เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:จีนย่ำกับที่แยกขยะ 20 ปีไม่คืบหน้า
  2014-03-20 16:53:54  cri

ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุค 90 ของศตวรรษก่อน หลายเมืองในจีนต่างเริ่มรณรงค์การคัดแยกประเภทขยะมูลฝอยแล้ว โดยปี 1993 ปักกิ่งได้นำร่องออกกฎระเบียบรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมของเมือง เริ่มทำการรวบรวมขยะที่คัดแยกประเภทเป็นที่แรก ต่อมาปี 2000 ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เซินเจิ้น หังโจว และอื่นๆ รวม 8 เมือง ได้ถูกกำหนดให้เป็นเมืองทดลองการคัดแยกขยะกลุ่มแรกของจีน แต่ ณ วันนี้ 20 ปีให้หลังผ่านไปแล้ว งานคัดแยกขยะในปักกิ่งกลับดูเหมือนไม่มีผลคืบหน้าเท่าที่ควร

ไม่ว่าจะเป็นในย่านชุมชนที่พักอาศัย หรือในย่านธุรกิจที่เป็นศูนย์รวมความคึกคักทันสมัยที่สุดของปักกิ่ง หากลองเปิดถังคัดแยกขยะดูจะพบว่า กล่องกระดาษ ขวดน้ำ เศษอาหาร และของเหลือใช้ต่างๆ ยังคงถูกทิ้งรวมในถังเดียวกัน นอกจากพวกขวดน้ำที่จะมีคนคอยมาเลือกเก็บเอาไปขายต่อแล้ว ที่เหลือยากจะดูออกว่ามีวัสดุเหลือใช้อะไรที่สามารถนำไปรีไซเคิล เพื่อแปรสภาพให้กลับมาใช้อีกได้

แม้ว่าภาครัฐจะทุ่มงบประมาณมากมาย ในการชี้นำให้ประชาชนทำการแยกขยะอย่างง่ายๆ ในขั้นต้นก่อน แต่กลับยังคงเหมือนย่ำอยู่กับที่คงไว้ในสภาพทดลองระยะยาวต่อไป

ย่านชุมชนแห่งหนึ่งในเขตหยางผู่ นครเซี่ยงไฮ้ หนึ่งในเขตชุมชนทดลองคัดแยกขยะ ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่า แม้ว่าจะมีอาสาสมัครคอยให้คำชี้แนะ แต่สัดส่วนของชาวเมืองที่มีจิตสำนึกในการคัดแยกขยะเปียกขยะแห้งจากบ้านเรือนมีเพียงร้อยละ 30-40 เท่านั้น ดังนั้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งจึงมาจากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร

และจากการสุ่มสำรวจประชาชนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม "อี๋จีว์กว่างโจว" เมืองกว่างโจวพบว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่รู้ว่ามีการคัดแยกขยะ แต่ที่ไม่ทำเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และเพราะแยกประเภทไม่ถูก โดยร้อยละ 87 รู้ว่ามีการจัดคัดแยกขยะ แต่มีเพียงร้อยละ 20 กว่าเท่านั้นที่รู้ว่าแยกเป็น 4 ประเภท และมีเพียงร้อยละ 7 ที่ตอบได้ว่าแยกอย่างไร

สำหรับปริมาณขยะมากมายที่นำไปสู่ปัญหาขยะล้นเมืองนั้น ส่วนหนึ่งมาจากหีบห่อสินค้าที่มากเกินความจำเป็น อาทิ ชากล่องหนึ่งน้ำหนักใบชาจริงแค่ 200 กรัม แต่เมื่อรวมกล่องไม้บรรจุภัณฑ์หนักเพิ่มไปถึง 3,000 กรัม แล้วไหนจะมีกล่องเหล็ก กระดาษห่อ แผ่นพลาสติกกันกระแทกหุ้มอีกมากมายก่ายกอง ซึ่งความสวยงามที่ฟุ่มเฟือยเหล่านี้ล้วนไม่เป็นผลดีต่อการเก็บเพื่อนำไปแปรสภาพกลับมาใช้

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า 1 ใน 3 ของขยะจากชีวิตประจำของชาวเมือง เป็นบรรจุภัณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้ ซึ่งจีนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทำหีบห่อสินค้าที่มากเกินความจำเป็นที่สุดของโลก ความสิ้นเปลืองที่ต้องทิ้งไปนี้เป็นความสูญเสียในแต่ละปีที่มีมูลค่าถึง 400,000 ล้านหยวน ซึ่งแต่ละปีภาครัฐต้องทุ่มงบอุดภาระจัดการกับขยะเหล่านี้จำนวนมหาศาล หากลดหีบห่อที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้ก็จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ปีละนับร้อยล้านหยวนเลยทีเดียว

งานแยกขยะจะทำได้ผลดีมากน้อยแค่ไหนส่วนหนึ่งอยู่ที่การบริหารงานจัดการขยะว่ามีความละเอียดมากน้อยแค่ไหน เรียกว่า ภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนต้องร่วมมือกัน

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040