ปักกิ่งเพลินเพลิน "ดื่ม (ชา) อะไรก็ได้อย่างนั้น"
  2012-04-05 16:48:50  cri

หากพูดถึงการดื่มชากับชาวจีนแล้ว ถือว่าเป็นวัฒนธรรมการดื่มกินที่มีอายุมากกว่าพันปีที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตประจำวันของชาวจีนได้ ชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่ได้ดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ และเรียกว่า "ฉา" หรือ "เต๊" มาก่อนอย่างน้อย 4,000 ปีก่อนที่ชาจะถูกส่งออกไปลอนดอนเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 1630 เหตุที่คนเราได้รู้จักชาก็คล้าย ๆ กับโฆษณาที่เราเคยดูตามช่องโทรทัศน์ของไทยที่มีซามูไรต่อสู้กันแล้วอีกฝ่ายเสียเปรียบและถูกกดน้ำแต่กลับสดชื่นมีชีวิตชีวา แต่เรื่องจริงนั้นเกิดที่จีน เมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสตศักราช โดยจักรพรรดิ เฉิน หนาง ของจีน ได้เสด็จราชดำเนินและหยุดพักบริเวณพุ่มไม้ ขณะที่นายทหารกำลังต้มน้ำไว้สำหรับดื่มอยู่นั้น ใบไม้ชนิดหนึ่งซึ่งต่อมานักพฤษศาสตร์เรียกมันว่า Cameillia sinesis หรือใบชา ก็ได้ปลิวตกลงในหม้อต้มน้ำขององค์จักรพรรดิ เมื่อจักรพรรดิทรงดื่มน้ำ ก็ทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก และนับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ชาก็เป็นเครื่องดื่มและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ชาวอังกฤษเองยังคงใช้คำแสลงเวลาเรียกว่า "ชา" เช่นเดียวกับกับไทยก็ใช้คำว่า "ชา" มาจนถึงปัจจุบัน

ที่นี่เราลองไปสำรวจตลาดชาในจีนกันดีกว่าว่า มีชาประเภทไหนบ้างที่ได้รับความนิยม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ชาในจีนนั้นมีประมาณ 1,500 ชนิด แต่ชาวจีนได้แบ่งเป็น 7 ชนิดหลักและทุกชนิดนั้นก็มีประโยชน์กับสุขภาพแตกต่างกันไป รวมทั้งราคาเองก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะบอกถึงคุณค่าของชาชนิดนั้นด้วย

 

1) ชาเขียว ชาชนิดนี้ได้รับความนิยมที่สุดในเอเชียและทางฝั่งตะวันตกเช่นเดียวกัน เพราะหัวใจของชาเขียวนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระและป้องกันมะเร็ง ชาเขียวยังเป็นแหล่งอุดมไปด้วย EGCG (Epigallocatechin Gallate) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกตัวที่มีพลังเหนือกว่าวิตามินอีถึง 200 เท่า และยังมีงานวิจัยได้ยืนยันแล้วว่า หากดื่มชาเขียวเป็นประจำแล้วยังจะทำให้ช่วยลดคอลเลสเตอรอล ลดความอ้วน ลดความดันและยังช่วยควบคุมการไหลเวียนของเลือดไม่ให้จับตัวกันอีกด้วย

2) ชาดำ ชาดำนี้มีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีรสชาติที่มีลักษณะเฉพาะตั้งแต่หวานนิดๆ จนถึงขม จัด ซึ่งคงขึ้นอยู่กับผู้ดื่มเลือกตามความชอบของรสชาติและถูกปากถูกใจ ชาดำที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยม เช่น

ชาดำฉีเหมิน ชาดำยูนนาน และชาดำหมินหนานหรือรู้จักกันอีกชื่อว่า ถ่าน หยาง กงฟู

2) ชาอู่หลง ชานี้เป็นนิยมมากในจีนและไทยเช่นกัน ชาอู่หลงที่แพงและมีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ ชาอู่หยี และอีกชนิดหนึ่งของชาอู่หลงคือ เถี่ยกวนอยิน ชาอู่หลงนี้มักดื่มหลังรับประทานอาหารจีน เพราะชานี้จะช่วยลดความเลี่ยนและมันของอาหาร ทำให้ช่วยย่อยอาหารได้เป็นอย่างดีด้วย

