เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาวในจีน
  2013-04-12 16:24:08  cri

13 เมษายนวันสงกรานต์ปีใหม่ไทย และถือเป็นวันผู้สูงอายุของไทยด้วย สำหรับสังคมจีนในปัจจุบัน ผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาวมีทัศนคติหรือการปฏิบัติต่อกันเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยไม่น้อย ตัวอย่างแรกเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 20 คน รวมตัวกันถือป้ายรณรงค์ "มอบที่นั่งให้คนหนุ่มสาว" บริเวณป้ายรถเมล์ เมืองเจิ้งโจว เมืองเอกมณฑลเหอหนาน

ผู้สูงอายุอาสาสมัครรับใช้สังคม"แดงอาทิตย์อัสดง"

ถือป้ายรณรงค์ "สละที่นั่งให้กับคนหนุ่มสาว"

โดยปู่เหลียงหย่งเสียง วัย 80 ปี ที่มีอายุมากที่สุดในกลุ่มกล่าวว่า ผู้สูงอายุส่วนมากโดยสารรถเมล์ก็เพียงเพื่อไปสวนสาธารณะหรือตลาดสด ซึ่งระยะทางก็มักไม่ไกลนัก ห่างไปไม่กี่ป้าย แต่คนหนุ่มสาวปกติแล้วต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับทำงานนาน แถมทำงานเครียดมาทั้งวันแล้วด้วย ผู้สูงอายุควรจะเพิ่มความเข้าอกเข้าใจให้มากขึ้น และหัวเราะว่า ทุกครั้งที่ลุกให้คนหนุ่มสาวนั่ง มักจะโดนปฏิเสธตลอด โดยกว่าสิบปีที่ผ่านมา กลุ่มอาสาสมัคร "แดงอาทิตย์อัสดง" ก็ได้รณรงค์ในเรื่องนี้มาตลอด

เมื่อภาพข่าวกิจกรรมรณรงค์ดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ชาวเมืองแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไป สำหรับผู้สูงอายุเองก็ว่าเห็นด้วย โดยลุงหวังวัยเกือบ 70 ปีว่า ที่จริงแล้วคนแก่ส่วนใหญ่ก็สุขภาพไม่แย่นัก ยืนนิดหน่อยก็ไม่ถึงกับเหนื่อยอะไร แต่คนในสังคมอีกไม่น้อยเห็นว่า เป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรไปกันใหญ่ เพราะการสละที่นั่งให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ถือเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่รับรู้กันทั่วไป

ดังนั้น จึงเกิดประเด็นตามมาอีกหัวข้อที่ว่า หากผู้สูงอายุลุกให้นั่งแล้ว คุณจะทำอย่างไร? โดยมีชาวเน็ตร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคำถามดังกล่าว ผ่านไมโครบล็อกของหนังสือพิมพ์เหอหนานธุรกิจ ผลปรากฏว่า ร้อยละ 47 เลือกตอบว่า ไม่ยอมนั่ง แม้ว่าจะเหนื่อยหรือรู้สึกไม่ค่อยสบายนักก็ตาม ส่วนอีกร้อยละ 48 ตอบว่า หากตอนนั้นรู้สึกไม่สบายไม่ไหวจริงๆ อาจมีลังเลว่าจะนั่งหรือไม่ ซึ่งหลายคนก็เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ใครสละที่นั่งให้ แต่อยู่ที่ความเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อต่อกันมากกว่า ซึ่งผู้สูงอายุอาจเลือกที่จะหลีกเลี่ยงโดยสารในช่วงเร่งด่วน ที่คนส่วนใหญ่ต้องเข้างานหรือเลิกงาน เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ หนุ่มนักท่องราตรีลูกคนมีฐานะวัย 25 ปี นามว่า เยี่ยนซว่าย เลิกทำตัวเจ้าสำราญไม่เอาถ่านกลายเป็นผู้อำนวยการบ้านพักคนชราย่านชานเมืองกรุงปักกิ่ง ที่ปัจจุบันมีผู้สูงอายุอยู่ในความดูแล 114 คนจากเดิม 10 กว่าคนเท่านั้น และจากขับรถบีเอ็มคันหรูต้องมานั่งดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายด้วยแทน ซึ่งคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่น้อยคนนักที่จะเลือกประกอบอาชีพนี้

แม้ว่าจุดหักเหหรือจุดผลักดันสำคัญในการกลับตัวนี้ จะมาจากการเจ็บป่วยของบิดามารดาที่ประกอบธุรกิจ ทำให้ฐานะทางบ้านประสบปัญหาจนต้องมารับช่วงต่อกิจการบ้านพักคนชรา ที่มารดาเพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อ 6 ปีก่อน ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 19 ปี ซึ่งหากเป็นคนอื่นก็อาจจะขายทิ้ง แต่เขากลับตั้งมั่นที่จะสานต่อด้วยความมุ่งมั่นและเอาใจใส่อย่างจริงจัง โดยไม่รังเกียจที่จะเช็ดทำความสะอาดเนื้อตัวให้กับผู้สูงอายุที่ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ด้วย ทำให้ลูกหลานของผู้สูงอายุทั้งหลายก็ไว้วางใจในตัวผู้อำนวยการหนุ่มอย่างเขามากขึ้น จนกิจการบ้านพักคนชราฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ

เขาว่า บ้านพักคนชราทำให้เขาเห็นความเป็นไปกว่าค่อนชีวิตของมนุษย์ด้วยตาตนเอง ตั้งแต่ลูกตนเองเกิด บิดามารดาเจ็บป่วย และผู้สูงอายุในความดูแลที่ล่วงลับไป เมื่อถูกนักข่าวถามถึง ความปรารถนาของเขาคืออะไรนั้น เขาตอบว่า หวังว่าตนเองจะสามารถดำเนินกิจการบ้านพักคนชราที่ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็สามารถมาอยู่ได้ และหวังว่าอาการเจ็บป่วยของบิดาจะดีขึ้นในเร็ววัน

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040