กรุงเทพฯ – 5 สิงหาคม 2556 เวลา 10.30 น. นายพงศธร เกษสำลี รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดแถลงข่าวผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการท่องเที่ยวไทย หรือที่เรียกว่า "TAT Tourism Poll" ณ ห้องประชุม ททท. ชั้น 10 อาคารสำนักงานใหญ่ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ
การจัดทำผลสำรวจดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การสำรวจโพลครั้งนี้ ททท.มุ่งประเด็นเพื่อดูผลกระทบจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวตลาดจีน รัสเซียซึ่งจะเป็นการเตรียมรับมือกับคลื่นยักษ์นักท่องเที่ยวทั้งสองตลาด โดยททท.ทำการสำรวจข้อมูลจำนวน 2,163 ตัวอย่าง จากกลุ่มผู้ประกอบการ 1,068 ตัวอย่าง และประชาชน 1,095 ตัวอย่าง ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย 7 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เกาะสมุยระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 8 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
จากสถานการณ์การขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นมากของนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนและรัสเซีย ในช่วงปี 2550 – 2555 มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งด้านจำนวนและรายได้แต่การเติบโตของทั้งสองตลาดเป็นไปแบบไม่มีคุณภาพโดยการเติบโตของรายได้จากตลาดจีนและรัสเซียพึ่งพาการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลักขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อทริปไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเท่าที่ควรยกตัวอย่างเช่น เมื่อมองตัวเลขที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จะพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 6%เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก
ในความคิดเห็นเชิงบวกที่ได้จากกลุ่มผู้ประกอบการมองว่าการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนก่อให้เกิดการสร้างรายได้รวมของธุรกิจเพิ่มขึ้นและมีรายรับอย่างสม่ำเสมอเนื่องจากชาวจีนเดินทางมาเที่ยวทั้งปีแต่พบว่ามีกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติบางตลาด อาทิ สหราชอาณาจักรเยอรมนี ฝรั่งเศส ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างปัญหาของนักท่องเที่ยวชาวจีนได้แก่ ปัญหาเสียงดังจากการพูดคุย/ตะโกน โวยวาย (ร้อยละ 26.3) ปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นลดลง (ร้อยละ 23.4) ปัญหาความสกปรกต่างๆเพิ่มขึ้น จากการไม่รักษาความสะอาด (ร้อยละ 21.9) ปัญหาการสื่อสารกันไม่เข้าใจ (ร้อยละ 15.0)
ส่วนการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวรัสเซียส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ สหราชอาณาจักรเยอรมนี สวีเดนและนำมาสู่ปัญหาการแฝงตัวเข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย (ร้อยละ 14.6) ปัญหาไม่เคารพ และไม่ปฏิบัติตามกฎของสถานที่ที่ไปใช้บริการ (ร้อยละ 10.4) ปัญหาการใช้กำลังก่อเหตุทะเลาะวิวาท (ร้อยละ 10.4) ปัญหาการสื่อสารกันไม่เข้าใจ (ร้อยละ 9.2)
นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับความอึกทึกเสียงดังหรือมารยาทท้องถิ่นบางอย่าง เช่น นักท่องเที่ยวจากแถบสแกนดิเนเวียหรือยุโรปที่นิยมความเงียบสงบก็ได้เปลี่ยนจุดหมายการเดินทาง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างสังเกตได้ จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการบางกลุ่ม ยกตัวอย่างที่ พัทยา หากให้เลือกก็ยินดีที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีปริมาณมากอย่างรัสเซียมากกว่าแถบโซนยุโรป ถึงแม้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่นั้นจะมีปัญหาที่หลากหลายกว่า แต่ผู้ประกอบการก็มองว่าในภาพรวมพวกเขาทำรายได้ให้มากกว่า แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันไปตามแต่แนวคิดและผลประโยชน์
ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ในวารสารTAT Tourism Journalฉบับที่ 3/2013ว่าไทยกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวไว้ 2 เป้า คือ High Quality (เชิงปริมาณ) และ High Quantity (เชิงคุณภาพ)อาจารย์แนะนำว่าอยากให้รักษากลุ่มตลาดคุณภาพไว้ให้ได้และหากต้องการเน้นจำนวน รัฐบาลจะต้องไปเจาะตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพของกลุ่มรัสเซีย จีนและอินเดียให้ได้ พร้อมทั้งแนะนำให้ทุกส่วนพัฒนาเรื่องการให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่นักท่องเที่ยว เปรียบเสมือนถ้าเราให้กะเพราไก่จานเดียวแบบเดียวกับทุกคน ไม่มีแบบจี๊ดจ๊าดเพื่อวัยรุ่นหรือนุ่มละมุนลิ้นสำหรับผู้สูงอายุ เราควรปรับกลยุทธ์ให้ข้อมูลเข้าถึงนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่ททท. แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจส่วนต่างๆที่จะมีส่วนช่วยปรุงอาหารตามปากผู้กิน อย่าลืมว่าโลกปัจจุบันนี้ถูกกระตุ้นด้วยการให้ข้อมูล ถ้าข้อมูลไม่มีพลังมากพอก็ไม่มีประสิทธิผลไปดึงดูดการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจครั้งนี้สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อรับมือตลาดจีน รัสเซียโดยเน้นความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการในการควบคุมดูแลการเข้า-ออกของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยการตรวจสอบและดูแลการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติอย่างเข้มงวดการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทราบถึงค่านิยม และวัฒนธรรมไทยสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำเพื่อจะได้เรียนรู้และปฏิบัติตามก่อนการเดินทางเข้ามาประเทศไทย มีการจัดทำป้ายหรือสัญลักษณ์เพื่อแจ้งเตือนสิ่งที่ควรรู้ให้นักท่องเที่ยวเข้าใจตลอดจนส่งเสริมให้คนไทยเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศทั้งนี้ในส่วนของ ททท. จะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการปรับโครงสร้างตลาดมุ่งเน้นส่งเสริมตลาดระดับบนอย่างจริงจังต่อไป
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์