การแสดงหุ่นสิงโตที่ตำบลฮั่วถง เมืองหนิงเต๋อ มณฑลฮกเกี้ยนนั้น มีชื่อว่า "เซี่ยนซือ" หรือ "โชวซือ" "ต่าซือ" เป็นศิลปะพื้นเมืองชนิดหนึ่ง และเป็นรายการกายกรรมประเภทเล่นเชิดหุ่นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
เล่ากันว่า นายหวง จูกง ขุนนางชั้นสูงของราชวงศ์สุย เคยจัดทำชลประทานชักน้ำเข้านาให้ตำบลฮั่วถง สร้างคุณงามความดีแก่ชาวบ้านท้องถิ่น ชาวบ้านจึงรำลึกเขาด้วยวิธีจัดเทศกาลโคมไฟในวันที่ 2 เดือน 2 ส่วนการแสดงเชิดหุ่นสิงโตนั้นเป็น 1 ในรายการโดดเด่นของเทศกาลโคมไฟ และยกย่องจายหวง จูกงเป็นผู้ริเริ่มการแสดง หลังช่วงกลางราชวงศ์หมิง การแสดงเชิดหุ่นสิงโตเป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมเทศกาลพื้นเมือง
ก่อนจัดการแสดง ต้องมีคนจัดทำเวที ประดับไฟและวางแผนวางเส้นเชือก การจัดวางเชือกเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการแสดงเชิดหุ่นสิงโต ต้องมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง แก้วที่คาบในปากสิงโตวิจิตรประณีต มีลูกแก้วเล็กแทรกอยู่ในลูกแก้วอันใหญ่ โดยหมุนได้อย่างอิสระ และประดับไฟด้วย ตอนคืนจะเปล่งแสงสว่างดูเหมือนดวงดาว โครงสร้างหุ่นสิงโตจะทำด้วยไม้ไผ่ และยัดฝ้าย ผ้า และยางไว้ข้างใน ขนสิงโตจะทำด้วยเส้นด้ายพลาสติกหลากสี เนื่องจากผ่านการปฏิรูปจากศิลปินพื้นเมืองมาเป็นเวลานาน ขนาดของตัวสิงโตจากตัวเล็กเท่าหุ่นคนจนพัฒนามาเป็นตัวใหญ่ที่หนักและหนา โครงสร้างมีความสลับซับซ้อน แต่ฝีมือการจัดทำมีการพัฒนาและมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
การแสดงเชิดหุ่นสิงโตจะเชิดกิริยาท่าทางของสิงโตด้วยการดึงเชือก รวมฝีมือทั้งบุ๊นกับบู๊ มีรูปแบบการแสดง 4 ชนิด คือ เดี่ยว(ตัวผู้) คู่(ตัวผู้กับตัวเมีย) สามตัว(ตัวเมียและลูกสิงโต 2 ตัว) และห้าตัว(แม่สิงโตกับลูกสิงโต 4 ตัว) การแสดงหุ่นสิงโตในช่วงแรกคือเดินไปแสดงท่าทางต่างๆ ไปด้วย แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นการแสดงบนเวที และมีเนื้อหาหลากหลายขึ้นหลังการประดิษฐ์คิดค้นจากศิลปิน หุ่นสิงโตจะสามารถแสดงท่านั่ง ย่อขา ตื่นเต้น ขยับตัว และไต่เขา การเล่นกับลูกแก้วนั้นก็มีหลายกิริยาท่าทาง เช่น หาแก้ว วิ่งตามแก้ว และคาบแก้ว การแสดงกิริยิาต่างๆของสิงโตนั้น ล้วนเป็นผลงานจากการเชิดจากเชือกและความร่วมมือจากบรรดาศิลปิน
การแสดงเชิดหุ่นสิงโตที่ตำบลฮั่วถง ไม่เพียงแต่มีเนื้อหาการแสดงหลากหลาย ยังมีรูปแบบการถ่ายทอดพิเศษ โดยจะถ่ายทอดกับผู้ชายเท่านั้น จนทำให้ขาดคนสืบทอดฝีมือ การเล่นหุ่นสิงโตชนิดนี้กล่าวได้ว่าเป็นฝีมือสุดยอดของชนชาติจีน
(Ton/Ping)