สถาบันวิจัยการท่องเที่ยวจีนประกาศรายงานนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวต่างประเทศประจำปี 2012 ระบุว่า ปี 2012 ตลาดการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวต่างประเทศยังคงจะรักษาระดับการเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่า ปีนี้จะมีชาวจีนไปเที่ยวต่างประเทศจำนวน 78.4 ล้านคน การบริโภคในต่างประเทศจะมีมากถึง 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นการสร้างสถิติใหม่ การจับจ่ายซื้อของในต่างประเทศเป็นรายการใหญ่อันดับที่ 1 ของบัญชีค่าใช้จ่าย
รายงานดังกล่าวระบุว่า เมื่อปี 2011 มีชาวจีนเที่ยวต่างประเทศจำนวน 70.25 ล้านคน เป็น 1.2 เท่าของชาวสหรัฐอเมริกาเที่ยวต่างประเทศ และเป็น 3.5 เท่าของชาวญี่ปุ่นเที่ยวต่างประเทศ ผลการสำรวจระบุว่า นักท่องเที่ยวจีนราว 1 ใน 3 เห็นว่า การซื้อสินค้าเป็นรายการใช้จ่ายสูงที่สุดของการเที่ยวต่างประเทศ ช่วง "สัปดาห์ทองวันที่ 1 ตุลาคม" ของปี 2011 ยอดการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนในเวลาเพียง 7 วัน เท่ากับยอดการบริโภคของตลาดภายในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนประเทศที่เป็นแหล่งจับจ่ายใช้สอยสำหรับนักท่องเที่ยวจีน 5 อันดับแรกคือ ฝรั่งเศส สิงคโปร์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอิตาลี
นางสาวจัง เหม่ยฟาง มัคคุเทศก์บริษัทการท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่ไปมาระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนบ่อยครั้งระบุว่า "ส่วนใหญ่ลูกค้าชาวจีนจะซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพง และซื้อไปจำนวนไม่น้อย" ในสายตาของเธอ สาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อของในสหรัฐฯ มี 2 ประการ คือ ประการแรก ความต่างของราคา เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่จีนแล้ว สินค้าฟุ่มเฟือยในสหรัฐจะถูกกว่าประมาณร้อยละ 30-40 เช่น กระเป๋าเงินที่มีราคาจำหน่ายในจีน 5,000 หยวน แต่ราคาในสหรัฐฯ ประมาณ 3,300 หยวน อีกทั้งยังได้สิทธิพิเศษคืนภาษีด้วย ทำให้ราคาสุดท้ายคิดเป็นประมาณ 2,900 หยวน บางคนเห็นว่า ราคาต่างกันมากถึงขนาดนี้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ไม่ประสงค์จะซื้อก็ตาม แต่สุดท้ายต่างอดใจไม่ได้ที่จะซื้อ และมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ซื้อกลับไปเพื่อเป็นของฝากให้ผู้อื่น
และประการที่ 2 คือ สินค้าแบรนด์เนมที่นักท่องเที่วยซื้อในสหรัฐฯ ล้วนเป็นของจริงตัวจริง ไม่มีของปลอม
ปรากฏการณ์: ในต่างแดนเร่งติดตั้งเครื่องรูดการ์ดและจ้างผู้แนะนำสินค้าเป็นภาษาจีน
ห้างสรรพสินค้าลาฟาเยตต์ (Galeries Lafayette) กรุงปารีสระบุว่า เวลานี้ รายได้ของห้างกว่าร้อยละ 50 มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนอยู่ในอันดับ 1 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 1,000 ยูโรต่อคน
เพื่อเป็นการบริการลูกค้าชาวจีนให้สะดวกยิ่งขึ้น ห้างลาฟาเยตต์ได้จ้างผู้แนะนำสินค้าที่มีความรู้ด้านภาษาจีนกว่า 100 คนทำงานในร้านน้ำหอม เครื่องบำรุงผิว เสื้อผ้า และกระเป๋า ที่ชำระเงินทุกแห่งสามารถรูดบัตรไชน่า ยูเนียน เพย์ได้อีกด้วย
ที่อังกฤษก็เกิดปรากฏการณ์นี้เช่นกัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2010 เป็นต้นมา ผู้ถือบัตรไชน่า ยูเนียน เพย์สามารถรูดบัตรในห้างต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ จากนั้น ห้างหรูหราได้มีการติดตั้งเครื่องรูดบัตรไชน่า ยูเนียน เพย์นั้น ทำให้ยอดการบริโภคจากชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ทางห้างพบว่า ช่วงหลังนี้ ลูกค้าที่พูดภาษาจีนนับวันยิ่งมากขึ้น และคนกลุ่มนี้ "นิยมสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างน่าตกใจ" สินค้าแบรนด์เนมที่ชาวจีนนิยมมากที่สุดคือ แอร์เมส ชาแนล หลุยส์ วิตตอง และดิออร์
การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนกำลังมาแรง
รายงานยังระบุอีกว่า พร้อมกันนี้ การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนในต่างประเทศกำลังมาแรง นอกเหนือจากการหอบหิ้วสิ่งของเต็มกระเป๋ากลับบ้านแล้ว นักท่องเที่ยวจีนนับวันยิ่งเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมอันหลากหลายมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของตลาดนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น อำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น ทั้งเรื่องการทำวีซ่า การผ่านด่านศุลกากร การใช้เครดิตการ์ด รวมถึงการติดฉลากภาษาจีน และการจัดเตรียมมัคคุเทศก์ภาษาจีนในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ
(YING/LING)