ช่วงหลังๆ นี้ ข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกรณีอธิปไตยเหนือเกาะเตี้ยวหยูทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ญี่ปุ่นส่งสารครั้งแล้วครั้งเล่าว่า สหรัฐฯ จะหนุนหลังญี่ปุ่นในเรื่องนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การทำให้ปัญหาเกาะเตี้ยวหยูทวีความรุนแรงขึ้นอีกไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก ศ.จิน ช่านหรง รองผู้อำนวยการ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนระบุว่า
"คาดว่านางฮิลลารี คลินตันประสงค์จะมาปรับระดับความร้อนแรงของปัญหาเกาะเตี้ยวหยูที่นับวันเพิ่มขึ้นให้บรรเทาลง เพราะมีอันตรายบางอย่างแฝงอยู่ หากทวีความรุนแรงขึ้นอีกจะไม่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ ซึ่งเป้าหมายทางการเมืองของสหรัฐฯ ในภูมิภาครอบข้างจีนคือ รักษาความตึงเครียดไว้ในระดับต่ำ แต่ไม่ทำให้จีนแข็งกร้าวขึ้น หรือทำให้เรื่องนี้ใหญ่ขึ้น เวลานี้ ปัญหาเกาะเตี้ยวหยูมีแนวโน้มควบคุมได้ยากขึ้น ดังนั้น นางฮิลลารี คลินตันจึงควรมาปรับสถานการณ์ให้ดีขึ้น"
นอกจากเกาะเตี้ยวหยูแล้ว ปัญหาทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกจุดโฟกัสหนึ่งในการเยือนของนางฮิลลารี คลินตันในครั้งนี้ การเยือนเอเชีย-แปซิฟิกครั้งนี้รวมถึงอินโดนีเซีย บรูไน และติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคนี้ ศ.จิน ช่านหรงระบุว่า สำหรับกรณีปัญหาทะเลจีนใต้นั้น การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ประสบความล้มเหลวในการสร้างแนวร่วมต่อต้านจีน ดังนั้น นางฮิลลารี คลินตันจึงประสงค์จะใช้โอกาสนี้เร่งรัดให้ประเทศอาเซียนแสดงจุดยืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเร่งให้จีนรับแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ที่ร่างโดยสหรัฐฯ
รายงานข่าวระบุว่า ระหว่างการเยือนจีน นางฮิลลารี คลินตันจะเจรจากับนายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน และจะพบกับนายหู จิ่นเทา นายเวิน เจียเป่า และนายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนตามลำดับ ทั้งนี้แสดงว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มาก นอกจากนี้ จีนก็เรียกร้องหลายครั้งว่า สองฝ่ายควรใช้แนวคิดสร้างสรรค์ มีปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเปลี่ยนตรรกะดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ที่ว่ามหาประเทศต้องวางตัวเป็นปฏิปักษ์และปะทะกัน และหาแนวทางใหม่เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมหาประเทศในยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัติ
(TON/LING)