หูท่ง (1)
  2013-08-05 13:09:49  cri

ตามบันทึกประวัติศาสตร์ หูท่งเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน ในศตวรรษที่ 13 ชาวมองโกลซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของจีนโค่นราชวงศ์ซ้องลงได้ เพื่อให้สะดวกในการปกครองชาวฮั่นและปกครองทั่วประเทศให้ดียิ่ง เมื่อ ค.ศ. 1271 กุบไลข่าน ผู้นำของชาวมองโกลตัดสินใจว่า จะย้ายเมืองหลวงไปสู่ปักกิ่งและตั้งชื่อราชวงศ์ใหม่ว่าราชวงศ์หยวนและเรียกปักกิ่งว่า "ต้าตู" หมายถึงนครใหญ่ ในขณะเดียวกันการก่อสร้างกรุงปักกิ่งก็เริ่มดำเนินงานเป็นการใหญ่ กุบไลข่านได้รับการเสนอแนะจากผู้เสี่ยงทายและสถาปนิกว่า ควรสร้างเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นหนึ่งผ่านตลอดตัวเมืองจากทางใต้ไปสู่ทางเหนือ ในใจกลางของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นนี้ สร้างพระราชวังที่หรูหรา นอกจากนี้ตามสองข้างของเส้นผ่าศูนย์กลางประกอบด้วยถนนอย่างตาหมากรุก มีตรอกเล็กซอยน้อยตัดตรงและติดต่อถึงกันหมดและกำหนดว่า บ้านของสามัญชนต้องเป็นบ้านชั้นเดียวเท่านั้น กำหนดเหล่านี้ได้จัดวางผังเมืองปักกิ่งให้เป็นเมืองทีมีสมดุลและยิ่งทำให้พระราชวังเด่นเป็นสง่า แสดงอำนาจจักรพรรดิเด่นชัดยิ่งขึ้น เพราะอยู่ในใจกลางของทั้งเมือง ตรอกเล็กซอยน้อยที่กล่าวมานั้น ก็ก่อรูปขึ้นเป็นหูท่งสายต่าง ๆ

ความแตกต่างกันระหว่างหูท่งกับถนนซึ่งภาษาจีนเรียกว่า "jiēเจีย" ก็ขึ้นอยู่กับความกว้างไม่เท่ากัน ตามการบันทึกของหนังสือเรื่อง "xījīnzhìซีจินจื้อ" ซึ่งเป็นตำนานที่บันทึกประเพณีนิยมชาวกรุงปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หยวนบอกว่า ในเมือง "ต้าตู" แห่งราชวงศ์หยวน ถนนใหญ่กว้าง 24 ก้าว ถนนเล็กกว้าง 12 ก้าว ส่วนหูท่งนั้น กว้าง 6 ก้าวซึ่งเท่ากับประมาณ 9 เมตร อย่ามองข้ามระยะ 9 เมตรนี้ เพราะมันเป็นช่องว่างระหว่างบ้านเรือนที่อยู่สองฟาก สามารถรับแสงได้ ระบายลมได้และก็ทำให้ผู้คนเดินทางได้อย่างสะดวก หูท่งสายต่าง ๆ รวมเป็นเขต เขตต่าง ๆ รวมเป็นที่ชุมชนและที่ชุมชนต่าง ๆ รวมเป็นเมือง มิน่าเล่า มาร์โคโปโล นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีถึงกับชื่นชมปักกิ่งว่า เป็นแบบฉบับดีที่สุดในโลกในการวางผังเมือง

ต่อมาหูทุ่งในกรุงปักกิ่งมีการพัฒนาในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ได้รับการสืบทอดมาจนถึงสมัยก๊กมิ่นตั๋งและกลายสภาพไปในสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน

ต่อมาผมจะเล่าถึงที่มาของหูท่ง ทุกครั้งที่กล่าวขวัญถึงคำว่า "เป่ยจิง" ผู้คนมักจะยกย่องว่า เป็นเมืองโบราณที่มีชื่อเสียงเมืองหนึ่ง แต่อาจไม่มีใครทราบว่า ความจริง คำว่า "หูท่ง" ปรากฏมาก่อนคำว่า "เป่ยจิง" ยาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี

เมื่อ ค.ศ. 1368 จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ตั้งเมืองหลวงที่เมืองนานกิง ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็รับสั่งให้จูตี้ พระโอรสของพระองค์ไปครองปักกิ่งซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกว่า "เป่ยผิงหรือไปปิง"

จนถึง ค.ศ. 1398 จักรพรรดิจูหยวนจางสวรรคต จูหยุ่นเหวินพระนัดดาของพระองค์สืบราชสมบัติ แต่จูตี้ ในฐานะเจ้าผู้ครองปักกิ่งมีทหารจำนวนมากอยู่ในมือ เกิดความทะเยอทะยานที่จะเป็นจักรพรรดิ จึงก่อสงคราม "จิ้งนั่น" ซึ่งทีแรกหมายถึงสงครามปราบปรามกังฉินให้จักรพรรดิ แล้วเลยโจมตีนานกิง สงครามนี้กินเวลานาน 4 ปี ในที่สุด พระปิตุลาก็เอาชนะพระนัดดาได้ จูตี้แย่งชิงราชบัลลังก์ได้สำเร็จและเปลี่ยนรัชสมัยเป็น "หย่งเล่อ"

เมื่อจูตี้เริ่มครองราชย์ พระองค์ท่านมักจะคิดถึงเมืองปักกิ่งเพราะทรงปกครองปักกิ่งมา 30 ปี รู้จักภูมิประเทศและจารีตประเพณีของปักกิ่งอย่างดี ปักกิ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ถึงพร้อมด้วยยศศักดิ์ นอกจากนี้ในเวลานั้นชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ทางเหนือของจีนมักจะบุกรุกเข้ามาในจีน เมื่อ ค.ศ. 1403 จูตี้ตัดสินพระทัยจะย้ายเมืองหลวงจากนานกิงไปสู่ปักกิ่งเพื่อเสถียรภาพราชบัลลังก์ของพระองค์และต่อต้านการบุกรุกของชาวมองโกลให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันพระองค์ทรงตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า "เป่ยจิง" จึงจะเห็นได้ว่า คำว่า "เป่ยจิง" ปรากฏในสมัยราชวงศ์หมิง แต่คำว่า "หูท่ง" กลับปรากฏมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวนซึ่งมาก่อนคำว่า "เป่ยจิง" ร้อยปีเศษ

(Yim/Cui)

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040