ซีอาร์ไอ: สวัสดีครับ/ค่ะ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการพิเศษของภาคภาษาไทย สถานีวิทยุซีอาร์ไอ วันนี้ได้รับเกียรติจากท่านวิบูลย์ คูสกุล เอกอัครราชทูตไทยคนใหม่ ประจำกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้โอกาสเราได้พูดคุยถึงประวัติความเป็นมาและความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-จีน ขอเชิญพบกับท่านวิบูลย์ คูสกุล สวัสดีครับ/ค่ะท่านทูต ในโอกาสที่ซีอาร์ไอเป็นสื่อจีนแห่งแรกที่ท่านมาเยือนหลังเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำจีน ท่านเห็นว่า ซีอาร์ไอมีบทบาทอย่างไรในการส่งเสริมมิตรภาพจีน-ไทย
ท่านทูต: ผมให้ความสำคัญอย่างมากนะครับ มารับหน้าที่แล้วก็ตั้งใจจะมาเยี่ยมซีอาร์ไอ เพราะว่าซีอาร์ไอเป็นสื่อเป็นสะพานเชื่อมที่มีเครื่องมือภาษาไทย มีหน้าที่มีบทบาทเชื่อม สาน เสริมสร้างความเข้าใจ มีบทบาทเหมือนสะพานระหว่างคนไทยคนจีน หรือคนจีนที่ฝึกภาษาไทยหรือคนไทยที่ต้องการจะเข้าใจประเทศจีน จึงคิดว่ามีบทบาทสำคัญมาก วันนี้จึงตั้งใจที่จะมาเยี่ยมจริงๆ
ซีอาร์ไอ: จากการที่ท่านเคยเป็นกงสุลใหญ่ประจำคุนหมิงและนครเซี่ยงไฮ้ คราวนี้ได้กลับมาจีนเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตประจำจีน ท่านรู้สึกอย่างไรที่ได้กลับมาจีนอีกครั้ง
ท่านทูต:รู้สึกดีมากครับ เมื่อสักครู่ได้เรียนท่านรองบรรณาธิการใหญ่ท่านหม่า พวกเราคนพุทธเรานับถือศาสนาพุทธ เราเชื่อในเรื่องของบุพเพสันนิวาส จริงๆ แล้วผมเคยอยู่ปักกิ่ง แล้วก็เคยเป็นกงสุลใหญ่ที่เซี่ยงไฮ้ ที่คุนหมิง แล้วตอนนี้ได้มาเป็นทูตประจำที่ปักกิ่ง ผมดีใจ รู้สึกว่าตัวเองควรได้มาทำอะไรที่เป็นประโยชน์จริง ๆ ในส่วนนี้ แล้วก็สิ่งที่ตั้งใจไว้ ที่ได้บอกไปส่วนหนึ่ง ในขณะนี้ผมมองอยากจะมองความสัมพันธ์ไปในระยะยาว 5 ปี 10 ปี 20 ปีข้างหน้า ตอนที่รองประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิงเยือน ก็ประสบความสำเร็จดียิ่ง ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากนอกจากความตกลงทางด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ แล้ว ท่านก็ยังไปที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปที่สถาบันขงจื๊อ ผมก็ได้มีโอกาสพูดกับท่านทูตจีนประจำประเทศไทย ท่านทูตฯ "กว่านมู่管木" ว่า เราน่าจะมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ทางด้านซอฟท์พาวเวอร์นี้ให้มากขึ้น เพราะมีความสำคัญมากในความเข้าใจ และขณะเดียวกันการเยือนครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมของไทยในประเทศจีน ทั้งสองส่วนนี้อาจจะเป็นฮาร์ตแวร์นะครับ แต่สิ่งที่สถานีวิทยุทำและที่ผมอยากจะทำก็คือเราหาทางทำซอฟต์แวร์ มาป้อนสิ่งเหล่านี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และเป็นพื้นฐานรองรับความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวของไทยกับจีน
บทบาทของซีอาร์ไอในเรื่องนี้ ภาษาจีนเรียกว่า "จวี่จู๋ชิงจ้งเตอจั้วย่ง 举足轻重的作用" (หมายถึง เป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไทยและจีน) มีความสำคัญอย่างยิ่ง ผมจึงให้ความสำคัญ เพราะผมเองก็เคยเป็นผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงของกระทรวงการต่างประเทศ "วิทยุสราญรมย์" เพราะฉะนั้นถ้าวันหลังจะมีความร่วมมือในส่วนนี้ผมจะดีใจมากครับ
ซีอาร์ไอ:นอกจากท่านได้กลับมาเยือนจีนอีกครั้งตามที่ท่านกล่าวมา ท่านมีโครงการหรือแผนอะไรที่เห็นว่าควรเดินหน้าเป็นอันดับต้นๆ
ท่านทูต:อาจจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือผมคิดว่ารัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญอย่างมาก การเยือนของท่านรองประธานาธิบดีสีจิ้นผิงครั้งที่แล้ว ก็ได้มีการลงนามในเอ็มโอยู 4 ฉบับ มีความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ เรื่องบุคลากร เรื่องพลังงาน เรื่องรถไฟความเร็วสูง เรื่องคมนาคม อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งสองฝ่ายต้องการให้เห็นความร่วมมือแล้วก็เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนของทั้งสองประเทศ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องติดตาม นายกฯไทยก็จะมาเยือนประมาณเดือนเมษายน
