เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพาณิชย์ไทยจัดการสัมมนาในหัวข้อ "ประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 และอนาคต" ที่กรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และนักธุรกิจรวมทั้งสิ้นกว่า 500 คนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ โดยได้อภิปรายในประเด็นทำอย่างไรจึงสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียนตามกำหนดเวลา
ผู้ที่เข้าร่วมการสัมมนามีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องเร่งกระบวนการสู่ประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียนให้เร็วขึ้นเท่านั้น จึงสามารถทำให้อาเซียนมีน้ำหนักมากขึ้นในการต่อรองกับคู่เจรจาทางการค้ารายอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นักวิชาการที่เข้าร่วมการสัมมนาจำนวนหนึ่งแสดงความเห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน มีระบบการเมือง ระบบกฎหมาย และระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่างกัน จึงเป็นอุปสรรคมากในการประสานงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่บางประเทศสมาชิกอาเซียนอยากจะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯจากกรอบความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) จึงเป็นสิ่งที่หลายประเทศสมาชิกอาเซียนรู้สึกกังวล
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนย้ำในที่ประชุมว่า ต้องบรรลุป้าหมายในการปฏิรูป และประสานด้านกฎหมายภายในปี 2015 เพื่อกระตุ้นการค้าและการลงทุนในอาเซียนให้เติบโตขึ้น ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณยังกล่าวว่า แม้ว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้รับปากแล้วว่า จะเปิดประเทศ เพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น แต่ขณะนี้ กฎหมายและกฎข้อบังคับของประเทศต่างๆ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการค้าและการลงทุนในอาเซียน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เรียกร้องนักลงทุนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนใช้โอกาสจากการสร้างประชาคมอาเซียน มีความกล้าที่จะไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ ของอาเซียน ส่วนรัฐบาลต้องสนับสนุนนักธุรกิจให้ไปลงทุนที่ประเทศอื่นเช่นกัน ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องให้การสนับสนุนโดยกล้าที่จะให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจที่จะไปลงทุนที่ประเทศอื่นของอาเซียน
ปัจจุบัน ยอดมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนคิดเป็น 25% ของยอดมูลค่าการค้าอาเซียนเท่านั้น นับเป็นจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประชาคมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในโลก เช่น ยอดมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปคิดเป็น 68% ของยอดมูลค่าการค้าสหภาพยุโรป ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกซบเซา อาเซียนต้องมีการประสานกันทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประเทศสมาชิกต่างๆ ในอาเซียนต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เร่งส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างกัน เพราะการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นจะมีความสำคัญยิ่งต่อการเพิ่มความต้องการภายในอาเซียน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการกระตุ้นให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตขึ้น
(YING/cai)