แบงค์ออฟไชน่าสนับสนุนไทยใช้เงินหยวนทำธุรกรรม
  2014-07-31 15:18:51  cri

กรุงเทพฯ – แบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพฯ จัดงานสัมมนา "การใช้เงินหยวน โอกาสและความท้าทายในประเทศไทย" (RMB Internationalization - Opportunity & Challenge in Thailand) ขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารไทยซีซี ถนนสาทรใต้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมการใช้เงินสกุลหยวน (RMB) ในการทำธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการช่วยผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงอันเกิดมาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้เงินสกุลหยวนในการชำระเงิน

งานนี้ได้รับเกียรติจากดร.เฉา หยวนเจิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แบงค์ออฟไชน่า สำนักงานใหญ่, ศาสตราจารย์ ดร.ทาง จื้อหมิ่น คณบดีวิทยาลัยนานาชาติสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์และผู้เชี่ยวชาญจากแบงค์ออฟไชน่าอีกหลายท่านมาร่วมบรรยายในหัวข้อ เศรษฐกิจของไทยและจีนและข้อกำหนดในการใช้เงินหยวน, แนวโน้มการพัฒนาและการขยายตัวของเงินหยวนในระดับนานาชาติ, บทบาทของเงินหยวนในเวทีธุรกรรมการค้าและการลงทุนโลก และประสบการณ์ของแบงค์ออฟไชน่าในการให้บริการเงินหยวน

นายอู๋ จื้ออู่ อุปทูตประจำสถานทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจของจีนได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการส่งเสริมเงินหยวนสู่ตลาดสากล โดยจีนได้นำร่องในเรื่องนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญเนื่องจากเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของจีนและเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ทางจีนพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกเรื่องเคลียริ่งแบงค์ รวมถึงรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

นายจาง เหลย ผู้จัดการใหญ่ของแบงค์ออฟไชน่า สาขากรุงเทพฯ ให้ข้อมูลการใช้เงินหยวนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า 5 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2009- 2013) มีการใช้เงินหยวนทำ ธุรกรรมระหว่างประเทศทั้งสิ้นจำนวน 10 ล้านล้านหยวน โดยผ่านทางแบงค์ออฟไชน่า 4 ล้านล้านหยวน โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมามีการใช้เงินหยวนมากเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของ 4 ปีก่อนหน้า เป็นการยืนยันให้เห็นถึงการขับเคลื่อนการค้าการลงทุนผ่านเงินสกุลหยวนได้เป็นอย่างดี

ดร.เฉา หยวนเจิง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ แบงค์ออฟไชน่า สำนักงานใหญ่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการฮาร์ดแลนดิ้งของค่าเงินหยวนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะสาเหตุหลายประการ เช่น การบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น, การส่งออกเริ่มกระเตื้อง, สถาบันการเงินยังคงมีเสถียรภาพและมีความคล่องตัว, อัตราเงินเฟ้อที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ไม่เกิน 2.5%), ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองอันดับสองยังแข็งอยู่ ไม่น่ามีผลให้เกิด NPL รวมถึงธุรกิจด้านบริการที่กำลังมาแรงในประเทศจีน (มีความต้องการแรงงานมากกว่าอุตสาหกรรมการผลิต) นอกจากนี้การเปิดและดำเนินการในเขตเศรษฐกิจเซี่ยงไฮ้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมการใช้เงินหยวนในการทำธุรกิจ โดยได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายต่างๆจากทางรัฐบาลของจีน

ด้านดร.ทาง จื้อหมิ่น คณบดีวิทยาลัยนานาชาติสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงโอกาสในการใช้เงินหยวนสำหรับทำธุรกรรมในประเทศไทยว่า เมื่อปีที่แล้ว ไทยมีการใช้เงินหยวนทำธุรกรรมอยู่ที่ 400 กว่าล้านหยวน และเป็นสกุลเงินต่างประเทศที่ใช้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากดอลล่าร์สหรัฐและเยนของญี่ปุ่น ประเทศไทยควรมีการสนับสนุนเรื่องการตั้งเคลียริ่งแบงค์ โดยแนะนำให้ใช้รูปแบบคล้ายกับในประเทศมาเลเซีย คือ ใช้ธนาคารตัวแทนของจีน ไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย แค่ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก็พอ, ใช้สัญญาสวอปเงินซึ่งไทยมีโควต้าอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยนำมาใช้, สนับสนุนการซื้อขายเงินบาทและหยวนโดยตรงระหว่างธนาคาร กำหนดกลไกราคาร่วมกัน (ที่คุนหมิงเริ่มมีนำมาใช้แล้ว) และส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น

การใช้เงินหยวนจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการเพื่อความสะดวก เพิ่มศักยภาพในการทำการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศจีน, อำนาจในการต่อรอง และยังช่วยลดความเสี่ยงจากการผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลอื่น เช่น ดอลล่าร์สหรัฐ ในทางกลับกัน สำหรับผู้ประกอบการชาวจีนที่ไปลงทุนที่ต่างประเทศ การใช้เงินต่างประเทศมีการควบคุมแต่ถ้าหากใช้เงินหยวนจะสะดวกมากกว่าในการซื้อและการลงทุน

เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040