ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางไปเยือนประเทศหมู่เกาะคุกเป็นครั้งแรก และนับเป็นครั้งที่ 3 ของนางฮิลลารี คลินตันเดินทางเยือนเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นมา หลังเสร็จสิ้นการเยือนประเทศหมู่เกาะคุกแล้ว นางฮิลลารี คลินตันจะเดินทางเยือนอินโดนีเซีย จีน บรูไน ติมอร์ตะวันออก และรัสเซีย
นายจิน ชั่งหรง รองผู้อำนวยการสถาบันวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยประชาชนจีนแสดงความเห็นว่า การเยือนเอเชียแปซิฟิกของนางฮิลลารี คลินตันครั้งนี้จะเน้น 4 ประเด็นหลัก คือ ประการแรก จะพูดคุยกับผู้นำจีนในปัญหาทางทะเล เช่น ปัญหาเกาะเตี้ยวหยู และปัญหาทะเลจีนใต้ เพื่อควบคุมให้ปัญหาเหล่านี้อยู่ในสภาวะตึงเครียดที่ไม่รุนแรงมาก ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯ ประการที่สอง นางฮิลลารี คลินตันจะอธิบายนโยบายการกลับสู่เอเชียของสหรัฐฯ กับจีน เพื่อให้จีนเชื่อว่า นโยบายนี้ไม่ได้พุ่งเป้าต่อประเทศจีน เพื่อทำให้จีนลดความกังวล ประการที่ 3 จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับจีนเกี่ยวกับประเด็นร้อนระหว่างประเทศในขณะนี้ เช่น ปัญหาซีเรีย อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน อีกทั้งปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ และประการสุดท้าย จะพูดคุยกับผู้นำจีนในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ระหว่างการเยือนประเทศหมู่เกาะคุก นางฮิลลารี คลินตันเน้นย้ำหลายครั้งว่า สหรัฐฯและจีนอยู่ร่วมกันได้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเคลื่อนไหวในเอเชียแปซิฟิกของสหรัฐฯไม่ได้เจาะจงต่อประเทศจีน ทั้งนี้เพื่อลดการคาดการณ์ของผู้คนทั้งหลายที่เห็นว่า สหรัฐฯจะช่วงชิงมหาอำนาจกับจีนในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯเกิดความตึงเครียดมากขึ้น ต่อการนี้ นายจิน ชั่งหรงกล่าวว่า นางฮิลลารี คลินตันพูดในทางที่ดี เราต้องให้การชื่นชม แต่อย่างไรก็ตาม คำพูดดังกล่าวของนางฮิลลารี คลินตัน พูดเช่นเดียวกับผู้นำจีนซึ่งเคยพูดมาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนกล่าวระหว่างเยือนสหรัฐฯว่า จีนกับสหรัฐฯอยู่ร่วมกันได้ในเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือกันนั้นเป็นทางเลือกที่ถูกต้องแต่ทางเดียวของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สหรัฐฯไม่สามารถยับยั้งจีนได้ เพราะต้องมีค่าตอบแทนมาก และเป็นไปไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบ และมีสติ สหรัฐฯต้องเลือกหนทางที่ร่วมมือและพัฒนาร่วมกันกับจีน
(YING/cai)