใหม่สากลก็ถือว่ามาช้าไป 9 วัน เพราะวันนี้วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พุทธศักราช 2555 แต่ถ้าเป็นปีใหม่จีนก็ถือว่าทักเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เพราะว่าตรุษจีนปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 23 มกราคม และถ้าเป็นปีใหม่ไทยก็...ฮ่าฮ่าฮ่า เมษาโน่น

คุณว่าไหม? วันเดือนปีเคลื่อนผ่านไวปานจรวด เดี๋ยวปี เดี๋ยวปี

แล้วปีใหม่กับความฝันก็เป็นของคู่กันเสียด้วยซิ พอปีใหม่เราก็ฝันล่ะว่าปีนี้จะเป็นยังไง เราจะทำอะไรบ้าง หลายอย่างที่ฝันแล้วเป็นจริง ผ่านกระบวนการคิด มาสู่การลงมือทำ ผ่านความเพียรพยายาม เผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากบ้างน้อยบ้าง จากฝันที่เลือนลางสู่ความเป็นจริง อาจจะได้หน้าตารูปทรงที่บิดเบี้ยวไปไม่ตรงกับที่ฝันไว้นัก หรือ สมบูรณ์กว่าที่คาดไว้เยอะ พวกนี้เป็นฝันสีทอง กับอีกประเภทฝันสีหมอก ไม่ก่อเป็นรูปร่วงสักทีอาจจะแค่ฝันให้มันสนุกเข้าไว้ ก็ยังดีที่ได้ฝัน หรือ ฝันว่าจะทำอย่างนั้นจริง ๆ พยายามแล้ว แต่มันไม่สำเร็จ เอาน่าอย่าพึ่งท้อ ฝันกันใหม่ เพราะบางฝันมันต้องใช้เวลานาน นับหลายสิบปี กว่าที่มันจะสำเร็จเป็นจริงได้ ของเพียงอย่าทิ้งฝันนั้นไปก่อนละกัน

ท่านหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดี คุณแม่ศรีสรรค์ พรหมหา คุณแม่ของเพื่อ噢ร่วมงานดิฉัน คุณพัลลลภ สามสี นั่นเอง....

คุณแม่ฝันเรื่องเรียนมาตั้งแต่เด็ก อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน

"อยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน สมัยก่อนจนมาก แล้วพอเข้ามากรุงเทพฯ สมัยโน้นเขาก็จะให้เด็กในพื้นที่นะคะ ถ้าเราไม่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่เราก็ไม่สามารถเรียนได้"

แม้ไม่ได้เรียนในระบบ แต่ก็ไม่ทิ้งฝัน ใช้ชีวิตประจำวันสานฝันให้เป็นจริง

"ตะลุยอ่านทุกอย่างที่เป็นตัวหนังสือ ตัวหนังสือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดที่เราขาดหายไป ก็เลยจะเก็บเกี่ยว กระดาษปลิวมาริมทางก็หยิบขึ้นมาอ่าน ถุงกล้วยแขกก็แกะมาอ่าน อ่านทุกอย่างเจออะไรก็อ่านดะไปหมด มีความรู้สึกว่าความรู้มันเต็มไปหมดเลย หันไปทางนี้หนังสือก็ใช่ความรู้ นั่นก็ความรู้ นี่ก็ความรู้(หัวเราะ) เรียกว่าอะไรที่เป็นตัวหนังสือแล้วเราอ่านได้ เราจะอ่านหมด เก็บมาเป็นประโยชน์ได้หมด สิ่งนี้ได้มาจากการฟัง เมื่อก่อนตอนเป็นเด็ก 8- 9 ขวบ ฟังวิทยุอยู่รายการหนึ่ง แต่เสียดายจำชื่อนักจัดรายการไม่ได้แล้ว เขาบอกว่า 1 ปี มี 365 วัน ถ้าเราหาความรู้ได้วันละอย่าง ปีหนึ่งเราก็จะมีความรู้เพิ่มขึ้นตั้ง 365 อย่าง จำที่เขาบอกมา เวลาออกไปนอกบ้านไปไหน ๆ อย่างนั่งรถเมล์ก็จะมองไปนอกหน้าต่าง ดูว่าวันนี้เราจะหาประโยชน์จากการออกนอกบ้านได้อยบ่างไรบ้าง บางทีก็จะทำอะไรสักอย่างแล้วมาจดว่าวันนี้ฉันได้ความรู้ 1 อย่างแล้ว

เก็บวันละอย่าง อย่างที่เขาแนะนำ"

