หลายวันมานี้ ข่าวเกี่ยวกับสหรัฐฯ ดักฟังโทรศัพท์ของประเทศภาคีสหภาพยุโรปเป็นที่สนใจของประชาคมโลก เพราะว่าทั้งประชาชนและบุคคลสำคัญทางการเมืองของเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปนล้วนถูกสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ NSA ดักฟัง นักวิเคราะห์เห็นว่า แม้ว่าบางประเทศมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรง และที่สำคัญก็เพื่อรักษาภาพพจน์ของตน เหตุการณ์ดักฟังครั้งนี้ จะสร้างความยากลำบากต่อการต่างประเทศต่อสหรัฐฯ และยุโรปเป็นระยะสั้น แต่จะไม่ทำลายความร่วมมือด้านการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่าย
เมื่อโครงการสอดแนม "ปริซึม" ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยุโรปก็ประท้วงต่อสหรัฐฯว่า การกระทำเช่นนี้ละเมิดสิทธิของประชาชนยุโรป แต่สหรัฐฯ ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนอย่างเปิดเผย
ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมเป็นต้นมา สื่อมวลชนเยอรมนีเปิดเผยว่า NSA ดักฟังโทรศัพท์ของฝรั่งเศส อิตาลีและสเปนมากถึง 10 ล้านครั้ง เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก็มีข่าวว่าถูกดักฟังด้วย ทำให้ประเทศยุโรปที่ถูกสหรัฐฯ ดักฟังมีปฏิกิริยารุนแรงยิ่งขึ้น นายกฯ เยอรมนีระบุขณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสหภาพยุโรปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การดักฟังของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ สหรัฐฯ กับยุโรปต้องสร้างความเชื่อถือไว้วางไจกันใหม่
เจ้าหน้าที่ระดับสูงหน่วยงานข่าวกรองของเยอรมนีจะเยือนกรุงวอชิงตันในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือเรื่องการดักฟัง เยอรมนีและฝรั่งเศสหวังว่าจะจัดการพูดคุยเจรจากับสหรัฐฯ แบบทวิภาคี และบรรลุซึ่งความเห็นพ้องต้องกันในปัญหาข่าวกรองก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งจุดยืนดังกล่าวได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปอื่นๆ แล้ว
นักวิเคราะห์เห็นว่า ความจริง หน่วยงานข่าวกรองของยุโรปก็สะสมข่าวกรองประเภทต่างๆ ด้วยเช่นกัน แต่สู้สหรัฐฯ ไม่ได้ ดังนั้น เรื่องที่ทำให้ยุโรปสะเทือนนั้น ไม่ใช่การดักฟัง กลับเป็นขอบเขต และระดับของเป้าหมายการดักฟังนั่นเอง ประเทศยุโรปหวังว่า จะบรรลุซึ่งความเห็นเป็นเอกฉันท์กับสหรัฐฯ เพื่อจำกัดการสะสมข่าวกรองของสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติในยุโรป
In/Lr