โคนัน ดอยล์ ได้ประพันธ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่องเชอร์ล็อก โฮลมส์ เป็นเรื่องยาวทั้งหมด 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 54 เรื่องความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮลมส์ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริงและพากันเขียนจดหมายไปที่ "221 บี ถนนเบเกอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ" ซึ่งเป็นบ้านพักของเชอร์ล็อก โฮลมส์ในนวนิยาย แต่บ้านพักที่อยู่นี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1815 ในระหว่างปี 1860-1934 เคยให้เช่า แต่ในนวนิยายเชอร์ล็อก โฮลมส์เคยอาศัยในบ้านหลังนี้ระหว่าง ปี 1881-1902 ต่อมา มีคนซื้อบ้านหลังนี้และสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ขึ้นในปี 1990 นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย ในพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ ได้จำลองของสะสมของโฮลมส์และองค์ประกอบต่าง ๆ ตามที่ระบุในนิยาย เช่น เสื้อคลุม หมวก และคาบไปป์ เป็นต้น หากคุณผู้ฟังสนใจจะไปพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮลมส์ ที่ "221 บี ถนนเบเกอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ"ด้วยตนเอง ราคาบัตรเข้าชมก็ไม่แพงคือ บัตรสำหรับผู้ใหญ่ราคา 6 ปอนด์ และบัตรสำหรับเด็ก 4 ปอนด์
นวนิยายสืบสวนเรื่อง เชอร์ล็อก โฮลมส์มีแฟนๆ ทั่วโลกจำนวนนับไม่ถ้วน จนเมื่อปี 1934 สมาคมเชอร์ล็อก โฮลมส์ได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงลอนดอน และหน่วยลาดตระเวนถนนเบเกอร์ ก็ตั้งขึ้นในกรุงนิวยอร์ก สมาคมทั้งสองนี้ยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนอกจากนี้ ยังมีสมาคมเชอร์ล็อก โฮลมส์ ตั้งขึ้นในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น เดนมาร์ก อินเดีย และญี่ปุ่นด้วย
เชอร์ล็อก โฮลมส์ ได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 60 ภาษาทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีการแปลเรื่อง เชอร์ล็อก โฮลมส์ เป็นภาษาไทยครั้งแรก โดย หลวงสารานุประพันธ์ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสารานุกูล ในช่วงปี พ.ศ. 2469 ต่อมา อ. สายสุวรรณ แปลต้นฉบับเชอร์ล็อก โฮลมส์ จนครบทุกตอนทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวเป็นคนแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ทางสำนักพิมพ์ดอกหญ้าได้นำผลงานแปลของ อ. สายสุวรรณ มาจัดพิมพ์ใหม่ทั้งชุด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ ได้นำเรื่อง เชอร์ล็อก โฮลมส์ทั้งชุดมาแปลใหม่อีกครั้งโดย มิ่งขวัญ แต่ใช้สำนวนแปลและชื่อเรื่องที่ต่างออกไป อย่างไรก็ดี ชุดที่ได้รับการกล่าวขานในกลุ่มนักอ่านว่าดีที่สุด คือ ชุดแปลของ อ. สายสุวรรณ และในปีพ.ศ. 2552 ทางแพรวสำนักพิมพ์ จึงตีพิมพ์ เชอร์ล็อก โฮลมส์ ขึ้นใหม่โดยใช้สำนวนแปลของอ. สายสุวรรณ
Ying/kt