4) ชาผูเอ่อ ชาชนิดนี้ต้องปลูกและเติบโตตามตอนใต้ของจีนหรือแถบมณฑลยูนนานเท่านั้นถึงจะขึ้นชื่อว่า เป็นชาผูเอ่อที่มีคุณภาพ ใบชาที่ถูกอัดแน่นจนเป็นก้อนนั้น จะมีอายุการเก็บรักษาใบชาได้นานนับร้อยๆ ปีเลยทีเดียว เอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ จึงทำให้ชานี้เป็นทั้งเครื่องดื่มประจำวัน และเป็นของสะสมของนักดื่มชาทั้งหลายอีกด้วย ชาผูเอ่อมีแบบสดและแบบหมักแล้ว แบบสดหลังจากที่ชงจะมีรสชาติขมฝาดเล็กน้อย ชุ่มคอ สรรพคุณช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท เมื่อดื่มแล้วจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น

ส่วนแบบหมักจะมีสภาพเป็นธาตุ อุ่น ฤทธิ์เป็นกลาง ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ มีประสิทธิภาพในการลดไขมัน ในเส้นเลือดและลดคอลเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังทำให้ไขมันจับตัวกันเป็นก้อนและถูกขับออกจากร่างกายทางระบบขับถ่าย

5) ชาขาว ชาชนิดนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมเท่าชาอื่นๆ แต่ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการดื่มชาเช่นกัน ชาขาวที่มีชื่อเสียงนั้นมาจากชาขาวยูนนาน นิยมนำมาทำเป็นขนมเค้กชาขาวหรืออัดเป็นก้อนคล้ายอิฐและเก็บเป็นของที่ระลึกได้อีกด้วย ชาชนิดนี้เองก็มีสารต้านอนุมูลอิสระไม่น้อยไปกว่าชาชนิดอื่นเช่นกัน

6) ชาเหลือง ปัจจุบันนี้ ชาเหลืองนั้นเพาะปลูกได้ไม่กี่แห่งในจีน ด้วยเหตุผลที่ว่ากระบวนการเพาะปลูกและเติบโตนั้นค่อนข้างดูแลยากและสลับซับซ้อน จึงมีชาเหลืองจากสามแหล่งเท่านั้นที่ได้รับความนิยมและมีชื่อเสียงได้แก่ ชาเหลืองเหมิงติงจากเสฉวน ชาขาวจุนซานจากหูหนาน และชาเหลืองหัวซานจากอันฮุย สรรพคุณของชานี้คือ จะลดคอลเลสเตอรอลและความอ้วนได้เป็นอย่างดี เพราะจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษคือความสดชื่นและยังมีความเผ็ดแบบบางๆ ซ่อนอยู่ในชาด้วย

7) ชาดอกไม้หรือชาแต่งกลิ่นรส ชาชนิดนี้เป็นการผสมผสานรูป รส กลิ่น สีระหว่างใบชาที่มีคุณภาพสูงกับกลิ่นหอม และรสชาติของเกสรดอกไม้ต่างๆ เช่น ชามะลิ ชาส้มโอ ชากุหลาบ เป็นต้น จะให้สรรพคุณแตกต่างไปตามกลิ่น รสและสัมผัสที่ได้รับ แต่ที่เหมือนกันของชาดอกไม้นี้คือ ความรู้สึกผ่อนคลายขณะดื่มชาชนิดนี้

ถึงแม้ในปัจจุบัน ปริมาณการบริโภคชาของชาวจีนจะลดลงไปบ้างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันไปบริโภคกาแฟตามแบบกระแสตะวันตกแทน แต่ก็เป็นตามช่วงวัย หากคนหนุ่มสาวได้ข้ามผ่านไปถึงวัยกลางคนแล้ว พวกเขาก็จะกลับมาบริโภคชาตามวิถีเฉกเช่นเดิม เพราะต้องกลับมารักษาสุขภาพและสรรพคุณที่ได้รับจากการดื่มชานั้นมีประโยชน์มากมายที่หาไม่ได้ในร้านขายยาและขวดบรรจุวิตามินใดๆ สำหรับวันนี้ "คุณได้ดื่มชาหรือยัง"

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040