นานาทัศนะต่อการประชุมสองสภาจีน: อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร
  2013-03-13 15:31:12  cri

(11 มีนาคม 2556)

บทสัมภาษณ์อาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร: อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์ไทย-จีนแห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าว: อยากเรียนสอบถามมุมมองของท่านที่มีต่อการประชุมสองสภาของจีน โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในการบริหารและพัฒนาของประเทศจีน

อาจารย์อาร์ม: ก็ต้องยอมรับนะครับ ว่าการประชุมสองสภาของจีนที่กำลังจัดขึ้นอยู่นี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพราะว่าเป็นการประชุมที่มีการเลือกผู้นำรุ่นที่ 5 ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งจริงๆอย่างที่เราเข้าใจว่าได้มีการเลือกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนหน้านี้ไปแล้วเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ตอนนี้จะเป็นการเปลี่ยนถ่ายในระดับทางการในองค์กรโครงสร้างของรัฐ ทีนี้การประชุมครั้งนี้ผมก็คิดว่ามีประเด็นที่สำคัญ 2 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นที่ 1 ก็คือทิศทางของผู้นำรุ่นใหม่ คิดว่าค่อนข้างชัดเจนก็จะมีการเน้นการปฏิรูปในทางกฎหมายและในทางระบบการเมืองมากขึ้นกว่าผู้นำรุ่นที่แล้ว ถ้าเราจะสังเกตผู้นำรุ่นที่แล้วเกือบทั้งหมดจะจบการศึกษาด้านวิศวกรรม เน้นในเรื่องของเศรษฐกิจ เน้นในเรื่องของการสร้างสิ่งต่างๆ สร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบรถไฟ ขณะที่ผู้นำรุ่นใหม่ทั้ง 2 คน คือ ท่านสีจิ้นผิงและท่านหลี่เค่อเฉียงจะจบทางด้านนิติศาสตร์และทางด้านทฤษฎีการปกครองทั้งคู่ ก็จะคิดว่าอันที่ 1 คือการพัฒนาระบบกฎหมาย การพัฒนาปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นจะเป็นสิ่งสำคัญของผู้นำรุ่นใหม่

ส่วนประเด็นที่ 2 ซึ่งก็น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือในเชิงเศรษฐกิจ คิดว่าผู้นำรุ่นใหม่จะเน้นการสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลมากขึ้น ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศก็เน้นตลาดภายในประเทศ เน้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น

ผู้สื่อข่าว: สำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้นำสูงสุดในครั้งนี้ คิดว่าจะมีผลต่อประเทศไทยและประเทศจีนอย่างไรบ้าง

อาจารย์อาร์ม: ผมเชื่อนะครับว่าผู้นำรุ่นใหม่ของจีนทั้ง 2 ท่าน คือท่านสีจิ้นผิงและท่านหลี่เค่อเฉียงได้ให้ความสำคัญต่อประเทศไทย ในฐานะที่เราจะเป็นสะพานเชื่อมโยงจีนเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯและในยุโรป จีนก็ต้องหันมาตลาดใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญของจีน เราก็คงจะจำกันได้ว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ทั้งท่านประธานาธิบดีโอบาม่าและท่านนายกฯเวินเจียเป่าก็มาเยือนประเทศไทย ท่านนายกฯเวินเจียเป่าท่านเยือนประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายก่อนที่ท่านจะอำลาตำแหน่ง และผมก็เชื่อมั่นว่าเมื่อผู้นำรุ่นใหม่ของจีนมารับช่วงต่อแล้ว ท่านก็คงจะให้ความสำคัญกับไทยในฐานะที่เราก็เป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และก็เป็นสะพานที่จะเชื่อมโยงที่สำคัญเลย ก็คือไม่ว่าอย่างไรก็ตามจีนจะเข้าสู่อาเซียนก็ต้องผ่านประเทศไทย อันนี้เป็นเรื่องของทางภูมิศาสตร์ว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องผ่านทางนี้

ผู้สื่อข่าว: อยากทราบว่าอะไรเป็นความท้าทายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

