ปักกิ่งเพลินเพลิน "ความหมายและคุณค่าของหงเปากำลังจะเปลี่ยนไป"
  2013-02-21 12:36:18  cri

สัปดาห์นี้ก็ยังถืออยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนส่งท้าย หลังจากนั้นจะต่อด้วยการเฉลิมฉลองเทศกาลโคมไฟหยวนเซียวตอนสิ้นเดือน ทำให้ทุกคนต่างรู้สึกกำลังอยู่ในบรรยากาศวันหยุดพักผ่อนอันยาวนาน และไม่อยากมาทำงานกันเท่าไรนัก สำหรับผู้คนที่ได้กลับบ้านเฉลิมฉลองตรุษจีน คงอยากจะกลับมาทำงานกันแล้ว เพราะบางคนก็ถือว่าได้ใช้เงินทองที่สะสมมาเกือบปีหมดไปกับการฉลองนี้ แต่ก็เป็นไปด้วยความเต็มใจและตั้งใจ

หากได้สอบถามกับบรรดาผู้คนที่ได้กลับบ้านว่า นอกจากจะหมดเงินไปกับการใช้จ่ายดื่มกินแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกบ้างที่เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากและหลักๆ เลย สำหรับคนมีรายได้แล้วจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "การให้หงเปา" นั่นคือธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติการนำเงินใส่ซองแดงแล้วมอบให้กับพ่อแม่และญาติพี่น้องที่อายุน้อยกว่าช่วงเทศกาลตรุษจีน ในสมัยก่อนจำนวนเงินในหงเปาไม่ได้ถูกให้คุณค่าเท่ากับการแสดงถึงความมีน้ำใจ กตัญญูต่อผู้มีพระคุณและไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความมีหน้ามีตาของครอบครัวเหมือนในปัจจุบัน

นายผู่ ได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดและครอบครัวที่ชนบท เขาเป็นคนเดียวที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและได้ทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งสร้างความภูมิใจและเป็นหน้าเป็นตาให้กับครอบครัวยิ่งนัก เพื่อนบ้านต่างคิดว่า เขาร่ำรวยแล้วเพราะเห็นจากการให้หงเปากับพ่อแม่คนละ 4,000 หยวนและให้บรรดาญาติที่อายุน้อยกว่าอีกคนละ 600 หยวน เขาบ่นว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน ยังให้หงเปาซองละ 200 หยวนอยู่เลย แต่สมัยนี้เงินจำนวนน้อยนิดนี้ไม่สามารถหาซื้ออะไรได้ อีกทั้งยังรู้สึกเสียหน้าอีกด้วยหากให้เงินหงเปาจำนวนน้อยนิด เพราะจะทำให้บรรดาญาติและเพื่อนบ้านคิดว่า เขาขี้เหนียว

ส่วนคู่สามีภรรยาแซ่ซุน ได้บอกว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ต้องให้หงเปา รู้สึกกังวลมากเพราะต้องใช้เงินสะสมที่เก็บมาทั้งปีหมดไปกับการให้หงเปากับครอบครัวและญาติพี่น้อง พวกเขาได้มอบหงเปาให้พ่อแม่ของทั้งคู่ๆ ละ 6,000 หยวน รวมถึงมอบผ้าคลุมไหล่แคชเมียร์อย่างดีอีก 2 ผืนให้กับคุณแม่ทั้งสองฝั่ง และยังต้องให้หงเปากับหลานอีก 5 คนๆละ 800 หยวน พวกเขาพยายามเข้าใจว่า มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่ก็ยังอดกังวลใจไม่ได้กับธรรมเนียมที่มีราคาสูงเช่นนี้ ทั้งๆ ที่รายได้ของพวกเขาไม่ได้ขยับขึ้นตามรายจ่ายแต่ละปีเลย อีกทั้งยังปฏิเสธงานเลี้ยงตรุษจีนที่ต้องร่วมลงขันอีกคนละ 300 หยวนไม่ได้อีก เพราะถือว่าเป็นการสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานและเจ้านาย ทั้งคู่ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า "หากให้นึกถึงอะไรในวันตรุษจีนตอนนี้ คงมีแต่ความหวาดระแวงและความปวดหัวในเรื่องรายจ่ายที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ทำให้ไม่มีความสุขกับตรุษจีนเหมือนก่อน" และได้วางแผนตรุษจีนปีหน้าไว้ว่า จะเก็บเงินและขอไปเที่ยวฉลองกันสองคนเท่านั้นที่ทะเลแห่งใดแห่งหนึ่ง ดีกว่าต้องมาเสียเงินมากมายที่ไม่อาจปฏิเสธได้

การให้หงเปานั้นเป็นธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติที่มีมาช้านาน แต่ได้มีความหมายและคุณค่าที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมกังวลว่า การให้หงเปานั้นจะกลายเป็นอื่นไป และหมดคุณค่าลงไปในสักวันในอนาคตข้างหน้า หากผู้คนยังให้ความสำคัญและเข้าใจผิดกับการให้หงเปาเหมือนทุกวันนี้ ซึ่งแท้จริงแล้วการให้หงเปานั้นเป็นการมอบและส่งความสุข ความปรารถนาดีให้กับครอบครัวในวันปีใหม่จีน สมัยก่อนไม่ได้เน้นที่จำนวนเงินแต่อย่างใด มีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ไม่อยากให้ต้องเดือดร้อนและทำให้เกิดทุกข์ใจในช่วงปีใหม่ซึ่งจะทำให้เป็นการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ไม่ดีนัก อีกทั้งการให้หงเปาในปัจจุบันกำลังสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ ทำให้เด็กๆ คาดหวังกับการได้หงเปาเพื่อนำมาใช้จ่ายอย่างสนุกสนานโดยไม่คิดถึงความหมายและคุณค่าของการได้รับหงเปาอย่างแท้จริง การมอบเงินให้เด็กจำนวนมากๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะทำอย่างยิ่งเพราะจะทำให้พวกเขาให้ความสำคัญกับจำนวนเงินมากกว่าความหมายของประเพณีที่ดีงาม

ปัจจุบัน หงเปากลายเป็นตัวแทนของหน้าตาของผู้ให้และสร้างภาระให้กับผู้คนที่ยังไม่มีสติและไม่รู้ทันกระแสที่เปลี่ยนไป หากหันหน้าและชี้แจงกับครอบครังอย่างจริงใจแล้ว ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีจำนวนเงินมากน้อยเท่าไรแต่หงเปาที่ได้รับนั้นมีคุณค่ายิ่งกว่าจำนวนเงินเสียอีก ถือว่าเป็นตัวแทนของการส่งความสุข ความปรารถนาดีและความกตัญญูต่อบุพการี เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของพ่อแม่ในวันตรุษจีน คืออยากให้ลูกหลานกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยเพื่อได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง

สุชารัตน์ สถาพรอานนท์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040