วันที่ 30 เมษายนนี้ นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และนายวอลแตร์ กาซมิน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเจรจากับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศ และนายลีออน พาเน็ตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ด้วยการเจรจาลักษณะ 2+2 ก่อนหน้านี้ นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์เคยกล่าวว่า ระหว่างการเจรจาจะแจ้งรายละเอียดของเหตุเกาะหวงเหยียนให้สหรัฐฯทราบ ต่อการเยือนสหรัฐฯของรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ครั้งนี้ นายฉวี่ ซิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศของจีนกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การเยือนครั้งนี้ดำเนินภายใต้สถานการณ์ที่ฟิลิปปินส์รับแรงกดดันมากจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยหวังจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯในกรณีเกาะหวงเหยียน แต่จากท่าทีของสหรัฐฯในขณะนี้ ฟิลิปปินส์คงยากที่จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
จนถึงวันที่ 30 เมษายนนี้ จีนและฟิลิปปินส์ยังคงประจันหน้ากันที่บริเวณเกาะหวงเหยียน ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลา 20 วันแล้ว ในระหว่างนี้ ฟิลิปปินส์มีการเคลื่อนไหวหลายอย่าง เช่น จัดการซ้อมรบกับทหารสหรัฐฯ และส่งนายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ และนายวอลแตร์ กาซมิน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์เดินทางเยือนสหรัฐฯ นายฉวี่ ซิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศของจีนแสดงความเห็นว่า การที่ฟิลิปปินส์เรียกร้องเกาะหวงเหยียนจากประเทศจีนนั้นไม่มีเหตุผลใดๆ และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะว่า เกาะหวงเหยียนเป็นดินแดนของจีนตั้งแต่โบราณกาล นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ประโคมข่าวและบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประจันหน้ากับจีนในบริเวณเกาะหวงเหยียน ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ต้องรับแรงกดดันมากจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ฟิลิปปินส์จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ
นายฉวี่ ซิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศของจีนกล่าวว่า สหรัฐฯคงไม่ให้การสนับสนุนแก่ฟิลิปปินส์ในเหตุนี้ เขากล่าวว่า สหรัฐฯได้แสดงท่าที 3 ประการอย่างชัดเจนแล้วว่า สหรัฐฯจะเป็นกลาง ประการที่ 2 เส้นทางการเดินเรือ และเสรีภาพการเดินเรือในทะเลจีนใต้ต้องมีหลักประกัน และประการที่ 3 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาด้วยกำลังอาวุธ จากจุดยืน 3 ประการนี้จะเห็นได้ว่า สหรัฐคงไม่ให้การสนับสนุนแก่ฟิลิปปินส์ในเหตุเกาะหวงเหยียน
การเจรจาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์หน้า นายฉวี่ ซิง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปัญหาระหว่างประเทศของจีนเห็นว่า คงไม่นำปัญหาเกาะ หวงเหยีนเป็นประเด็นของการเจรจาครั้งนี้ แต่ถ้าสหรัฐฯอยากรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเหตุดังกล่าวมากขึ้น จีนจะอธิบายข้อเท็จจริง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้สหรัฐฯรับทราบ (YING/cai)