อาจารย์อาร์ม: ก่อนอื่นต้องบอกว่า ตอบได้ตรงๆว่าความท้าทายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้คือ จีนจะยังพัฒนาทางเศรษฐกิจคงที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงแบบนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน อันนี้เป็นความท้าทายของผู้นำจีนรุ่นใหม่ เพราะว่าถ้าเราดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยังไม่เคยมีประเทศไหนที่สามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องในระดับที่สูงมากกว่า 30 ปี เพราะฉะนั้นจีนทำได้ 30 กว่าปีมานี้เป็นความสำเร็จแต่ความสำเร็จนี้ก็ต้องมาพร้อมกับการปรับโครงสร้างครั้งใหม่ที่ต้องการให้การพัฒนานี้เป็นไปอย่างยั่งยืน การปรับโครงสร้างนี้เป็นไปใน 2 เรื่องที่เมื่อกี้พูดว่าผู้นำรุ่นใหม่จะต้องให้ความสำคัญ เรื่องแรกก็คือประเด็นทางเรื่องของการปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมาย โครงสร้างทางการเมือง ซึ่งพอพูดอย่างนี้หลายฝ่ายก็จะถามว่าจีนจะเป็นประชาธิปไตย จะมีเลือกตั้งหรือเปล่า ผมก็มองว่าคงไม่ใช่ คงเป็นการปฏิรูปภายในระบบเดิมของจีนคือการนำโดยระบบพรรคคอมมิวนิสต์แต่พยายามทำให้มีความโปร่งใสมากขึ้น มีประชาธิปไตยภายในพรรคมากขึ้น ปราบปรามทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนประเด็นที่สองก็คือ ทำให้การพัฒนาไม่ได้เน้นที่ตัวเลขแต่เน้นคุณภาพด้วย แทนที่จะเป็นการผลิตของเยอะๆที่มันมีต้นทุนมากทั้งต้นทุนทางสังคม ช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยคนจน ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นเน้นความคิดสร้างสรรค์ เน้นพัฒนานวัตกรรม เน้นการให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเน้นไปในทิศทางอย่างนี้ ปรับให้มันสมดุลมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ผู้สื่อข่าว: ท่านอยากจะเสนอหรือกำหนดยุทธศาสตร์ไทย-จีนอย่างไรบ้าง

อาจารย์อาร์ม: ก่อนอื่นต้องขออนุญาตแนะนำนิดหนึ่งว่าตอนนี้ผมรับผิดชอบศูนย์ยุทธศาสตร์ไทย-จีนของสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งศูนย์ฯนี้มีผมเป็นผู้อำนวยการขณะเดียวกันก็ได้รับเกียรติจากท่านศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย-ท่านองคมนตรีเป็นประธานฯ และท่านทูตก่วนมู่เป็นที่ปรึกษาของศูนย์ฯ ซึ่งศูนย์ก็ต้องการที่จะทำสองเรื่องหลักๆ เรื่องที่หนึ่งคือสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์จีนและเผยแพร่องค์ความรู้นั้น เราจะมีเว็บไซต์ชื่อ www.vijaichina.com ในนั้นจะมีบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับเมืองจีนรวมไปทั้งผลงานวิจัยต่างๆ ในประเทศไทยที่ทำเรื่องเมืองจีน ในขณะเดียวกันบทบาทที่สองของศูนย์ฯก็คือเราต้องการที่จะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานภายนอก ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานผู้แทนการค้า เพื่อจะดูว่าในการเชื่อมความสัมพันธ์กับจีนเรายังต้องการองค์ความรู้อะไรบ้างและยังขาดอะไรบ้าง หลังจากนั้นทางสภาวิจัยก็จะให้ทุนทำวิจัยในเรื่องเหล่านั้น ด้วยความเชื่อที่ว่าการที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้องพัฒนาอยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้

ผู้สื่อข่าว: ในการประชุมครั้งนี้ท่านคิดว่ามีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือที่เป็น Hot Topic บ้างไหม

