ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกขาดแรงกระตุ้น วิกฤตการเงินระหว่างประเทศสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ ที่แฝงอยู่ในส่วนลึก ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การเพิ่มการประสานนโยบายด้านการควบคุมทางมหภาค ร่วมกันส่งเสริมการฟื้นฟูของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นภารกิจที่หนักหน่วงของประเทศกลุ่มจี 20 ขณะนี้ กลุ่มจี 20 กำลังเปลี่ยนจากการรับมือกับวิกฤตเป็นการสร้างกลไกระยะยาว การเปลี่ยนแปลงนี้ มิเพียงแต่เป็นผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นภายในกลุ่มจี 20 เท่านั้น หากยังจะกระตุ้นการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการบริหารเศรษฐกิจโลกด้วย
การบริหารเศรษฐกิจโลกต้องการการวางแผนที่ยาวไกล ในกระบวนการพัฒนากลไกกลุ่มจี 20 เคยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินเอเชีย วิกฤตการเงินโลกและปัญหาือื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หากใช้วิธีรักษาแบบปวดหัวก็รักษาหัว ปวดขาก็รักษาขา ก็ยากที่จะได้รับผลอย่างเต็มที่
การปรับเปลี่ยนจากการรับมือกับวิกฤตสู่การสร้างกลไกบริหารในระยะยาวของกลุ่มจี 20 ต้องการให้ประเทศสมาชิกต่างๆ ละทิ้งความคิดที่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง อย่ามองปัญหาเฉพาะหน้าให้เป็นเรื่องใหญ่เกินไป และอย่าจัดการปัญหาระยะยาวด้วยมุมมองที่แคบสั้น กลุ่มจี 20 มีความปรารถนาร่วมต่อสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมั่นคง การสร้างกลไกบริหารเศรษฐกิจในระยะยาว มีส่วนช่วยต่อการผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างมีพลัง ยั่งยืนและสมดุล ทั้งนี้สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของทุกฝ่าย