ปี 2011 วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนทวีความรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาไร้พลัง เศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่เติบโตอย่างเชื่องช้า ด้วยสาเหตุดังกล่าว เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถดถอยมากขึ้น
นักวิเคราะห์หลายๆ คนแสดงความเห็นว่า รู้สึกผิดหวังต่อ เศรษฐกิจโลกในปี 2011 เพราะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นถึงระดับก่อนเกิดวิกฤตการเงิน ส่วนเศรษฐกิจประเทศเศรษฐกิจใหม่มีอัตราเติบโตลดลง จึงคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2012จะขยายตัวอย่างเชื่องช้า สาเหตุประการแรกคือ เศรษฐกิจของบางประเทศยุโรปเริ่มถดถอย การเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลง ประการที่ 2 ประเทศเศรษฐกิจใหม่ใช้นโยบายรับมือกับแรงกดดันจากภาวะเงิเฟ้อ และฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ทำให้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และประการที่ 3 ยังคาดไม่ได้ว่า วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปจะลุกลามไปถึงไหน แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกต่อไปอีก
นายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีและนักลงทุนชาวอเมริกันแสดงความเห็นว่า วิกฤติหนี้ยูโรโซนเกิดขึ้น เพราะการออกแบบสกุลเงินยูโรมีข้อบกพร่อง สนธิสัญญามาสทริชต์ก่อให้เกิดการรวมตัวทางการเงินที่ปราศจากการรวมตัวทางการเมือง สกุลเงินยูโร ทำให้เกิดธนาคารกลางร่วมกัน แต่ไม่มีกระทรวงการคลังร่วมกัน จึงตอบสนองปัญหาได้เชื่องช้ามาก และการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดกับกรีซ นอกจากนั้น ธนาคารกลางยุโรปยังใช้มาตรการปล่อยกู้ระยะยาว เป็นการซื้อเวลา แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอ การบรรลุข้อตกลงด้านการคลังในที่ประชุมสุดยอดอียูครั้งล่าสุด ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งท้ายที่สุด ยูโรโซนก็ต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยุโรปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจโลกอย่างไรนั้น นักวิเคราะห์เห็นว่า วิกฤตหนี้ยุโรปอย่างน้อยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจโลกใน 3 ด้านด้วยกัน ประการแรก จะทำให้ยุโรปมีความต้องการน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของคู่ค้าสำคัญของยุโรป ประการที่ 2 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการผลิตที่ต้องการระดมเงินทุนจากภาคธุรกิจการเงินมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารกลางยุโรปอัดฉีดเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ในที่สุดจะเกิดผลเป็นอย่างไร ยังต้องรอดูกันต่อไป ประการสุดท้าย วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปจะส่งผลกระทบความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้นักลงทุนต้องใช้มาตรการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น กล่าวโดยรวมแล้ว ประเทศเศรษฐกิจใหม่มีช่องว่างที่จะปรับนโยบายการคลัง และการเงินน้อยลงเมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤตหนี้ยุโรป ส่วนประเทศพัฒนาแล้วยิ่งมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจใหม่