เทศกาลตวนอู่เจี๋ย หรือเทศกาลไหว้บะจ่าง ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ เริ่มตั้งแต่ยุคสมัยชุนชิวจั้นกั๋วที่นับย้อนหลังไปได้กว่าสองพันปีมาแล้ว โดยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2006 รัฐบาลจีนได้บรรจุเทศกาลตวนอู่เจี๋ยเข้าในรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กลุ่มแรก และนับจากปี 2008 เป็นต้นมาได้กำหนดให้เทศกาลตวนอู่เจี๋ยเป็นวันหยุดสำคัญประจำปีของชาติ เหมือนกับอีกสองเทศกาลสำคัญ คือ ตรุษจีนและไหว้พระจันทร์ ต่อมาทางยูเนสโกก็ได้บรรจุเข้าในรายชื่อมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ในวันที่ 30 กันยายน ปี 2009
การแข่งขันห่อบะจ่างในงานวัฒนธรรมตวนอูปักกิ่ง ครั้งที่ 5 ณ อำเภอเหยียนชิ่ง
แน่นอนสัญลักษณ์สำคัญประจำเทศกาลย่อมหนีไม่พ้นบะจ่าง ซึ่งปกติแล้วจีนทางเหนือกับทางใต้จะมีความนิยมในรสอาหารที่แตกต่างกัน โดยจีนตอนเหนือจะทำอาหารรสเค็ม ส่วนจีนตอนใต้จะเป็นรสหวาน แต่สำหรับบะจ่างที่ชาวไทยคุ้นลิ้นกันดีที่มีรสมีชาติออกเค็มมีทั้งเนื้อทั้งไข่กลับเป็นบะจ่างสไตล์ของจีนตอนใต้ ส่วนจีนตอนเหนืออย่างปักกิ่งกลับทำบะจ่างมีรสหวานอย่างไส้ถั่วกวน ไส้พุทรา หรือไส้ผลไม้เชื่อมเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นหากคนไทยมาทานรับรองว่าชิมแล้วรีบวางบอกขอผ่านเพราะช่างจืดชืดไม่มีรสชาติไม่ถูกปากกันเป็นแถวแน่ๆ
การฝึกห่อบะจ่างของมือสมัครเล่นที่ฝีมือพอถูไถใส่ความตั้งใจไม่ใช่เล่นๆ
และนอกจากนึกถึงบะจ่างสิ่งที่ตามมาย่อมเป็นเรือมังกร ที่เป็นกิจกรรมแข่งขันสำคัญประจำเทศกาลและนิยมแพร่หลายในจีนตอนใต้ ซึ่งการฉลองเทศกาลตวนอูที่อำเภอเหยียนชิ่งเขตชานเมืองของกรุงปักกิ่งมีประวัติมายาวนานแล้วเช่นกัน โดยยึดขนบธรรมเนียมอย่างจีนทางเหนือเป็นหลัก แต่ได้ซึมซับวัฒนธรรมของตอนกลางและตอนใต้ไว้ด้วย ดังนั้น วัฒนธรรมตวนอู่ของเหยียนชิ่งจึงมีลักษณะพิเศษของทั้งประเทศรวมอยู่ครบรส โดยไม่ทิ้งเอกลักษณ์พิเศษของท้องถิ่น
โดยพอถึงช่วงเทศกาลเวียนมาบรรจบอีกครั้ง ชาวบ้านก็จะร่วมกันห่อบะจ่าง ดื่มเหล้าผสม"สงหวง" ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไล่แมลง สำหรับเด็กเล็กจะใช้วิธีทาป้ายที่หน้าผากแทน ซึ่งจีนทางใต้จะนิยมเสียบกิ่งพืชสมุนไพร "อ้ายฉ่าว/อ้ายเย่" หรือใช้กิ่งทับทิม หรือต้นว่านน้ำ ที่ใบมีลักษณะเรียวยาวเหมือนใบมีดไว้ที่ประตูบ้าน เชื่อกันว่าช่วยป้องกันสิ่งอัปมงคล ส่วนจีนทางเหนือจะนิยมปักผ้าลาย 5 สัตว์พิษ ได้แก่ กิ้งกือ แมงป่อง คางคก หนูและงู ด้วยด้ายสีแดงสดให้เด็กๆ สวมหรือมัดด้ายห้าสีที่ข้อมือ เพื่อหวังให้ปกปักษ์รักษาไม่ให้ความชั่วร้ายมาแผ้วพาน เป็นต้น
การแข่งพายเรือมังกร รอบอุ่นเครื่องระดับอุดมศึกษา
ในงานวัฒนธรรมตวนอูปักกิ่ง ครั้งที่ 5 เมื่อเช้าวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา
และในปี 2009 งานวัฒนธรรมตวนอูกรุงปักกิ่งครั้งแรกที่เหยียนชิ่งได้เปิดตัวขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และจัดติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 5 แล้ว โดยกิจกรรมหลักๆ ของงาน คือ การฝึกและแข่งขันห่อบะจ่าง การแสดงและแข่งขันพายเรือมังกร การตรวจสุขภาพและนิทรรศการสมุนไพรแพทย์แผนจีน ซึ่งปีนี้มีความพิเศษตรงที่กิจกรรมแข่งพายเรือมังกรนั้นมีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ด้วยการเข้าร่วมที่ขยายวงกว้างขึ้น จำนวนมากขึ้น ทั้งจากประชาชนทั่วไป นักศึกษาจีนรวมถึงต่างชาติ โดยเป็นทีมแข่งขันจากกรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย และยังมีอีก 4 ทีมรับเชิญร่วมแสดงจากมณฑลหูเป่ย หูหนาน และเหอเป่ย ที่ทะเลสาบซีหูในสวนสาธารณะเซี่ยตูของเหยียนชิ่งระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน
การแข่งพายเรือมังกรระดับอุดมศึกษา มีทีมเข้าแข่งขันทั้งสิ้น 16 ทีม
เป็นทีมผสมชายหญิงทีมละ 12 คน แข่งระยะทางตรงความยาว 400 เมตร
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
* เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ชิมบะจ่างชานกรุงปักกิ่ง @ เหยียนชิ่ง (2)
http://thai.cri.cn/247/2013/06/14/102s210781.htm