ถาม--ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีการสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างจีน-อาเซียน ท่านประเมินความสำเร็จในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายในช่วงเวลาดังกล่าวนี้อย่างไร? การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-อาเซียนจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้แก่ทั้งสองฝ่ายอะไรบ้าง ?
ตอบ- สำหรับจีนและอาเซียน ปีนี้เป็นปีที่น่าเฉลิมฉลองจริงๆ เมื่อ 10 ปีก่อน จีนเป็นประเทศนอกอาเซียนประเทศแรกที่เข้าร่วมสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองกับอาเซียน นับเป็นครั้งแรกที่จีนสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศอื่น จึงแสดงให้เห็นความสำคัญของชาติอาเซียนในด้านการทูตของจีน ช่วง 10 ปีมานี้ แม้ว่าสถานการณ์โลกผันผวนเปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจโลกได้พัฒนา แต่จีนและอาเซียนยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไว้ได้ ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมากลายเป็น 10 ปีของยุคทองแห่งความร่วมมือ
ช่วง 10 ปีมานี้ จีนและอาเซียนยืนหยัดหลักการเจรจาทางยุทธศาสตร์ เพิ่มความไว้วางใจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยประสานกันและสนับสนุนกันในกิจการระดับโลกและระดับภูมิภาคที่สำคัญ ทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม จนประสบความสำเร็จในการสร้างเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับแรกของอาเซียน ขณะที่อาเซียนเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสามของจีน ปีที่แล้ว ยอดมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่ายมีกว่า 400,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5 เท่าของ 10 ปีก่อน ด้านการลงทุนระหว่างกันมีมูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3 เท่าของ 10 ปีก่อน มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการติดต่อระหว่างภาคเอกชนที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เมื่อปีที่แล้ว มีบุคคลที่ไปมาหาสู่กันระหว่างทั้งสองฝ่ายมีจำนวนถึง15 ล้านคน คิดเป็น 4 เท่าของ 10 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ จีนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปชาติอาเซียนมากเป็นอันดับสอง เที่ยวบินที่เชื่อมจีนและชาติอาเซียนมีกว่า 1,000 เที่ยวต่อสัปดาห์ ช่วง 10 ปีมานี้ จีนและอาเซียนมีความสามัคคีกันอย่างมาก ร่วมกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนา โดยทั้งสองฝ่ายได้รับมือกับวิกฤตการเงินเอเชียและวิกฤตการเงินโลกอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมแรงร่วมใจกันแและสนับสนุนช่วยเหลือกันในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ รวมทั้งโรคระบาดหลายครั้ง เช่น คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคซาร์ส และภัยแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญที่การพัฒนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์จีนและอาเซียนประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจนั้น เนื่องจากแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับประโยชน์พื้นฐานของทั้งสองฝ่าย เป็นไปตามกระแสแห่งยุคสมัยที่มุ่งสู่สันติภาพ การพัฒนาและความร่วมมือ ขอแต่เรายืนหยัดในแนวทางที่ถูกต้องต่อไป ยึดมั่นในหลักการแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน ปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นเพื่อนบ้านที่ดี เอื้อประโยชน์แก่กัน และมุ่งชัยชนะร่วมกัน อีกทั้งทุ่มเทกำลังในการพิทักษ์สันติภาพ และความสงบสุข กระชับความร่วมมือในภูมิภาค กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น และจะนำประโยชน์มากขึ้นให้แก่ประชาชนประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ถาม เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานมหกรรมจีน-อาเซียนครั้งที่ 10 ท่านเสนอให้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคตเป็น "สิบปีแห่งยุคเพชร" ท่านเห็นว่า จุดเด่นและแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนในอนาคตคืออะไร
ตอบ เมื่อทบทวนอดีต เพื่อมุ่งหน้าไปสู่อนาคตจะพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียนกำลังสร้างจุดเริ่มต้นใหม่แห่งประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวปราศรัยที่รัฐสภาอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เราจะสืบต่ออดีตและบุกเบิกอนาคต ร่วมมือกันสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด บนพื้นฐาน "สิบปีแห่งยุคทอง" ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนา "สิบปีแห่งยุคเพชร" สร้างความผาสุขมากยิ่งขึ้นแก่ประชาชนในภูมิภาค
