อลังการ งานสร้าง ฝีมือของมนุษย์ล้วนๆ กับพระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน
  2014-05-27 20:42:43  cri

มองเมืองจีนในสายตานักข่าวกีฬาไทย

หลังจากที่ทำตัวเป็นพระยาเลียบค่าย พาเพื่อนพ้องน้องพี่และผู้ที่สนใจติดตาม พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน มาแล้ว หนึ่งตอน วันนี้ ผู้เขียนจะขอพาท่านเข้าไปชมความงามด้านใน แต่บอกก่อนนะครับ สำหรับพระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวนแห่งนี้ ได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นมรดกโลก จากองค์การ ยูเนสโก มาตั้งแต่ ปี พศ ๒๕๔๑ ในคราวที่มีการประชุมที่ เมือง เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พื้นที่โดยรอบ เมื่อวัดขนาดแล้วก็ประมาณ ๓ ตารางกิโลเมตร เรียกว่าเดินกันทั้งวันแหละครับ ภูมิประเทศก็เป็นทั้งภูเขา เนินเขา ลานผาหิน และที่สำคัญมีทะเลสาบขนาดใหญ่ และต้องทำความเข้าใจกันตรงนี้เลยว่า ทั้งหมดเป็นฝีมือของมนุษย์นะครับ แรงงานคนล้วนๆ ทั้งการขุดทะเลสาบ ที่มีเนื้อที่ประมาณ ๒ ใน ๓ ของเขต พระราชวัง และนำดินที่ได้จากการขุดทะเลสาบไปสร้าง ภูเขา เหล่าเนิน สวนหย่อมต่างๆ

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยของราชวงศ์ จิน เมื่อประมาณปี คศ ๑๑๑๕ เมื่อมีการย้าย เมืองหลวงของจีนจากแถว เหย หลง เจีย ซึ่งเป็นเมืองในแถบ มองโกเลียใน ทางเหนือของ กรุงปักกิ่ง ในปัจจุบัน มาอยู่ที่ กรุงปักกิ่ง โดยในระยะแรก ก็เพียงแค่ ต้องการที่จะสร้างเป็นพระราชอุทยาน สำหรับไว้พักผ่อนเท่านั้น แต่ก็ได้รับการบูรณะ ต่อเติม ปรับปรุง จาก ฮ่องเต้ องค์ต่อๆมาโดยตลอด และมาถึงสมัยที่ ราชวงศ์ ชิง มีอำนาจปกครอง กรุงปักกิ่ง ราชวงศ์นี้ คนไทยเรารู้จักในนามของ ราชวงศ์ แมนจู นั่นแหละครับ ในยุคสมัย ของฮ่องเต้ เฉียนหลง ซึ่งถือว่า เป็นรัชสมัย ที่รุ่งเรืองที่สุดของ ราชวงศ์ชิง ก็ได้มีการ ปรับปรุงอย่างขนานใหญ่ จากเดิมที่เป็นเพียงแค่ พระราชอุทยาน กลายมาเป็นพระราชวังฤดูร้อน และในช่วงเวลานี้เอง ที่มี เรื่องเล่า ชิงรัก หักสวาท ระหว่าง อ๋องต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งนำไปสร้างทั้งที่เป็น ภาพยนตร์ และ ละครเป็นตอนๆ ที่คนไทยติดกันงอมแงม ก่อนที่จะมาติดตาม ซีรีส เกาหลีกันแบบตอนนี้ องค์ชาย ๓ องค์ชาย ๔ องค์ชาย ๑๓ ล้วนแล้วแต่มีประวัติที่เกี่ยวข้องกับ พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน ทั้งสิ้น

และอย่างที่บอกครับ เมื่อมีการปรับปรุงเป็นพระราชวังเต็มรูปแบบก็ต้องมีการสร้างวัดขึ้น วัดนี้ก็สร้างบนเนินที่มีการนำดิน ที่ขุดได้ เพื่อทำเป็นทะเลสาบนั่นแหละครับไปสร้าง เราจะเห็นชัดเจนถึง อารยธรรมและความนับถือในเรื่องของพระพุทธศาสนาที่มาจาก ลัทธิมหายาน ซึ่งรับมาจากทางตะวันตกของจีน ผ่านเข้ามาทางที่ราบสูงธิเบต และเคยเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วในคราวเดินทางไปวัด ปี้ หยุน ในเขตเทือกเขา เซียงซาน เดิม แต่ถ้าจะติดตามเรื่องยาวๆ เกี่ยวกับ การเข้ามาชองพระพุทธศาสนา ในประเทศ นี่ ต้องรอดูนะครับ รายการ พื้นที่ชีวิต ซีซั่นใหม่ ทาง ไทยพีบีเอส รายการของน้องผม (ประชาสัมพันธ์)ให้เลยครับ พระราชวังฤดูร้อนแห่งนี้ เดิม ไม่ได้ชื่อว่า อี้ เหอ หยวน นะครับ ใช้ชื่อว่า อุทยาน ซิง อี้ หยวน และในราวประมาณปี คศ ๑๘๖๐ ซึ่งเป็นยุคที่มีการล่าอาณานิคม อุทยานแห่งนี้ หรือพระราชวังแห่งนี้ ก็ไม่พ้นเงื้อมมือ จักรวรรดินิยม นะครับ เคยถูก ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ทำลาย มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็เป็นบางส่วนเท่านั้นนะครับ เหมือนกับเป็นการขู่ว่า ถ้าไม่ยอมแล้ว คงจะลามไปถึง พระราชวังต้องห้าม ประมาณนั้น จึงเป็นที่มาของข้อตกลง หลายอย่าง ที่ทำให้ ประเทศจีนในขณะนั้นต้อง หวานอมขมกลืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเก็บภาษี ศุลกากร ภาษีการค้า หรือ แม้แต่ เรื่องของ การอนุญาตให้มีการนำเข้า ฝิ่น อ่านมาถึงตอนนี้ คิดถึง ประเทศไทยของเราไหมครับ ช่วงเวลานั้น ตรงกับสมัย รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ซึ่งไทยเราเองก็ต้องยอมเสียดินแดนในบางส่วน เพื่อรักษาเอกราชของประเทศเอาไว้ ประวัติศาสตร์ บอกอะไรเราเยอะนะครับ

นี่ยังไม่ถึงตอนสำคัญเลยครับ ตอนที่ พระนางซูสี ไทเฮา มาพำนัก ที่พระราชวังฤดูร้อน อี้ เหอ หยวน เรื่องราวของ ขันที และเหล่า กงกง เรื่องขององค์หญิง กำมะลอ และเรื่องราวที่ ปรากฏในยุคนั้นอีกตั้งหลายเรื่องไม่ว่า จะเป็น ฮ่องเต้ เจ้าสำราญ โดยเฉพาะความงาม ริมทะเลสาบ คุนหมิง ทะเลสาบ ที่ใช้แรงงานคนขุดขึ้นมา เมื่อกว่า ๘๐๐ ปีแล้ว คงต้องไว้ต่อในตอนหน้าแล้วล่ะครับ อย่าลืมติดตาม อย่างที่บอกแหละครับ มาคราวนี้ ไม่ใช่ ทัวร์ ชะโงก เลยมีเรื่องมาให้เขียนเยอะหน่อย

สมภพ จันทร์ฟัก

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040