หนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ลงนามในเอกสารเกี่ยวกับการยกเลิกการคว่ำบาตรพม่า คำแถลงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุ สหรัฐฯยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าบางประการเกี่ยวกับ "ญัตติป้องกันการค้ามนุษย์" และอนุมัติให้สหรัฐฯดำเนินการสนับสนุนทางเทคโนโลยีแก่พม่าสำหรับการประเมินผลอย่างมีข้อจำกัดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก โดยระบุว่า การประเมินผลขององค์กรการเงินระหว่างประเทศจะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการรับรู้สภาพเศรษฐกิจของพม่า
คำแถลงระบุว่า สหรัฐฯยังคงมุ่งสนับสนุนรัฐบาลพม่าดำเนินการปฏิรูปและความร่วมมือ แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาต่างกล่าวว่า พม่าต้องมีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จึงจะยกเลิกการคว่ำบาตรได้ ปัจจุบัน ข้ออ้างการคว่ำบาตรพม่าของสหรัฐฯคือญัตติเกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตยของพม่าที่ผ่านเมื่อปี 2003 ซึ่งญัตติฉบับนี้ห้ามองค์กรภายในสหรัฐฯปล่อยเงินกู้หรือช่วยเหลือทางเทคโนโลยีแก่พม่า
ตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นมา ออสเตรเลีย นอร์เวย์และหลายประเทศพากันประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าบางประการ และลบรายชื่อจำกัดการท่องเที่ยวและการใช้บริการทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าบางส่วน เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา สหภาพยุโรปเห็นด้วยที่จะผ่อนปรนการคว่ำบาตรพม่า ยกเลิกการห้ามให้วีซ่าแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง แต่ยังรักษาข้อจำกัดอื่นๆ สหภาพยุโรปกล่าวว่า จะตัดสินใจนโยบายผ่อนปรนการคว่ำบาตรอีกตามการปฏิรูปของพม่า
เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้แสดงท่าทีสนับสนุนยกเลิกการคว่ำบาตรพม่าในที่ประชุมที่จัดขึ้นที่ประเทศกัมพูชา อาเซียนจะประกาศคำแถลงอย่างเป็นทางการในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 20 ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ที่ประเทศกัมพูชา
พม่ากำลังพิจารณาอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศร่วมสังเกตการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเพิ่มเติมในต้นเดือนเมษายนนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้ประเทศตะวันตกผ่อนปรนการคว่ำบาตร วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งพม่าได้รับรองสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านเป็นครั้งแรก
(In/Ping)