ก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายกรอบความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของ"สิบปียุคเพชร ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ประการแรก ต้องยึดหลักว่าเราเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สนิทแน่นแฟ้น จีนยินดีหารือกับประเทศอาเซียนเพื่อลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศฉันท์มิตร สร้างรากฐานการเมืองบนความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ประการที่สอง กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง สร้างกลไกการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมระหว่างจีนกับอาเซียนให้สมบูรณ์ ความร่วมมือด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ประการที่สาม พัฒนาเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้ดียิ่งขึ้น ใช้มาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการค้าสินค้า การค้าบริการ และความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อให้การค้าการลงทุนมีความเสรีและมีความสะดวกมากขึ้น จนบรรลุเป้าหมายยอดการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายที่ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020
ประการที่สี่ ผลักดันความคิดสร้างสรรค์ กระชับการแลกเปลี่ยนกันทั้งซอฟแวร์และฮาร์แวร์ จีนเสนอจัดตั้งธนาคารเพื่อลงทุนเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแห่งเอเชีย เพื่อสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนกู้ในโครงการที่เกี่ยวข้อง
ประการที่ห้า ร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง ขยายขนาดและขอบเขตการแลกเปลี่ยนเงินตรา ทดลองใช้ระบบการชำระบัญชีด้วยเงินตราของประเทศตนในการค้าระหว่างประเทศ เน้นความร่วมมือแบบทวิภาคีตามข้อเสนอเชียงใหม่ เป็นต้น
ประการที่หก พัฒนาความร่วมมือหุ้นส่วนทางทะเล ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทางทะเล การกู้ภัยทางทะเล เป็นต้น ร่วมกันสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งยุคศตวรรษที่ 21
ประการที่เจ็ด กระชับการแลกเปลี่ยนด้านบุคลากรและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนด "โครงการความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอาเซียน" ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษา เยาวชน กลุ่มนักคิด ผู้เชี่ยวชาญ และสื่อมวลชน
อีกไม่กี่วัน ข้าพเจ้าจะเดินทางไปประเทศบรูไนเพื่อเข้าร่วมการประชุมต่างๆของผู้นำเอเชียตะวันออก นับเป็นครั้งแรกที่เดินทางไปเยือนประเทศอาเซียนหลังจากดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจีน ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ผู้นำประเทศต่างๆ สนใจร่วมกัน โดยเฉพาะ 7 ประการดังกล่าวข้างต้น พร้อมจะรับฟังข้อคิดเห็นที่เสนอมาอย่างจริงใจ เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน
ถาม เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง และนับวันจะแข็งแกร่งมากขึ้นจนอาจทำให้ประเทศรอบข้างเกิดความกังวลเรื่องบทบาทและอิทธิพลของจีนที่จะมีต่อประเทศดังกล่าว เนื้อหาสาระสำคัญของนโยบายทางการทูตระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาลจีนชุดใหม่คืออะไร และมีความเห็นอย่างไรต่อการกระชับความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ตอบ หากทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอดีต จะพบว่า เคยมีหลายประเทศวางตัวเป็นใหญ่ เราจึงเข้าใจความกังวลของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่ามองจากมุมไหน จีนก็เป็นประเทศมีบทบาทในเอเชียอย่างแน่นอน
แต่ปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่มีความแตกต่างกัน โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แนวโน้มหลักของโลกคือการพัฒนาอย่างสันติ จีนเป็นประเทศที่เติบโตและเดินบนเส้นทางสร้างความเจริญรุ่งเรืองด้วยสันติวิธี เราไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแนวทางดังกล่าว ถ้าพิจารณาจากค่านิยมทางวัฒนธรรม มีสำนวนว่า "สิ่งที่ตนเองไม่ชอบ อย่าเอาไปให้คนอื่น" จีนก็เช่นเดียวกับประเทศเอเชียหลายชาติที่เคยถูกมหาอำนาจประเทศตะวันตกรุกรานและตกเป็นอาณานิคม หลังจากสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นต้นมา จีนยืนหยัดนโยบายคัดค้านลัทธิมหาอำนาจ ดังนั้นจีนก็จะไม่เดินในเส้นทางที่เคยปฏิเสธมาแล้วแน่นอน หลายพันปีที่ผ่านมา จีนเชื่อมั่นในแนวคิด การเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือสันติภาพเป็นสิ่งล้ำค่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง รากฐานทางประวัติศาสตร์ของนโยบายทางการทูตของจีนคือ "เป็นมิตรแท้กับประเทศเพื่อนบ้าน" จีนจะไม่เดินบนเส้นทางที่เป็น "ประเทศเข้มแข็งแล้วตนเป็นมหาอำนาจ"
ในฐานะเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวเอเชีย ชะตากรรมของจีนเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆในเอเชียด้วยเช่นกัน การพัฒนาของจีนต้องการบรรยากาศที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ เราจะมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือรอบด้าน และมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านเช่นเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา กำกับดูแลและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งและความเห็นที่ต่างกันอย่างรอบคอบ อาเซียนมีความสำคัญด้านการทูตของจีน ดังนั้นจีนสนับสนุนการพัฒนาของอาเซียนรวมทั้งการแสดงบทบาทนำในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เพราะจะนำผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่ภูมิภาค ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จีนยืนยันการพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียตะวันออก มุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
ปัจจุบัน ยิ่งต้องการความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการเงินโลก รักษาแนวโน้มการพัฒนาของภูมิภาค จีนเสนอให้ยืนหยัดเจตนาความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกมาโดยตลอด เห็นด้วยที่จะให้อาเซียนเป็นแกนนำ ประสานงานให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พัฒนารูปแบบความร่วมมือที่มีเอกลักษณ์ของเอเชียตะวันออก กรอบและกลไกความร่วมมือหลายประการที่มีอยู่ในเอเชียตะวันออก สอดคล้องกับความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ที่มีความหลากหลาย จีนยินดีสนับสนุนและเข้าร่วมกลไกต่างๆ เพื่อสร้างการยอมรับและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ถาม- ท่านเห็นว่า ประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนอย่างไร
ตอบ- สำหรับประเด็นนี้ จีนและชาติอาเซียนได้พูดคุยกันมามากแล้ว และมีความเห็นเป็นทิศทางเดียวกัน ถ้าเพียงแต่เรายืนหยัดในแนวทางที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันและยึดมั่นในหลักการที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน เราก็จะสามารถรักษาสันติภาพ และเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ได้
ปัญหาสำคัญที่สุดในประเด็นทะเลจีนใต้คือ มีข้อขัดแย้งในกรรมสิทธิ์ครอบครองเกาะ หินโสโครก และน่านน้ำในทะเลจีนใต้บางส่วน นี่เป็นปัญหายุ่งยากที่ตกทอดมาจากประวัติศาสตร์ ทำให้จีนและชาติอาเซียนบางประเทศมีข้อขัดแย้งกัน ประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกมีความสลับซับซ้อนมาก โดยเฉพาะหลังสงครามเย็น มีปัญหาข้อขัดแย้งทางดินแดนที่รอการแก้ไขหลายประการ รัฐบาลจีนมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ในการเดินบนแนวทางพัฒนาอย่างสันติ รักษาอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนอย่างไม่หวั่นไหว ด้วยเหตุนี้ จีนยืนหยัดในแนวทางการพูดคุยเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องและชาติอาเซียน เพื่อแสวงหาแนวทางรักษาความมั่นคงของภูมิภาคให้ได้ผล เมื่อปี 2002 จีนและชาติอาเซียนลงนามในปฏิญญาว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปฏิญญาฉบับนี้ได้กำหนดหลักการสำคัญต่างๆ เช่น แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ทุกฝ่ายรับปากว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ยังไม่สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งได้ จะใช้ความยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้ปฏิบัติการที่อาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยาก ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และขยายวงกว้างออกไป นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยจะดำเนินความร่วมมืออย่างจริงจัง หลักการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสติปัญญาของชาติเอเชียในการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่ซับซ้อน และสะท้อนให้เห็นถึงประโยชน์ร่วมกันมากที่สุดของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย จึงนับว่าเป็นหลักการที่ได้มาไม่ใช่ง่ายๆ เป็นการสร้างความพร้อมให้แก่ภูมิภาคนี้ เพื่อกระชับความร่วมมือ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ปฏิญญาฉบับนี้จึงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง จีนจะยืนหยัดในแนวทางการพูดคุยเจรจาและความร่วมมือกับชาติอาเซียนต่อไป เพื่อพิทักษ์สันติภาพ และความมั่นคงในทะเลจีนใต้
