ระหว่างบรรทัด:"กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ"
  2013-08-21 17:06:57  cri

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวสำคัญเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในเมืองจีนนั่นคือ "กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ" ฉบับแก้ไข ฃมีผลบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้เดิมมีเนื้อหาสาระครอบคลุมการคุ้มครองและดูแลผู้สูงอายุในด้านต่างๆ โดยระบุว่า ลูกหลาน "มีหน้าที่" ต้องปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ ให้ได้รับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ให้เงินทอง อาหารข้าวปลา และดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย รวมทั้งต้องรักษาทรัพย์สินและทรัพย์สมบัติของพ่อแม่ไว้ด้วย เช่น หากมีพื้นที่ทำการเกษตรก็ต้องไม่ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า หากใครไม่ทำหน้าที่ลูกที่ดีแล้วเกิดพ่อแม่ไปฟ้องร้องศาล ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย

แม้ว่า กฎหมายจะกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่า ยังมี

ลูกหลานชาวจีนอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้ อาจด้วยข้อจำกัดเรื่องการเดินทางไปทำงานต่างมณฑล ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ภาระงานรัดตัว หรือด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ยังเอาตัวเองและครอบครัวไม่รอดก็ไม่มีเงินเพียงพอจะเหลือไปเจือจานพ่อแม่ หากใครพอมีฐานะหน่อย อาจส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ แต่ตัวไม่ได้ไปปรากฎให้เห็นหน้าตานานหลายๆปี บ้างก็ทิ้งลูกเล็กไว้ให้เป็นภาระแก่ปู่ย่าตายาย แถมยังปรากฎข่าวคราว คนแก่ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอยู่เนืองๆ

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากแนวโน้มโดยรวมทั้งของประเทศจีนและทั่วโลกที่ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ผู้คนมุ่งทำงานเพื่อแสวงหาความร่ำรวยและสร้างฐานะทางสังคมมากขึ้น ซึ่งโอกาสเหล่านั้นก็จะมีมากขึ้นในเมืองใหญ่ ทำให้ต้องอพยพโยกย้ายงานและที่พักอาศัยไปสู่พื้นที่ซึ่งมีความเจริญมากกว่า นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมโดยรวมที่หลายประเทศกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และอีกปัจจัยสำคัญคือ นโยบายลูกคนเดียวของจีน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2522 เพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลข้างเคียงคือ ทำให้มีสัดส่วนคนสูงวัยเพิ่มขึ้น

การเป็นลูกคนเดียว เป็นศูนย์รวมความรักของคนทั้งบ้าน ลูกคือแก้วตาดวงใจของพ่อแม่และถูกคาดหวังจากพ่อแม่สูงมากขึ้นตามไปด้วย มีลูกหลานชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่ถูกเลี้ยงดูอย่างประคบประหงมและตามใจ จนกระทั่งมองเห็นว่าตัวเองสำคัญที่สุด ไม่ได้สนใจใยดีหรือแคร์คนอื่นๆเท่าที่ควร แรงบีบคั้นจากภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมการเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กๆ ที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่รู้จักการเอื้อเฟื้อและแบ่งปันหรือห่วงใยผู้อื่น จนบางครั้งก็ละเลยการดูแลบุพการี ทำให้เกิดเป็นปัญหาสังคมติดตามมามากขึ้นในยุคหลัง

รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า สัดส่วนประชากรจีนที่อายุเกินกว่า

60 ปี เคยอยู่ที่ ร้อยละ 5 ในปีพ.ศ.2525 แต่ขณะนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 14 โดยสหประชาชาติ เคยประเมินและคาดการณ์ว่าในปี 2593 ประชากรผู้สูงอายุจีนอาจเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 20

ตัวเลขผู้สูงอายุชาวจีน มีประมาณ 250 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน เกือบหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ 62 ล้านคน ไม่ได้อยู่กับลูกหลาน ดังนั้นเฉลี่ยแล้ว ผู้สูงวัย หนึ่งในสามคน ไม่ได้อยู่กับครอบครัว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผลการศึกษาด้านสาธารณสุขและผู้เกษียณอายุงานระยะยาวของจีน สำรวจผู้มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ใน 28 มณฑลของจีน พบว่า 1ใน 4ของกลุ่มตัวอย่างที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่ำกว่า เส้นความยากจนที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้

ผู้ชรา นอกจากจะมีโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นปัญหาสุขภาพร่างกายรุมเร้าแล้ว ยังพบความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตใจเพิ่มขึ้น หากต้องอยู่โดดเดี่ยวลำพัง ไร้คนดูแล

ด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลจีน ต้องปรับปรุงแก้ไขและเพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้ โดยกำหนดให้ ลูก มีหน้าที่ "ต้องไปเยี่ยมพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ" ไม่เช่นนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม พบว่า ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ แรงงานจำนวนมากไม่สามรถทำตามกฎหมายได้ จากการสำรวจข้อมูลพบว่า แรงงานต่างถิ่นกว่าร้อยละ 80 มีความสามารถจะกลับบ้านได้เฉลี่ยปีละสองครั้ง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 20 กลับได้เพียงปีละครั้ง เนื่องจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แพง และอาจมีจำนวนวันหยุดไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางไปไกลๆต่างเมือง

การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลากหลายในหมู่สังคมชาวจีนและบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีทั้งผู้ไม่เห็นด้วยและผู้ที่สนับสนุน โดยส่วนหนึ่งมองว่า อาจไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ แต่เมื่อมองเจตนารมณ์และความตั้งใจของกฎหมายก็เข้าใจได้ ทั้งนี้เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อลูกหลานที่ได้ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ บุพการีอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ทำให้สถานะเปลี่ยนแปลงไป แต่จะเกิดผลกระทบหรือเป็นแรงกดดันสำคัญสำหรับคนที่ไม่เคยใส่ใจ หรือทอดทิ้งพ่อแม่ ให้หันกลับมาให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ให้กำเนิดมากขึ้น

ทั้งนี้เนื้อหาส่วนหนึ่งของกฎหมายยังระบุด้วยว่า ให้หน่วยงาน บริษัทต่าง ให้ความร่วมมือเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอย่างจริงจัง และเปิดโอกาส สนับสนุนให้ลูกจ้างสามารถมีวันหยุดยาวเพียงพอจะกลับไปบ้านเกิดได้

ในวันเดียวกันที่กฎหมายประกาศใช้ ที่ศาลประชาชนในเขตเป่ยถัง เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซูทางภาคตะวันออกของจีน ได้มีคำพิพากษาคดีแรกเพื่อทดสอบความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย คือคดีที่นางฉู่ แม่วัยชรา อายุ 77 ปี ฟ้องลูกสาวและลูกเขยว่าละเลยการดูแลนาง ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้กับสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว หลังจากเกิดปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวขึ้น จนทำให้นางฉู่ ต้องย้ายไปอยู่กับลูกชายอีกคนหนึ่งแทน

ศาลพิพากษาให้ ลูกสาวและลูกเขย ต้องกลับไปเยี่ยมนางฉู่ อย่างน้อยสองเดือนครั้ง และอย่างน้อยสองครั้งในช่วงเทศกาลวันหยุดตามปฏิทินจีน หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกสั่งปรับและจ่ายเงินชดเชยด้วย

ผลพวงจากกฎหมายดังกล่าว ยังทำให้เกิดธุรกิจและอาชีพใหม่บนโลกออนไลน์ เพราะหลังจากประกาศใช้กฎหมายเพียงไม่ถึงสิบวัน ปรากฎว่า เวปไซต์ขายสินค้าและบริการยอดนิยมในเมืองจีน ที่ชื่อ เถาเป่า (Taobao - 淘宝) มีการเปิดให้บริการ รับจ้าง "เยี่ยมพ่อแม่" แทนลูก จำนวนมาก หากใช้เครื่องมือค้นหาคำว่า "เยี่ยมพ่อแม่วัยชราแทนลูก" ก็จะพบบริการที่เกี่ยวข้องจากประมาณ 10 เมือง รวมทั้งกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่ของมณฑลเจียงซีและส่านซี โดยคิดอัตราค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ 50-70 หยวน ไปจนถึงราคา 3,000 หยวนต่อชั่วโมง

บริการ "เยี่ยมพ่อแม่แทนลูก"นี้ มีตั้งแต่ ไปพบ เยี่ยมเยียน เอาข้าวของไปให้ อยู่เป็นเพื่อน ชวนพูดคุยให้คลายเหงา ส่งข่าวสารจากลูกไปหาพ่อแม่ และทำหน้าที่อื่นๆ เช่น การทำความสะอาดบ้าน การซักเสื้อผ้า และหุงข้าว หาอาหารการกินเตรียมไว้ให้ เป็นต้น ซึ่งมีลูกค้าจำนวนหนึ่งทดลองใช้บริการแล้วแสดงความเห็นผ่านหน้าเวปไซต์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคนจำนวนมาก ไม่เห็นด้วยกับบริการนี้ เนื่องจากมองว่า การปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ควรทำด้วยตัวเอง และการแสดงความกตัญญูรู้คุณ เพื่อตอบแทนพระคุณพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาอย่างยาวนานในความเป็นวิถีเอเชีย จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สิ่งเหล่านี้ ไม่อาจให้คนอื่นทำแทนกันได้ และถึงแม้จะสามารถทำแทนได้ในบางเรื่อง ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีวันเหมือนกันแน่ๆ นั่นคือความรู้สึกรักใคร่และผูกพันจากความเป็นสายเลือดเดียวกัน

ซึ่งแน่นอนว่า คนที่เป็นพ่อแม่ ย่อมอยากได้รับการเอาใจใส่จากลูกหลานแท้ๆของตนเองมากกว่าคนอื่นซึ่งเป็นคนนอก และเชื่อว่า พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อย เข้าใจข้อจำกัดในการทำงานและใช้ชีวิตของลูก ดังนั้น การดูแลเอาใจใส่ อาจไม่ได้หมายถึงต้องไปให้เห็นหน้าเห็นตา แต่มีวิธีการดูแลในรูปแบบอื่นๆที่สามารถชดเชยและทำให้เห็นว่าใส่ใจ รักใคร่ท่านอยู่

จากนี้ไป ต้องติดตามว่า มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีน จะได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพียงใด อีกทั้งจะมีมาตรการเสริมอื่นใดเพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บริษัท หน่วยงานต่างๆให้ความร่วมมือ อำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้พนักงาน ลูกจ้าง สามารถกลับไปเยี่ยมเยี่ยนพ่อแม่ได้บ่อยขึ้นกว่าที่ผ่านมา

โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040