แล้วก็ยังมีการเสด็จของพระราชวงศ์ที่สำคัญมากอย่างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านก็จะเสด็จเดือนเมษา อันนี้เป็นงานหลักส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งโครงการที่ผมคิดอยากทำ อย่างเช่น การออกมาพบปะกับสื่อ ในการพูดคุยผ่านสื่อต่าง ๆ
เพื่อให้เข้าถึงประชาชนจีน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างไทย-จีน แล้วก็วางพื้นฐานสำหรับความสัมพันธ์ในอนาคตต่อไป
รวมถึงเรื่องเยาวชนต่อไปด้วย เราอยากจะทำโครงการเหล่านี้ครับ มีการแลกเปลี่ยนมากขึ้นระหว่างเยาวชน มีการพูดคุยมีการเสริมสร้างความเข้าใจในโครงการรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ที่เป็นลักษณะทำเป็นซอฟต์แวร์ อย่างศูนย์วัฒนธรรมของไทย หรือสถาบันขงจื๊อของจีนก็ตาม ควรจะมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ในแง่ของการเข้าถึงประชาชน ซึ่งผมก็ตั้งมั่นมั่นใจว่าอยากจะทำในสิ่งนี้นะครับ อยากจะเดินออกไป อย่างมาพบกับซีอาร์ไอวันนี้
ผมเพิ่งกลับมาจากอี้อู ก็ไปคุยกับที่อี้อู พรุ่งนี้มะรืนนี้ผมก็จะเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ไปกว่างโจว
ไปพบปะกับสื่อมวลชน ไปพูดคุยกับแวดวงต่างๆ ทั้งทางด้านธุรกิจต่างๆ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำเพราะคิดว่าสำคัญในการที่เราจะต้องออกไปพบปะเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ
ซีอาร์ไอ:ต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการเปิดประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน และสภาปรึกษาการเมืองประชาชนจีน ท่านทูตฯ สนใจประเด็นอะไรและคาดหวังอะไรจากการประชุมดังกล่าว
ท่านทูต:ผมติดตามและให้ความสนใจในพัฒนาการ รู้สึกชื่นชมในการพัฒนาประเทศ ในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ขณะนี้ของจีนอยู่ปีที่2ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน5ปีฉบับที่ 12 สิ่งที่สำคัญนะครับ ผมคิดว่าความต่อเนื่องของนโยบายสำคัญมากและจะต่อเนื่องไปถึงสปาต้า(การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน) พอปลายปีนี้ก็จะมีการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดผู้นำสูงสุดของจีน ผมเน้นเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายเป็นสำคัญแล้วก็เรื่องของเศรษฐกิจ เหตุที่พูดอย่างนี้ เพราะผมมั่นใจ ผมเชื่อว่าความมั่นคงและความมั่งคั่งของจีนในการพัฒนา มีประโยชน์และเกื้อกูลต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค อันนี้สำคัญมาก คือ ความมั่นคงและมั่งคั่งของจีนก็คือความมั่นคงและมั่งคั่งของภูมิภาคของไทยด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงให้ความสนใจ อยากเห็นจีนพัฒนามีความมั่นคงเพราะว่าจะเสริมสร้างให้ภูมิภาคนี้รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดและประเทศอื่นๆในภูมิภาค มีความมั่งคั่งและมั่นคงด้วย ขอให้มองได้เลยว่าประโยชน์ของจีนที่มีการพัฒนาขึ้นมา และมีความมั่นคงหรือมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่เกื้อกูลต่อภูมิภาค เพราะฉะนั้นจึงดีใจในความต่อเนื่องของสิ่งเหล่านี้
ซีอาร์ไอ:ขณะนี้ประเทศอาเซียนกำลังเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 อีกทั้งยังมีการเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้สถานการณ์นี้ท่านเห็นว่าทั้งจีนและไทยควรปรับตัวอย่างไรให้สอดคล้องกับการเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะมาถึง
ท่านทูต:อย่างที่เราทราบกัน ขณะนี้เขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนยังใช้ประโยชน์น้อยมาก แค่ 10-15 % ผมคิดว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์ให้มากกว่านี้ แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีการเตรียมการระหว่างจีนกับอาเซียน สิ่งที่อยากจะเน้นก็คือว่า ถ้าจะมองจริงๆแล้วขณะนี้ผมว่าจีนก็ได้ให้ความสำคัญมากแล้วก็ได้มีการเตรียมการ อันที่หนึ่งคือ โครงข่ายทางคมนาคม