จีนเชื่อมั่นในแนวทางรักษาสันติภาพ และความมั่นคงของภูมิเอเชียตะวันออกอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่มาโดยตลอด ไม่ว่ามองในแง่ความต้องการของจีนในการพัฒนาประเทศ หรือในแง่ประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก จีนมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ก็จะไม่มีการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง ทะเลจีนใต้เป็นช่องทางการเดินเรือระหว่างประเทศที่สำคัญ จีนในฐานะประเทศที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศขนาดใหญ่ ให้ความสำคัญและสนใจในความสะดวก และความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศอย่างมาก และมีความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ที่พึงมีของตน ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จีนให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้อย่างมาก และใส่ใจการสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือดังกล่าวนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม น่านน้ำที่มีข้อขัดแย้งทางดินแดนในทะเลจีนใต้ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้ จีนจะส่งเสริมและเข้าร่วมความร่วมมือทางทะเลซึ่งรวมทั้งความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางทะเลต่อไปเพื่อรักษาสันติภาพ และความสงบสุขในทะเลจีนใต้ด้วย
ถาม- ทุกวันนี้ ประเทศต่างๆ ติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนอย่างใกล้ชิด ท่านคิดว่าเศรษฐกิจจีน มีอิทธิพลอย่างไรต่อประเทศอาเซียน และประเทศเอเชียตะวันออก
ตอบ- ทุกวันนี้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างยากลำบาก เศรษฐกิจเอเชียก็มีความไม่แน่นอน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ทั้งในและระหว่างประเทศที่ซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันที่อาจทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง รัฐบาลจีนใช้ความสุขุมรอบคอบเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ในด้านหนึ่งยืนหยัดการไม่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณ ไม่ใช้นโยบายการผ่อนคลายหรือตึงตัวทางด้านการเงิน และในอีกด้านหนึ่ง ใช้นโยบายครบวงจรผลักดันการปฏิรูป เพื่อให้ตลาดมีความคึกคัก ปรับปรุงโครงสร้าง และใช้โอกาสนี้ยกระดับโครงสร้าง ซึ่งนโยบายเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายการรักษาความมั่นคงของการเติบโต ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความมั่นคง ในครึ่งแรกของปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนเติบโต 7.6% อัตราการมีงานทำอยู่ในระดับที่ดี และสามารถควบคุมราคาสินค้าได้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา สถิติเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนฟื้นตัวขึ้นและคึกคักขึ้น ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่ในทิศทางเชิงบวก
การพัฒนาของจีนเกี่ยวข้องกับโลกอย่างใกล้ชิด ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้รับประโยชน์ไม่น้อยจากการเปิดกว้างสู่ภายนอก การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีนก็ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศเอเชียตะวันออกและโลกด้วย นับแต่นี้ไป คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะพัฒนาในระยะยาวอย่างต่อเนื่องด้วยดี พร้อมๆไปกับการผลักดันการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม สารสนเทศ การพัฒนาเมืองแบบใหม่ และความทันสมัยทางการเกษตร เพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดให้คึกคักมากขึ้น คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้า ยอดการนำเข้าของจีนจะบรรลุ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ การลงทุนในต่างประเทศจะเกิน 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประชากรที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากกว่า 400 ล้านคน จีนยินดีที่จะใช้โอกาสการค้าครั้งใหญ่นี้ร่วมกับประเทศอาเซียน และเอเชียตะวันออก สร้างคุณประโยชน์เพื่อการพัฒนาของประเทศอาเซียน เอเชียตะวันออก ตลอดจนทั่วโลกมากขึ้น และหวังว่าประเทศต่างๆ จะร่วมกันสร้างบรรยากาศความร่วมมือให้ดีขึ้นเช่นกัน