บทสัมภาษณ์ รศ. ดร. ปณิธาน วัฒนายากร: "บทบาท และ การเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ของสถานีวิทยุ CRI ในประเทศไทย" (2)
  2014-06-03 16:28:53  cri

ผู้สื่อข่าว CRI: อาจารย์มองว่าแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรบ้าง

รศ. ดร. ปณิธาน: ก็คงจะซับซ้อนมากขึ้น และก็คงจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุผลหลายประการ เรื่องการเติบใหญ่ของจีนก็อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ไทยจีนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่จีนอาจจะไม่ได้ขยายบทบาทในระดับโลกมากนัก ตอนนี้จีนก็มีกิจกรรมหลากหลายมากเพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เรื่องของการแข่งขันอิทธิพลของมหาอำนาจในภูมิภาค ของสหรัฐอเมริกาที่จะกลับเข้ามาแข่งขันในภูมิภาคเอเชียกับจีน เรื่องของญี่ปุ่นที่ปรับบทบาททางการทหารทางความมั่นคงให้เข้มแข็งขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องด้วยว่าไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรของไทยและก็เป็นประเทศที่ใกล้ชิดมานาน ไทยเองก็เลยพยายามหาสมดุลระหว่างความเป็นมิตรกับอเมริกา กับญี่ปุ่น กับจีน ทางไทยเองก็ต้องมีความพยายามในการที่จะทำให้ทั้งสองประเทศมีการทำงานร่วมกันดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับจีนในทะเลจีนใต้ในปีที่ผ่านมา อันนี้ก็เป็นบทบาทของไทยในการพยายามที่จะสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศเหล่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องไม่ง่าย และประเทศเหล่านี้เป็นประเทศใหญ่มาก เป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ลำพังไทยประเทศเดียวก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นไทยก็เลยต้องอาศัยอาเซียน เป็นความร่วมมือ เป็นสะพานเชื่อมให้กับทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งญี่ปุ่น ทั้งจีน มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น

ทางด้านการค้าไม่น่ามีปัญหาอะไร สหรัฐอเมริกากับจีนก็พึ่งพากันในด้านการค้าซึ่งกันและกันค่อนข้างมาก แต่ทางด้านการเมือง เพราะระบบการเมืองต่างกัน และระบบการเมืองก็ยังคิดแบบแข่งขันอิทธิพลกันและกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องระบบการเมืองที่แตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกาเป็นประชาธิปไตย จีนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นก็เลยเกิดประเด็นขึ้นมาว่าประเทศเล็กๆ ประเทศในอาเซียนนี่จะนิยมทางการเมือง นิยมชมชอบระบบไหนมากกว่า แต่ก็ถือว่ายังไม่ได้เกิดปัญหาอะไรมากมายนัก

ขณะนี้มันได้เข้ามาถึงบริบทใหม่ในการแข่งขัน เมื่ออเมริกาประกาศว่าจะทยอยเอากำลังทหารกลับเข้ามาในภูมิภาค และการมาเยือนของประธานาธิบดีโอบามาในรอบไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมานั่นก็เห็นได้ชัดว่าได้สร้างความใกล้ชิดทางการทหารและความมั่นคงกับหลายประเทศในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ทั้งฟิลิปปินส์ ทั้งเวียดนาม เมื่อเร็วๆนี้ ก็มีการก่อตัวของกระบวนการต่อต้านนักธุรกิจในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศเวียดนามที่เพิ่งมีปัญหา มีการจลาจล มีการพยายามที่จะทำลาย ทำร้ายกิจการ เจ้าของที่เป็นคนจีนที่อยู่ในเวียดนาม เรื่องเหล่านี้มันก็จะไปพัวพันกัน ทำให้เกิดประเด็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอยู่พอสมควร จำเป็นที่รัฐบาลไทย รัฐบาลของประเทศอาเซียนจะต้องวางนโยบายให้ดี และก็มีกลไกในการแก้ปัญหา มีความเข้าใจในกันและกันมากขึ้น ผ่านทางการสื่อสารที่รวดเร็วขึ้น สื่อจะช่วยได้มากในเรื่องนี้ ถ้าหากว่าสื่อสามารถที่จะรายงานข้อเท็จจริงและก็ระมัดระวังไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป จะช่วยได้มาก สื่อหลักก็อาจจะถูกดึงไปรายงานต่อและเพิ่มเติมขยายในโซเชียลมีเดีย เลยทำให้ประเด็นมันซับซ้อนขึ้น ทั้งหมดเหล่านี้ก็ทำให้เกิดกระแสที่อาจจะต้องระมัดระวัง