การเป็นนักสังเกต นักอ่าน นักจดให้ประโยชน์กับชีวิตหลายอย่างปูทางสู่สิ่งที่ฝัน

"ได้ประโยชน์เยอะนะคะ เพราะเมื่อไม่ได้เรียนในโรงเรียน แต่เราไปเก็บเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น จำได้ว่าไปเรียนที่สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย องค์การทหารผ่านศึกเขาสอนฟรี โอ้โห วิชาเยอะแยะไปหมด มีความรู้สึกว่า นี่ฉันต้องตักตวงเอาให้หมดเลย เขาสอนอะไรก็อยากเรียนหมด ยกเว้นพวกรำพวกฟันดาบ ทั้งภาษาดอกไม้ เสื้อผ้า ขนม ก็จะไปนั่งฟังเขาสอนภาษาอังกฤษหน่อย แล้วก็ไปเรียนทำดอกไม้ เรียนถัก เรียนทำขนม คือจะงก เรียนเยอะไว้ก่อน กะว่าวันหนึ่งข้างหน้าวิชาพวกนี้มันต้องช่วยฉันได้ จะคิดอยู่สองมิติซ้อน ๆ กันอยู่อย่างนี้ เตือนตัวเองอยู่อย่างนี้"

การเป็นเด็กบ้านนอก เด็กต่างจังหวัดที่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ มหาวิทยาลัยชีวิตอย่างกรุงเทพฯ มีหลายสิ่งหลายอย่างให้เรียนรู้ ให้ต่อสู้ และเก็บเกี่ยวเอามาเป็นประสบการณ์

"เราต้องต่อสู้ ต้องมานะบากบั่น เพราะเราพื้นฐานการศึกษาก็น้อย การต่อสู้ในเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องสู้ยิบตาถึงจะอยู่รอด"

การต่อสู้ต้องมีแพ้และชนะ เวลาแพ้ล่ะ ทำยังไง

" ส่วนมากเลย เวลาแพ้ก็ตั้งสติ เอาใหม่นะ ฉันยังสู้ได้อยู่ จะคอยปลอบใจตัวเอง เพราะไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ส่วนมาก ถ้าไม่จดบันทึกก็จะอ่านหนังสือหรือทำอะไรสักอย่าง เพื่อปลุกตัวเอง จะปลุกตัวเองไว้เสมอว่า เธอล้มไม่ได้นะ เธอแพ้ไม่ได้นะ เพราะไม่มีใครช่วยฉุดเธอ เธอต้องลุกขึ้นมาเองให้ได้"

เมื่อถามว่าคุณแม่เริ่มจดบันทึกตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบที่ได้คือ เริ่มอย่างจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่อายุ 14 ก่อนหน้านั้นก็ทำแต่ไม่ปะติดปะต่อ พออายุ 14 ก็มีไดอารี่เล่มแดง เป็นสมุดจ๋าประจำตัว ที่เป็นเสมือนเพื่อนที่ให้เขียน ให้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจลงไป ซึ่งบางทีก็เขียนไปร้องไห้ไป

"บางทีเราเหมือนกับมองชีวิตใครอยู่ แต่จริง ๆ มันคือชีวิตของเราเอง พอมาอ่านย้อนมันซ้อน ๆ กันอยู่ มันเพ้อฝันอ่ะคะ เป็นคนเพ้อฝันมาตั้งแต่เด็ก พอไม่สมหวังอะไรมันก็จะเศร้า จะระบาย แล้วก็ซ้ำซ้อนอยู่คนเดียว เมื่อก่อนตอนเป็นเด็ก ก็จะพูดคนเดียวเป็นสองคนคุยกัน ในวัยเด็กไม่ค่อยมีเพื่อน เป็นลูกคนจนก็เหมือนกับถูกจัดแยกออกมาจากสังคม แล้วไม่มีพ่อด้วยก็เป็นความกดดัน เวลาเล่นก็จะพูดเป็นสองเสียง เธอมาซื้อของนะ ฉันจะขายให้เธอนะ อะไรอย่างนี้ ก็ทำเสียงเล็กเสียงน้อยอยู่คนเดียว(หัวเราะ) บางทีก็คิดเอ๊ะ เราฟุ้งซ่านไปหรือเปล่า"

จากคนที่ผิดหวังเรื่องเรียน อยากเรียนแล้วไม่ได้เรียน คุณแม่บอกว่าชีวิตก็เลยวนเวียนอยู่กับเรื่องเขียนเรื่องอ่าน วันหนึ่งเคยถามลูกชายว่า

"หนู…แม่เป็นอะไรก็ไม่รู้ แม่มีความรู้สึกอยากบอกเล่า แม่มีความรู้สึกว่าอยากเขียน ลูกก็บอกว่า สงสัยแม่อยากเป็นนักเขียนมั้ง ก็พูดกันเล่น ๆ แล้วก็หัวเราะ เมื่อหลาย(ลากเสียงยาว)ปีมาแล้ว ไม่รู้ลูกชายยังจำได้ไหม?"

ลูกชาย(คุณพัลลภ)มีส่วนทำให้ฝันของคุณแม่เป็นจริง

"ลูกช่วยมากเลยค่ะ ก็พอคุยกับเขาผ่านเอ็มเอสเอ็น พอนาน ๆ เข้าความที่ว่าลูกเคยเป็นบรรณาธิการ ก็เลยคิดว่าสมมติตัวเองเขียนนวนิยายอะไรขึ้นมา ก็จะรู้กันแค่สองคน แล้วก็จะให้ลูกเอาความเป็นบรรณาธิการของเขามาวิจารณ์ให้แม่หน่อย แค่ได้รับคำวิจารณ์จากลูก ก็ดีใจมาก แล้วก็มาสมมติเองว่าเราเขียนหนังสือนะ แล้วบรรณาธิการคนนี้เขาคอมเม้นท์ให้เรา ก็แอบปลื้ม ตอนนั้นไม่คิดหรอกค่ะว่ามันจะมาเป็นหนังสือได้ อะไรได้ มีความสุขมากค่ะ"

"ฝันทีละบรรทัด"คือชื่อหนังสือที่คุณแม่เขียนขึ้นมา

พอเขียนหนังสือเสร็จ คุณแม่มีความรู้สึกสบายใจได้ปลดปล่อย

"ตั้งแต่เป็นเด็ก จนถึงช่วงก่อนเขียนหนังสือ ก็มีความรู้สึกว่ามีคนคอยบอกบทให้ หรือเรากำลังบอกเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง อยู่ตลอดเวลา พอเขียนหนังสือออกมาแล้ว ความรู้สึกอย่างนั้นถูกผ่องถ่ายออกไป ความรู้สึกที่ว่ามีคนบอกบทว่าต้องเขียนอย่างนี้ ๆ ซึ่งก็คือใจเรา มันหายไปแล้ว ตอนนี้รู้สึกโล่ง สบาย ที่ได้แคะ ได้แซะสิ่งที่อยู่ในใจออกมาบอกเล่าให้ใคร ๆ ได้รู้"

เมื่อถามว่าฝันที่จะเป็นนักเขียนเกิดขึ้นมานานหรือยัง

"นานมาก(ลากเสียงยาว) มันซ่อนอยู่ลึก ๆ มีความรู้สึกซ้อน ๆ กันว่า อยากจะเขียน อยากจะเล่า อยากจะบอกอะไรที่อยู่ในใจของตัวเองให้ใครสักคนได้รู้ ความรู้สึกอย่างนี้มันเกิดขึ้นมานานมาก"

ผลตอบรับจากหนังสือเล่มนี้ ได้ผลดีเกินคาด จากที่คิดว่าแค่ได้เป็นหนังสือก็ดีใจจะแย่อยู่แล้ว

"เจอใครตอนนี้เขาก็จะทักว่า ดีใจด้วยนะคะป้า หรือบางคนก็เรียกพี่ แล้วก็บอกว่าเก่งจังเลย ไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้ เราก็เขินเลย(หัวเราะ)

"ฝันทีละบรรทัด"ทำให้คุณแม่มีเพื่อนมากขึ้น แถมบางครั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ที่มีความสนใจเรื่องการเขียน

"เมื่อคืนนี้ก็มีหนุ่มน้อยนักศึกษาคนหนึ่ง เขาคุยมาทางเฟซบุ๊ค เขาบอกว่าเขาอยากเป็นนักเขียนอะไรอย่างนี้ ตัวเราเองก็ยังไม่เก่ง แต่ก็แนะนะบางส่วนไป เขาก็ดีใจมาก ก็คงจะทำให้เยาวชนอีกหลาย ๆ คนที่เขาอยากจะฝันตรงนี้ เขาจะกล้าที่จะเดิน กล้าที่จะก้าวออกมาจากความคิดของเขา"

เล่ามาซะยาวทีเดียวสำหรับชีวิตที่ไม่ทิ้งฝัน แม้นานวันก็ไม่ท้อ จนฝันก่อร่างเป็นจริงของคุณแม่ศรีสรรค์ หรหมหา อย่าท้อนะคะ ฝันต่อไป เพราะยังไงยังไงปีนี้ก็ปี สองพันห้าร้อยห้าสิบห้า 555 เหมือนเสียงหัวเราะ ฮ่าฮ่าฮ่า ยังไงยังงั้น ขอให้ได้หัวเราะกันนะคะ

(เรื่องเสียง 555 นี้ เพื่อคนจีนที่ไม่รู้ภาษาไทยเล่นเอ็มกับดิฉันสงสัยว่า เวลาเขาถูกใจจะเขียน hahaha ….(เหมือนเสียงหัวเราะมา) ทำไมดิฉันเขียน 555 แปลว่าอะไร ก็เลยบอกเขาว่า 555 ก็ออกเสียงเหมือน hahaha นั่นแหละ)

คุณว่าไหม? ระหว่างเสียงหัวเราะกับเสียงร้องไห้ ไม่ว่าจะปีไหน ๆ เราก็อยากได้ยินเสียงหัวเราะมากกว่าเสียงร้องไห้ จริงไหม?

อินทนิล ปลดเปลื้อง

 

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040