จีนมีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ (1)
  2012-10-31 14:13:18  cri

ขณะนี้ เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เศรษฐกิจจีนก็เช่นกัน กำลังเผชิญกับแรงกดดันชะลอตัวที่รุนแรง เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต หรือพีเอ็มไอของจีนประจำเดือนกันยายนอยู่ที่ 49.8% สูงขึ้นจาก 49.2% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งถือเป็นตัวเลขต่ำสุดนับจากเดือนพฤศจิกายน 2011 ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขนี้ก็ยังสะท้อนสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดี

นักวิเคระห์เศรษฐกิจเห็นว่า "ดัชนี พีเอ็มไอ ของจีนยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากตัวเลขดัชนีนี้ต่ำกว่า 50 แต่ถ้าสูงกว่า 50 จึงจะเป็นสัญญาณของการเติบโตขยายตัว

สำหรับประเทศจีน ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น คือการส่งออก และการลงทุน แต่ช่วงเวลานี้อัตราการเติบโตของการส่งออกและการลงทุนของจีนกลับลดลงอย่างฮวบฮาบ เพราะยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินสาธารณะ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่สามารถฟื้นตัวในระยะอันใกล้นี้ ทั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจจีนต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากมาก

นักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนหนึ่งคาดว่า จีนอาจใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่เคยใช้มาเมื่อ 4 ปีก่อนอีกครั้ง โดยจะอัดฉีดเงินมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อรักษาระดับอัตราเติบโตของมวลรวมการผลิต แต่ผู้กำหนดนโยบายของจีนเน้นย้ำว่า จีนจะไม่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลเช่นเดียวกับที่เคยใช้มาเมื่อ 4 ปีก่อน เพราะว่า มาตรการเหล่านั้น ได้นำปัญหามากมายให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 เมื่อเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ และต่อมาได้ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงของโลกอย่างรุนแรงและรวดเร็ว จีนก็เป็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯของจีนทรุดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้จีนต้องหาทางออกในการรักษาระดับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ในที่สุด จีนตกลงใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยอัดฉีดเงิน 4 ล้านล้านหยวนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมาตรการนี้ทำให้จีนสามารถพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้จีนต้องเผชิญกับปัญหานานัปการที่เกิดจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวในช่วงหลายปีหลัง เช่น กำลังการผลิตมีมากเกินความต้องการ เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก เกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง ราคาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายเมืองใหญ่ อาคารที่อยู่อาศัยถูกสร้างไว้เพื่อเก็งกำไร ไม่ได้เพื่อการอยู่อาศัยจริง นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นก็น่าเป็นห่วง

จากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วง 4 ปีหลังที่ผ่านมานี้ จีนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสกัดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยากลำบากและเข้มงวด เช่น สั่งเพิ่มเงินสำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศ เพื่อป้องกันการปล่อยกู้โดยไม่จำเป็น ปรับขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันหลายครั้ง และจำกัดการซื้อบ้านด้วย

เมื่อเร็วๆนี้ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนย้ำว่า จีนจะต้องควบคุมราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์อย่างเข้มงวดต่อไป ปัจจุบัน การปรับราคาอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นภาระกิจสำคัญของรัฐบาล ซึ่งจะต้องเดินหน้าควบคุมอย่างต่อเนื่อง และต่อสู้กับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่พยายามเก็งกำไร ซึ่งถือเป็นนโยบายระยะยาวของรัฐบาล โดยรัฐบาลจีนจะไม่ยอมให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ มาทำลายความพยายามต่อสู้กับปัญหาวิกฤตฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีน

นอกจากปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้นอย่างมาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน ที่เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2008 นั้น ยังทำให้ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่ก่อนหน้านั้นก็มีอยู่แล้วทวีความรุนแรงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติจีน จนถึงปี 2010 รัฐบาลท้องถิ่นจีนมีหนี้สินสาธารณะรวมกันทั้งหมดสูงถึง 107,174.91 ล้านหยวน ในจำนวนนี้ พบว่า มีเงินมากถึง 1,082.53 ล้านหยวนที่ถูกใช้ไปอย่างฉ้อฉล และไม่ชอบมาพากล เช่น การแอบนำไปลงทุนอย่างผิดกฎหมายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น และยังพบความผิดปกติในการรับประกันเครดิต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวย้ำหลายครั้งในเรื่องนี้ว่า รัฐบาลจีนสามารถควบคุมความเสี่ยงและจัดการปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่น ได้ในระดับหนึ่ง ขณะนี้ รัฐบาลกลางจีน กำลังเร่งแก้ปัญหาหนี้รัฐบาลท้องถิ่นดังกล่าว โดยพยายามหาหนทางให้รัฐบาลท้องถิ่นลดการพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์ และมีการทดลองอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ สามารถออกพันธบัตรของตนเองเพื่อระดมทุน อย่างไรก็ดี พันธบัตรดังกล่าวให้ผลตอบแทนต่ำ และส่วนใหญ่ขายให้กับธนาคารพาณิชย์จีน

จากที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ชัดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวนช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลกที่ต่างซบเซาถดถอยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะยุโรป แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ก็ได้นำปัญหาหลายปัญหามาสู่จีน ขณะนี้จีนกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ตกไป และนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจำนวนมากเห็นว่า จีนสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
经济
v จีนมีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านเศรษฐกิจ (2) 2012-10-31 14:25:07
v เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง 2012-10-18 16:19:11
v ผู้เชี่ยวชาญจีนคาดเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4  "แตะจุดต่ำสุดและกระเตื้องขึ้น" 2012-09-25 11:45:32
v นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2012-09-12 13:54:08
v นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2012-09-12 13:51:49
v การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอลงต่อเนื่อง 2012-09-04 15:53:31
v การเติบโตของเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอลงต่อเนื่อง 2012-09-04 15:51:55
v ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจีนในไตรมาสที่ 2 เกินอัตราโดยเฉลี่ยทั่วโลก 2012-08-02 14:10:29
v นายหู จิ่นเทาเป็นประธานการประชุมอภิปรายและพิจารณาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน 2012-08-01 15:26:03
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040