มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย:มวยไทย มิใช่การต่อสู้บนเวทีเท่านั้น แต่เป็นศิลปะและวัฒนธรรมที่ต้องเผยแพร่
  2014-05-08 16:24:55  cri

ในโลกนี้ศิลปะการป้องกันตัวมีหลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีพื้นฐานจากการใช้ อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเป็นอาวุธ ในทางเอเชียของเรา ที่นิยมก็หนีไม่พ้น เทควันโดของเกาหลีใต้ วูซูหรือกังฟูของสาธารณรัฐประชาชนจีน และที่กำลังมาแรงก็คือมวยไทย ซึ่งแต่ก่อนก็ได้ถูกดัดแปลงไปในหลากหลายชื่อ ทั้ง คิก บ๊อกซิ่ง และอื่นๆอีกมาก แต่ในปัจจุบัน ด้วยความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ทำให้ภาครัฐมุ่งที่จะสนับสนุนและให้มีการเผยแพร่ มวยไทย ไปในทุกภูมิภาคทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงวัฒนธรรม หรือแม้แต่กระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการเผยแพร่อาหารไทย

ปักกิ่ง มหานครที่เป็นเมืองหลวง ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีประชากรมากกว่า 15 ล้านคน และมีประชากรในวัยทำงานเกือบครึ่ง เป็นเมืองที่กำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศในการที่จะเข้ามาเผยแพร่ ศิลปะการป้องกันตัว และมวยไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนว่า หากการเผยแพร่ เป็นเรื่องของการมาจัดแข่งขันเพียงอย่างเดียว ก็อาจจะได้รับความนิยมจากคนบางกลุ่มเท่านั้น เพราะการต่อสู้ด้วย ศิลปมวยไทย หมายถึงต้องมีการฝึกฝนที่ดีและต่อเนื่อง แต่การเผยแพร่ว่า มวยไทย ยังมีความหมายมากไปกว่านั้น ยังเป็นทั้งศิลปะการป้องกันตัว เป็นการออกกำลังกาย ที่ขยับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย จะทำให้ได้รับความสนใจมากขึ้น และมีกลุ่มเป้าหมายในทุกเพศและทุกวัย

กระทรวงการต่างประเทศ ของรัฐบาลไทย จึงได้จัดโครงการ เผยแพร่มวยไทยในสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น และไม่เฉพาะที่กรุงปักกิ่งเท่านั้น ยังขยายไปในเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น กวางโจว เซี่ยงไฮ้ หรือ คุนหมิง เพื่อเป็นการสร้างทัศนคติว่า มวยไทย มิใช่หมายถึง การชกบนเวทีเท่านั้น แต่ยังเป็นศิลปะการป้องกันตัว การออกกำลังกาย และมีศาสตร์แขนงต่างๆ ซ่อนอยู่อีกมากมาย และในการเผยแพร่ก็ได้รับความสนใจจากชาวจีนเป็นจำนวนมากในทุกเมือง เพราะถ้าจะอนุมาน คนจีนมีพื้นฐานในเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นวูซู กังฟู หรือ รำมวยไท้เก็ก เพียงแต่ความแตกต่างในเรื่องของ เทคนิค และกลวิธี ในการต่อสู้เท่านั้น จึงทำให้เข้าถึงความต้องการได้ง่าย

หากมองกันให้ไกลไปที่ในอนาคตข้างหน้า ขณะนี้ มวยไทย โดยเฉพาะมวยไทยสมัครเล่น ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในชนิดกีฬาของ สปอร์ต แอคคอร์ด และบรรจุไว้ในการแข่งขัน กู๊ดวิลล์เกมส์ รวมถึงมีการแข่งขันระดับชิงแชมป์โลก ที่มีสมาชิกมากกว่า ๑๐๐ ประเทศ ส่วนมวยไทยอาชีพ ก็มีการฝึกสอนในทุกภูมิภาคทั่วโลก และในสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีโรงยิมหลายแห่งที่เปิดสอนมวยไทยอย่างจริงจัง และมีอดีตนักมวยไทยเงินแสนอย่าง ธงชัย ต ศิลาชัย มาเป็นผู้ฝึกสอน แล้วการที่ ภาครัฐให้ความสนใจ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่เช่นนี้ มองเห็นได้ชัดว่า มวยไทย มิใช่การต่อสู้บนเวทีเท่านั้น แต่เป็นศิลปะและวัฒนธรรม ที่ต้องเผยแพร่ แต่ที่แน่ๆ เรื่องของความต่อเนื่อง และความซื่อสัตย์ สุจริตในจรรยาบรรณและวิชาชีพ เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม เพราะส่วนใหญ่แล้วงานแบบนี้ หลายครั้งมักเป็น ไฟไหม้ฟาง

ในท้ายที่สุดคงต้องบอกว่า ผู้ที่มีคุณูปการ อย่างใหญ่หลวง ในการที่ทำให้ศิลปการป้องกันตัวของไทย ได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างชวาง โดยเฉพาะการปรับรูปแบบของมวยไทย ให้สามารถประยุกต์ใช้กับการออกกำลังกายอย่างลงตัว สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ก็คือ อาจารย์ วิชิต ชี้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญ ของกรมพลศึกษา ครูผู้มีแต่ให้ ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการนำแนวคิดของครูไปประยุกต์ในหลากหลายรูปแบบ และส่งผลให้ มวยไทย ในสายตาของชาวต่างชาติ มิใช่การต่อสู้เพื่อเอาชนะเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของศิลปการป้องกันตัว และที่สำคัญที่จะทำให้ มวยไทย ได้รับการเผยแพร่ กว้างชวางยิ่งขึ้นก็คือ มวยไทย เป็นอีกหนึ่งรูปแบบของการออกกำลังกาย

สมภพ จันทร์ฟัก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040