ผมโชคดีได้ไปเป็นทูตที่ลาวและเป็นกงสุลใหญ่ที่คุนหมิง ก็เลยโชคดีที่ได้เห็นภาพรวม
เราเน้นเรื่องโครงข่ายคมนาคมของอาเซียน ถ้าสร้างเสร็จแล้วจีนจะมีหนานหนิงเป็นประตูสู่อาเซียน ถนนR3พอเสร็จแล้ว "คุนมั่นกงลู่昆曼公路(Kunming - Bangkok Road) " ก็จะผ่าน เพราะฉะนั้นประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญมาก เป็นประตูของจีนที่จะสู่อาเซียนด้วย เมื่อเรามองศักยภาพทางด้านนี้แล้ว ทำให้มีกำลังใจ เพราะว่าถนนอาร์สามนี่กำลังจะเสร็จ แล้วก็โครงข่ายคมนาคมทั้งหมดที่มีอยู่ ก็เริ่มแล้วระเบียงเศรษฐกิจ East-West Economic Corridor (ระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก : EWEC) หรือว่า North-South ขณะนี้ก็กำลังจะเสร็จแล้ว แล้วสะพานที่ห้วยทรายเชียงของก็กำลังจะเสร็จ
สามารถทะลุลงไปจากคุนหมิง ผ่านสะพานแล้วก็ถึงจังหวัดทางภาคเหนือของไทยได้เลย
เพราะฉะนั้นเมื่อโครงข่ายคมนาคมอาเซียนเสร็จแล้ว ไทยก็จะอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคม แล้วจีนก็มีหนานหนิง เพราะฉะนั้นเราอยู่ในฐานะพิเศษกว่าอาเซียนอื่นที่จะร่วมมือกัน
ผมก็มองไปถึงเรื่องอื่นด้วย การไหลเวียนของสินค้า ผลไม้ไทย จากไทยมาจีน จากจีนไปไทยโดยใช้เส้นทางเหล่านี้
เพิ่มมากกว่าเส้นทางแม่น้ำโขงที่มี ไทยตอนนั้นอาจจะเสียเปรียบเพราะต้องทวนน้ำขึ้นมา แต่หลังจากโครงข่ายเสร็จแล้ว อันนี้ก็จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะเชื่อมจีนกับอาเซียน
อีกส่วนที่สำคัญคือ ในแง่ของการไหลเวียนของอย่างอื่นด้วย มันจะเกิดเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา หรือความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ในส่วนนี้ จีนก็พร้อมอยู่แล้ว และขณะนี้เราก็มีความพร้อมอยู่แล้วที่จะพัฒนาความร่วมมือเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญมาก จีนบอกว่าปัจจัยสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการ จีนเชื่อว่า หนึ่ง "เทียนสือ天时" มาในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งเราก็มีแล้ว สอง "ตี้ลี่地利" ไทยกับจีนยังอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุด สามเรายังได้ในเรื่อง "เหรินเหอ人和" เรื่องคน สองฝ่ายมีการประสานติดต่อกัน ร่วมมือกัน ใกล้ชิดกันทางด้านวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราได้เปรียบมากระหว่างไทยกับจีน พวกเรามีครบปัจจัยของความสำเร็จที่จะร่วมมือกันในส่วนนี้ ผมดีใจที่สิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้น
ซีอาร์ไอ:ถ้าประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้เชื่อมต่อกันก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้อย่างมาก เรียนเชิญท่านทูตฯ ให้เกียรติกล่าวกับแฟนซีอาร์ไอ ท่านอยากกล่าวอะไรมากที่สุด
ท่านทูต: ขอบคุณแฟนซีอาร์ไอทุกท่านที่ติดตาม แล้วอยากจะเน้นว่าบทบาทของซีอาร์ไอมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น จากสิ่งที่เราพูดมาทั้งหมด อาเซียน ประชาคมอาเซียน สิ่งที่ซีอาร์ไอทำเป็นเครื่องมือเป็นสื่อเชื่อมความเข้าใจอันสำคัญมาก ที่จะช่วยเสริมสร้าง เชื่อมความเข้าใจ ส่งเสริมให้คนจีนได้เรียนภาษาไทยมากขึ้น คนไทยได้รู้จักประเทศจีนมากขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งสำคัญมากกับการมีปฏิสัมพันธ์ต่อไปในระยะยาวข้างหน้า หวังว่าจะได้มีการร่วมมือ เช่น กับวิทยุสราญรมย์ของไทย กับสถานีอื่นๆ ของไทยได้มากขึ้น เรามาช่วยกันผลิตซอฟต์แวร์ เพื่อป้อนให้กับโครงสร้างต่างๆ ที่มี
ซีอาร์ไอ:ต้องขอขอบพระคุณท่านทูตฯ ที่สละเวลาให้โอกาสทางเราร่วมพูดคุย สิ่งต่างๆ ที่ได้ฟังวันนี้นับว่าเป็นประโยชน์กับแฟนชาวซีอาร์ไอและผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับจีนซึ่งผ่านมุมมองนักการทูตที่มีประสบการณ์และเข้าใจความเป็นจีนอย่างลึกซึ้งโดยรายการนี้จะนำไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยประจำภูมิภาคของไทยที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของเรา และยังนำไปเผยแพร่ที่เว็บไซต์ภาคภาษาไทยของเราที่ thai.cri.cn. ด้วย สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ / ค่ะ