อาจารย์อาร์ม: ผมคิดว่าประเด็นหนึ่งที่ท่านนายกฯเวินเจียเป่าพูดในสุนทรพจน์ของท่าน เป็นครั้งแรกที่ทางการจีนมีการเอ่ยถึงการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยเสรีซึ่งท่านบอกว่าจีนจะมุ่งไปสู่ทิศทางนั้น ซึ่งอันนี้น่าสนใจมากเพราะเมืองจีนถ้าเราจะทราบกันว่ามีระบบทะเบียนบ้านที่เคร่งครัดมาก จะมีทะเบียนบ้านในเมืองกับทะเบียนบ้านชนบท ถ้าคุณได้ทะเบียนบ้านชนบทคุณก็โอกาสยากมากที่คุณจะเข้ามาอยู่ในเมืองและมีทะเบียนบ้านในเมือง เพราะถ้าคุณเข้ามาก็อาจจะถูกส่งกลับและได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่าคนที่มีทะเบียนบ้านที่อยู่ในเมือง เมื่อท่านนายกเวินเจียเป่าท่านเอ่ยถึงเรื่องนี้ก็แสดงว่าจีนเริ่มสนใจเรื่องเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ สวัสดิการของประชาชนในลักษณะที่พยายามที่จะลดปัญหาช่องว่างระหว่างในเมืองกับชนบท ลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพียงแต่ว่าการที่จะปรับระบบนี้จะมีความเสี่ยงมากทีเดียว เพราะอย่างที่ทราบว่าสิทธิประโยชน์ของคนในเมืองปกติได้เยอะ ผมเลยคิดว่าน่าจะติดตามต่อไป เพราะว่าน่าจะเป็นประเด็นใหญ่สำหรับผู้นำรุ่นใหม่

ผู้สื่อข่าว: สุดท้ายนี้ อยากทราบว่าปกติแล้วท่านติดตามข่าวรายงานการประชุมสองสภาจากแหล่งไหนหรือทางไหนบ้าง

อาจารย์อาร์ม: จริงๆแล้วต้องบอกว่าผมจะแนะนำเสมอว่าเราควรตามทั้งข่าวของจีนเองและข่าวของฝรั่งที่มองจีนด้วย ข่าวของจีนเองนี่ ถ้าเป็นข่าวของภาครัฐก็จะเป็นเหรินหมินรื่อเป้า (人民日报) อะไรอย่างนี้ ถ้าข่าวที่ออกไปทางหัวก้าวหน้าก็เช่นนิตยสารจีนอย่างพวกหนันฟังโจวโม่ว (南方周末) ซึ่งผมพูดมาพวกนี้นี่มีในเว็บไซต์หมดก็สามารถที่จะไปเปิดดูในเว็บไซต์ได้ แต่ถ้าข่าวของฝรั่งซึ่งตามเรื่องจีนก็จะเป็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง จะเป็นมุมมองเชิงวิพากษ์วิจารณ์แต่เราก็จะได้เห็นอีกมุมหนึ่ง ผมก็คิดว่า New York Times, นิตยสาร Economist พวกนี้ก็จะมีข่าวเกี่ยวกับจีนอยู่เสมอ ส่วนในของไทยเองผมก็แนะนำสองเว็บไซต์ เว็บไซต์หนึ่งคือเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศที่มีศูนย์ธุรกิจจีน ซึ่งเค้ามีศูนย์ธุรกิจจีนอยู่ตามท้องที่ต่างๆของเมืองจีนเพราะเค้ามีสถานกงสุลอยู่หลายสถานกงสุล อันนี้จะเป็น www.thaibizchina.com ซึ่งอันนี้เค้าจะมีข่าวอัพเดท อัพเดทบ่อยมากเกี่ยวกับข่าวข้อมูลธุรกิจในเมืองจีน ส่วนอีกอันหนึ่งก็คือเว็บไซต์ของศูนย์ฯของเราคือ 错误!超链接引用无效。นี้เราจะเน้นเป็นพวกบทความวิเคราะห์ จะมีทีมงานที่คอยรวบรวม เวลาที่เรามีนักวิชาการคนไทยเขียนบทความวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องเมืองจีนมาลงรวมกันในเว็บไซต์ มีบทสัมภาษณ์นักวิชาการชั้นนำของเมืองไทย และมีบทวิจัย-งานวิจัยซึ่งใช้งบประมาณของรัฐในการทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับเมืองจีนเราก็จะมีลงในเว็บไซต์นี้เช่นกัน

เว็บไซต์ที่กล่าวถึงในบทสัมภาษณ์

• ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ: http://www.vijaichina.com/

Facebook: http://www.facebook.com/vijaichina/

• ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจในไทยในจีน: http://www.thaibizchina.com/

• หนันฟังโจวโม่ว (南方周末): http://www.infzm.com/

• เหรินหมินรื่อเป้า (人民日报): http://paper.people.com.cn/

• The New York Times: http://www.nytimes.com/

• The Economist: http://www.economist.com/

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040