ผู้สื่อข่าว CRI: อย่างที่ทราบกันว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของไทยกำลังระอุและรุนแรงอยู่ สถานการณ์ด้านการเมืองฯนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยจีนอย่างไรบ้าง

รศ. ดร. ปณิธาน: มีผลอยู่สองสามระดับ ระดับแรกก็คือความสัมพันธ์ที่ปรกติ ในแง่การลงทุน การค้าขาย การเดินทาง ในภาพรวมยังไม่ได้มีปัญหามาก ก็คือว่าความสัมพันธ์ยังดำเนินได้อยู่ แต่ว่าความสัมพันธ์ที่อาจต้องอาศัยการตัดสินใจของฝ่ายนโยบาย ฝ่ายบริหารมีผลกระทบแน่นอน เนื่องจากว่ายังไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจในทางการเมือง เพื่อที่จะวางนโยบายเรื่องการค้าการลงทุน แม้แต่นโยบายบางอย่าง เช่น ปัญหาในแนวทะเลจีนใต้ ก็ไม่ได้มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ฉะนั้นตรงนี้จะเป็นผลเสีย เป็นผลกระทบอยู่พอสมควร ทำให้จุดยืนของไทยอาจจะไม่ชัดเจน เพราะฉะนั้นประเทศที่ขอเป็นพันธมิตรกับไทย เช่น สหรัฐอเมริกาหรือจีนก็อาจจะมองว่าไทยไม่ชัดเจนในจุดยืน แต่อาจจะดีสำหรับเราในระยะนี้ คือทำให้เราไม่เข้าไปมีส่วนในการขัดแย้ง แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นเหมือนกันว่า ปัญหาหลายปัญหาในอาเซียนก็อาจจะไม่มีไทยเข้าไปช่วยผลักดัน โดยเฉพาะในจุดยืนของอาเซียน อันนี้ก็เป็นปัญหาแรก

ปัญหาข้อที่สองก็คือว่า มันเป็นปัญหาระดับทวิภาคี ก็คือระหว่างไทยกับจีน เมื่อพูดถึงการเมืองไทย บางทีคนไทยก็คาดหวังว่าประเทศนั้นๆจะเข้าใจการเมืองไทย อันนี้ก็ต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละประเทศก็อาจจะระมัดระวังไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใน แต่เนื่องจากว่าเค้ามีการค้าการลงทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เขาก็อาจจะต้องให้ความเห็นหรือว่าพยายามที่จะดันจุดยืนที่เหมาะสมกับผลประโยชน์ของเค้า ซึ่งคนไทยเองอาจจะชอบหรือไม่ชอบขึ้นอยู่กับจุดยืนของเขา บางประเทศก็อาจจะมีท่าทีที่สนับสนุนเช่นในเรื่องของการเลือกตั้ง บางประเทศก็อาจจะระมัดระวังไม่ไปออกความเห็นเพราะว่าเห็นว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทั้งหมดเหล่านี้จำเป็นต้องรายงานให้ดี ครบถ้วนและระมัดระวัง รัฐบาลจีนระมัดระวังเรื่องนี้มากมาตั้งแต่แรก และสื่อจีนเองก็ระมัดระวังตามไปด้วย ปัญหาก็จะน้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นสื่อตะวันตกนี่เค้ามีจุดยืนที่ชัดเจนในการผลักดันประชาธิปไตย ในการผลักดันในเรื่องของการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นก็จะเอนเอียงไปและทำให้คนไทยกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ

คือในภาพรวมของการเมืองคนก็อาจจะมองว่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยมากๆแบบตะวันตกก็จะทำให้ประเทศไทยใกล้ชิดกับอเมริกามากขึ้น หรือว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตก ก็อาจจะใกล้ชิดกับจีน สองจุดยืนนี้ก็เห็นได้ชัดว่ามีผลเหมือนกันกับการเมืองภายใน การต่อสู้กันภายในให้ระบบการเมืองเป็นแบบไหน มันจะไปสอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของประเทศนั้นอย่างไร มันก็มีผลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสถานการณ์แบบนี้ก็ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะไปตอบคำถามว่าควรต้องทำอย่างไรในการที่จะดูแลความสัมพันธ์ที่เหลือให้ดี

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040